ผ้าคลุมไหล่แพรวาล่วงลายผ้าแส่ว

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ผ้าคลุมไหล่แพรวาล่วงลายผ้าแส่ว สร้างสรรค์ขึ้นจากลวดลายของผ้าแส่ว ที่เป็นผ้าต้นแบบลวดลายที่บรรพบุรุษของชาวผู้ไทแต่ละบ้านทิ้งไว้เป็นมรดกให้ลูกหลานสืบทอดลายผ้านั้น ๆ เป็นการรวมลายต่างทั้งลายหลัก ลายคั่น ลายช่อปลายเชิง หลากหลายลวดลายเข้าไว้ด้วยกัน อาทิ ลายนาค ลายใบบุ่น ลายดอกส้มป่อย ลายงูลอย ลายขันหมากเบ็ง เป็นต้น เชิงผ้าจะมีลวดลายเชิงต้นสน และลายดอกไม้ต่างๆ เทคนิคการทอเป็นการทอแบบแพรวาล่วง คือ ผ้าแพรวาที่ทอโดยวิธีเก็บลายขิด ทำให้เกิดลวดลายบนผืนผ้าโดยสีหนึ่งเป็นสีพื้นสีน้ำตาล ส่วนอีกสีปรากฎเป็นลวดลายตลอดหน้าผ้า เส้นไหมขาวนวลย้อมด้วยสีเคมี

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องทอ
กลุ่มวัฒนธรรม :
ผู้ไท
ขนาด :
42x256 ซม.
แหล่งที่มา :
ชุมชนหัตถกรรมทอผ้าแพรวาบ้านโพน
วัสดุ :
เส้นไหมย้อมด้วยสีเคมี
อายุ/ปีที่ผลิต :
2564
รายละเอียดชิ้นงาน

การทอขิด ตามลักษณะของแพรวาล่วง

- การขิด คือวิธีเก็บลายขิดบนผ้าผืนเรียบ ใช้ไม้เก็บขิด คัดเก็บขิดยกลาย โดยต้องนับจำนวนเส้นไหม แล้วใช้ไม้ลายขิดสายเป็นลายเก็บไว้ ในการทอเก็บลายจะแบ่งเป็นช่วง แต่ละช่วงเก็บลายไม่เหมือนกัน ส่วนที่อยู่ตรงปลายต่อกับผ้าเรียบ เป็นการเก็บขิดดอกเล็ก ส่วนต่อไปเป็นการเก็บขิดดอกใหญ่ เรียกว่า “ดอกลายผ้า” ใช้ไม้ในการเก็บลายต่างกัน

กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :
การเตรียมเส้นไหม : การเตรียมเส้นไหม เส้นไหมที่จะนำมาทอผ้าแพรวานั้น จะต้องนำเส้นมาคัดเส้นไหมที่มีขนาดเส้นสม่ำเสมอเรียบสวยเพราะเวลาทอจะไม่กระตุก ตกแต่งปอยไหมให้เรียบร้อย คือ เส้นไหมจัดเรียงแบบสานกันเป็นตาข่ายจากนั้นนำเส้นไหมไปฟอกด่าง ทำความสะอาดให้ไหมมีความนิ่ม
การลอกกาวเส้นไหมทั้งเส้นพุ่งเส้นยืน : นำเส้นไหมที่ได้เตรียมไว้แล้วมาทำการต้มลอกกาว ให้ทำการกลับเส้นไหมในหม้อต้มอย่างสม่ำเสมอ เมื่อลอกกาวเสร็จเรียบร้อย นำไปล้างน้ำ แล้วบีบน้ำออกจากเส้นไหม นำเส้นไหมไปตากผึ่งแห้งที่ราวตาก ทั้งนี้ให้ทำการกระตุกเส้นไหมเพื่อให้มีการเรียงเส้นไหมในแต่ละไจ นำไปย้อมสี เพื่อนำไปทอผ้าต่อไป
การย้อมสีเส้นไหมสีเคมี : ต้มน้ำให้เดือด นำสีที่ต้องการย้อมมาใส่ โดยใช้สีประมาณ 21กรัมต่อไหม 5 ปอย โดยไหม 1 ปอยมีน้ำหนักประมาณ 300 กรัม ใส่น้ำพอท่วมเส้นไหม ต้มประมาณ30 นาที จากนั้นนำมาล้างน้ำ แล้วบีบน้ำออกจากเส้นไหม นำเส้นไหมไปตากโดยใช้ราวตากเพื่อผึ่งให้เส้นไหมแห้ง ระหว่างการผึ่งเส้นไหมต้องกระตุกเส้นไหมเพื่อให้มีการเรียงเส้นไหมในแต่ละปอยอย่างเรียบร้อย
การกรอเส้นพุ่งเข้าหลอด : การกรอเส้นพุ่งเข้าหลอด นำเส้นไหมที่ย้อมสีต่าง ๆ แล้วมาเข้ากง แล้วทำการกรอเส้นไหมเข้าหลอด เพื่อเตรียมเป็นเส้นพุ่งเพื่อใช้ในการเกาะลาย และใส่กระสวยในการทอขัด
การค้นเครือหูก :  คือการเตรียมเส้นยืน นำเส้นไหมยืนที่ทำการย้อมสีแล้ว มาทำการค้นเครือหูก หรือที่เรียกว่าการค้นเส้นยืน โดยใช้หลักเฝือเป็นอุปกรณ์ในการค้นเส้นยืน การเตรียมค้นเส้นยืนจะเริ่มต้นโดยการนำเส้นไหมไปสวมเข้าในกง เพื่อทำการกรอเส้นไหมเข้าอัก จากนั้นก็ทำการค้นเส้นยืน โดยมีหลักการนับ คือ รอบละ2 เส้น 2รอบเป็น 4 เส้น เรียกว่า 1 ความ 10 ความ เท่ากับ 1 หลบ การนับจำนวนความจะใช้ซี่ไม้มาคั่นเพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ ดังนั้น 1 หลบจะมีเส้นไหม 40 เส้น
    “หลบ คือหน้ากว้าง (การนับหลบต้องนับฝั่งเดียว คือ ได้ 4 เส้น ถ้านับ 2 ฝั่ง จะได้ 8เส้น) หน่วยความยาวใช้เป็นเมตร หากต้องการเพิ่มความยาวต้องเริ่มต้นเครือหูกใหม่อีกครั้งแล้วนับจำนวนหลบเท่าเดิม จากนั้นนำไหมที่ค้นใหม่มาผูกเข้ากับไหมเดิมความยาวของผ้าก็จะเพิ่มขึ้น”
การเตรียมฟืมทอผ้า : คือการค้นเส้นด้ายลักษณะเดียวกับการค้นเส้นยืน จากนั้นนำเส้นด้ายมาร้อยเข้ากับฟืม โดยการร้อยผ่านช่องฟันหวีแต่ละช่องทุกช่องๆละ 2 เส้น แล้วใช้ท่อนไม้ไผ่เล็กๆ สอดเข้าในห่วงเส้นด้ายที่ร้อยเข้าช่องฟันหวีเพื่อทำการขึงเส้นด้ายให้ตรึงและจัดเรียงเส้นด้ายให้เรียบร้อย ส่วนด้านหน้าของฟืมก็จะมีท่อนไม้ไผ่เช่นเดียวกับด้านหลัง จากนั้นให้ทำการเก็บตะกอฟืมแบบ 2 ตะกอ เราก็จะได้ชุดฟืมทอผ้าที่พร้อมสำหรับการทอผ้า
การเก็บเขาลาย / การเก็บตะกอลายขัด :  การทำลายบนผืนผ้าแพรวา ใช้ไม้เก็บขิดมีลักษณะแบนกว้างประมาณ 7-8 เซนติเมตร ยาว 1 เมตร ปลายแหลม ซึ่งการทำลายบนผืนผ้าแพรวาโบราณจะทำโดยใช้ไม้เก็บขิดลายเก็บลายก่อน แล้วใช้ไม้ยกลายหรือไม้เผ่าสอดเข้าจนหมดหน้าฟืม โดยให้ยกไม้ยกลายที่สอดเข้าไปให้อยู่ในแนวตั้ง จากนั้นใช้นิ้วก้อยในการล้วงเกาะเส้นไหมสีต่าง ๆ ตามลายที่กำหนด ไปจนสุดขอบผ้า แล้วจึงเหยียบไม้เหยียบตะกอฟืมเพื่อสอดกระสวย แล้วใช้ฟืมกระทบเส้นไหมเพื่อให้ผืนผ้าแน่น ไม้หนึ่งเกาะ 2 เที่ยว เพื่อให้ลายนูนเด่น ในการทอผ้าแพรวาจะต้องมีการเก็บลายไปตลอดการทอ การทอผ้าแพรวาลวดลายผ้าจะอยู่ด้านล่างของกี่ทอผ้า
การทอผ้าแพรวา : การทอแพรวาแบบผู้ไทแท้นั้น จะไม่ใช้อุปกรณ์อื่นช่วย ไม่ว่าจะเป็นเข็ม ไม้ หรือขนเม่น แต่จะใช้นิ้วก้อยจกเกาะเกี่ยว และสอดเส้นไหมสีซึ่งเป็นเส้นพุ่งพิเศษแล้วผูกเก็บปมเส้นด้ายด้านบน เพื่อให้เกิดลวดลาย ผ้าแพรวาจึงมีลักษณะลวดลายผสมกันระหว่างลายขิดและจกบนผืนผ้า โดยใช้การเกาะลายด้วยนิ้วก้อยตลอด จากริมผ้าข้างหนึ่งไปยังอีกข้างหนึ่งตลอดทั้งแถว จุดเด่นและความเป็นเอกลักษณ์ของผ้าแพรวาคือ ลวดลายสีสัน และความมีระเบียบ ความเรียบ ความเงางามของผืนผ้า ในผ้าแพรวาผืนหนึ่งจะมีอยู่ประมาณ 10 หรือ 12 ลาย ใช้เส้นไหมในการทอตั้งแต่ 2-9 สี สอดสลับในแต่ละลายแต่ละแถว

ข้อมูลแหล่งที่มา
แหล่งเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมที่เกี่ยวข้อง
ชุมชนหัตถกรรมทอผ้าแพรวาบ้านโพน
ดูรายละเอียด