ผ้านาหมื่นศรีลายหางกระรอก

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ผ้าลายหางกระรอกเป็นอีกหนึ่งในผ้าพื้นซึ่งเป็นผ้าเอกลักษณ์ของผ้าทอนาหมื่นศรี  เกิดจากการนำด้ายพุ่งไปประกบกับเส้นไหมสีขาวพันกันให้เป็นเกลียว เรียกว่า “คบ” โดยเส้นไหมหางกระรอกเกิดจากการตีเกลียวหรือควบเส้นของเส้นไหมสีน้ำเงินและสีเหลืองซึ่งย้อมด้วยสีเคมี โดยมีเส้นยืนเป็นเส้นใยสังเคราะห์ เป็นผ้าพื้นที่มีมิติและความงดงามเกิดจากความเลื่อมของสีผ้าเมื่อกระทบแสง

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องทอ
กลุ่มวัฒนธรรม :
ภาคใต้
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 102 ซ.ม. ยาว 184 ซ.ม.
วัสดุ :
เส้นไหมสีน้ำเงิน เส้นไหมสีเหลือง เส้นใยสังเคราะห์ ด้าย
อายุ/ปีที่ผลิต :
2554
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ :  การนำลายผ้าโบราณมาดัดแปลงหรือประยุกต์จากการทอด้วยกี่โบราณ เป็นการทอด้วยกี่กระตุก ทอสลับกระสวย 2 กระสวย

กรรมวิธีและขั้นตอนการทำงาน  :
การเตรียมเส้นไหม

  1. เมื่อย้อมสีเส้นไหมตามสีที่ต้องการได้แล้ว นำเส้นไหมมาใส่สีละ 1 อัก อักหนึ่งวนซ้าย อักหนึ่งวนขวา หากจะตีเกลียวเส้นไหม 3 สีหรือ 3 เส้น ให้นำเส้นไหมมาใส่  3 อัก อักละ 1 สี
  2. จับปลายเส้นไหมโยงขึ้นไปร้อยกับห่วงไหมที่แขวนไว้เหนืออักให้สูงกว่าคนที่ทำหน้าที่ตีเกลียวไหม จากนั้นดึงเส้นไหม 2 สี 2 เส้น ลงมา ไหมจะเริ่มบิดตัวเป็นเกลียวเข้าหากัน เกิดเป็นไหม 1 เส้น ที่มีเส้นไหม 2 สีวนสลับกัน
  3. นำปลายเส้นไหมมาพันเข้ากับแกนในหรือแกนหลาแล้วใช้มือขวาหมุนไน/หลา ในขณะที่มือซ้ายจับเส้นไหมทั้ง 2 เส้นที่เริ่มบิดตัวเป็นเกลียวรวมเป็นเส้นเดียวมาระดับหนึ่งแล้วให้ค่อยๆ โรยให้เส้นไหมเรียงตัวบนแกนให้เป็นระเบียบ
  4. นำปลายเส้นไหมทั้ง 2 เส้นที่ตีเกลียวแล้วจากไนหรือหลาไปพันใส่โบกที่สอดไว้กับด้ามไม้ที่ใช้หมุนแกนไน/หลา แล้วหมุนแกนถ่ายเส้นไหมจากแกนเหล็กด้านซ้ายไปยังด้านขวา การตีเกลียวไหมมีเคล็ดว่า ถ้าต้องการเกลียวถี่ให้ใช้โบกขนาดเล็ก 2 นิ้ว ถ้าต้องการเกลียวห่างให้ใช้โบกขนาดใหญ่ 3 นิ้ว หรือถ้าต้องการเกลียวถี่เพื่อให้ได้ลายหางกระรอกละเอียดต้องตีเกลียว 2-3 รอบ แต่ถ้าตีเกลียวแน่นเกินไปเส้นไหมจะแข็ง ขดบิดเข้าหากันทำให้ทอยาก และทำให้เนื้อผ้าแข็ง

กรรมวิธีการทอ

  1. เตรียมเส้นด้ายยืน และเส้นด้ายพุ่งที่ได้จากการตีเกลียวเส้นไหมโดยใช้วิธีการควบเส้น ซึ่งผ้าหางกระรอกโดยทั่วไปนิยมใช้เส้นไหมหรือเส้นฝ้ายสีเหลืองมาควบกับสีอื่น เมื่อนำมาทอเป็นเส้นพุ่งบนผืนผ้า จะทำให้ผ้าทอที่เป็นผ้าพื้นมีความสวยงามจากสีเหลืองของเส้นไหม
  2. การทอผ้าหางกระรอกใช้วิธีการทอแบบลายขัดธรรมดา โดยใช้ตะกอผูกโยงเส้นด้านยืนจำนวน 2 ชุด หรือ 2 ตะกอ ซึ่งการใช้เส้นด้ายยืนที่มีสีเส้นหรือสีอ่อนกว่าสีเส้นด้ายพุ่งจะทำให้เกิดลายหางกระรอกเด่นขึ้นมา ได้ผ้าที่มีลายเหลือบเล็กๆ ในเนื้อผ้าดูคล้ายมีปุยขนอ่อนขึ้นมาดูคล้ายกับเส้นขนของหางกระรอก
ข้อมูลแหล่งที่มา

สถานที่

วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี (กลุ่มทอผ้านาหมื่นศรี) ตำบลนาหมื่นศรี  อำเภอนาโยง  จังหวัด ตรัง 92170