ซิ่นไหม หรือ ผ้าซิ่นไหมมัดหมี่ผู้ไท หนึ่งในเครื่องย้องของเอ้ หรือจารีตธรรมเนียมการแต่งกายของสตรีชาวผู้ไท ซึ่งประกอบด้วยงานหัตถศิลป์สำคัญ 3 อย่างคือ “เสื้อดำ แพรเบี่ยง (ผ้าไหมแพรวา) และซึ่นไหม สำหรับสตรีชาวผู้ไทแล้วการจะเป็นสตรีที่สมบูรณ์แบบต้องสามารถรังสรรค์ผ้าทอซึ่งเป็นเครื่องแต่งกายที่สืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษได้ทั้ง 3 ชนิด เพื่อให้การแต่งการเป็นไปอย่างครบถ้วนและสวยงาม
กลุ่มชาติพันธุ์ “ผู้ไท” ที่มีภูมิลำเนาดังเดิมอยู่ในแคว้นสิบสองจุไท และต่อมาได้อพยพถิ่นฐานมาตั้งอยู่บริเวณฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงหรือตอนกลางของประเทศลาวในปัจจุบัน ทั้งนี้ชาวผู้ไทที่เคลื่อนย้ายมาตั้งถิ่นฐานในภาคอีสานของไทยส่วนใหญ่อพยพมาจากเมืองวัง หรือแขวงสะวันเขต สปป.ลาว ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และสืบทอดภูมิปัญญาการ “ต่ำหูก” หรือ การทอผ้ามาจนถึงปัจจุบัน
ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เมื่อครั้งตามเสด็จในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จเยี่ยมราษฎร ณ ที่ว่าการอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในปี พ.ศ. 2520 และได้ทอดพระเนตรเห็นชาวผู้ไทบ้านโพน แต่งตัวโดยใช้ผ้าแพรวาห่มแบบสไบเฉียง หรือเรียกว่า “ผ้าเบี่ยง” จึงสนพระราชหฤทัยและโปรดให้มีการสนับสนุนทอผ้าประเภทนี้ โดยทรงรับเอาผ้าแพรวาเป็นหนึ่งในกิจการของมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ คืนชีวิตและลมหายใจแก่ภูมิปัญญาอันล้ำค่า นำผืนผ้าที่งดงามนามแพรวา ให้เป็นตัวแทนแห่งความงามของผ้าไหมไทยแผ่กระจายชื่อเสียงไปทั่วโลก