“บ้านกาด” เป็นหมู่บ้านเล็กๆ ที่มีชาวไทใหญ่อพยพเข้ามาอาศัยเป็นจำนวนมากและในจำนวนนั้นมีความรู้วิธีการทำเครื่องเงินด้วย หัตถกรรมเครื่องเงินบ้านกาดซึ่งมีเอกลักษณ์คือศิลปะการยัดลายที่ละเอียดอ่อน โดยการนำเส้นเงินขนาดเล็กเท่าเส้นไหมมาพันเกลียว ขด ดัด และซ้อนทับกันหลายชั้น กลายเป็นรูปทรงต่างๆ ก่อนจะมาเป็นเครื่องประดับเงินที่ทรงคุณค่า ซึ่งในการผลิตต้องอาศัยทักษะและความชำนาญชั้นสูง ปัจจุบันผู้ที่สนใจสามารถเข้ามาเรียนรู้ ทดลองเหยียบขาเต๊ะอุปกรณ์การหลอมเครื่องเงินโบราณและทำกิจกรรมยัดลายเครื่องเงินตามแบบฉบับบ้านกาดกับครูพงษ์มิต อุปนันท์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม พ.ศ.2559 ครูอัญชลี อุปนันท์ ครูช่างศิลปหัตถกรรม พ.ศ.2554 รวมทั้งบุตรชายคุณอังคาร อุปนันท์ ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม พ.ศ.2558 ของ ของศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ(องค์การมหาชนและ) หรือ SACICT ที่สืบทอดและต่อยอดงานจนเป็นที่รู้จักแพร่หลาย
เทคนิคการผลิตเครื่องเงินแบบยัดลาย (Filigree) มีประวัติย้อนหลังยาวนานถึงเมื่อ 2,500 ปี ก่อนประวัติศาสตร์ ที่คาดว่าชาวอียิปต์เป็นกลุ่มแรกที่จะริเริ่ม จากอียิปต์ความรู้นี้ถูกส่งต่อไปยังชาวโรมัน จนเมื่ออาณาจักรล่มสลาย เหล่าทาสที่เคยอาศัยอพยพไปตามที่ต่างๆ บางส่วนเดินทางมายังอินเดีย และจีน จากนั้นได้โยกย้ายมาในดินแดนล้านนาโบราณ เกิดเป็นการสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมมายังชุมชนบ้านกาดในที่สุด