การเล็งเห็นคุณค่าของมรดกทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญา และความสามารถด้านงานหัตถศิลป์ที่หยั่งรากลึกในชุมชนทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย สถาบันส่งเสริมศิลปหัตถรรมไทย (องค์การมหาชน) หรือ sacit จึงริเริ่มสร้างการเรียนรู้หัตถศิลป์ผ่านวิถีชีวิตชุมชน โดยการพัฒนาแหล่งเรียนรู้เดิมที่มีครูศิลป์ของแผ่นดิน ครูช่างศิลปหัตถกรรม ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้รวมไปถึงการเชื่อมโยงพื้นที่ใกล้เคียงโดยรอมและพัฒนาเป็น “ชุมชนเรียนรู้หัตถกรรม” หรือ “sacit Craft Communities” ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 38 ชุมชนทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนให้เกิดกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่มีประโยชน์ต่อผู้เข้าร่วม สมาชิกในชุมชน รวมไปถึงผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ
ทั้งนี้ หัวใจหลักของ “ชุมชนเรียนรู้หัตถกรรม” คือการอนุรักษ์ทักษะภูมิปัญญาองค์ความรู้ด้านงานหัตถศิลป์ รวมไปจนถึงวิถีชีวิตและอัตลักษณ์ของชุมชนโดยรอบ เพื่อให้งานหัตถศิลป์เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่สร้างความเข้มแข็งให้กับท้องถิ่น และเป็นการสร้างการรับรู้ถึงคุณค่าที่จะสามารถต่อยอดไปสู่มูลค่าที่เพิ่มขึ้นให้กับงานหัตถศิลป์ ซึ่งจะก่อให้เกิดกระบวนการสืบทอดและการพัฒนาอย่างยั่งยืนในที่สุด