ผ้าปกหัวนาคมีลายขอเหลียว และลายมะลิเลื้อยเป็นลายประกอบ การเว้นผ้าฝ้ายสีขาวเป็นลักษณะกรอยสี่เหลี่ยมไว้ตรงส่วนกลางของผืนผ้าเสมอ เป็นความเชื่อว่าเพื่อเป็นพื้นที่แสดงถึงความบริสุทธิ์ เมื่อเวลาที่นำมาปกคลุมบนศีรษะของนาคแล้ว ส่วนที่เหลี่ยมสีขาวนั้นจะอยู่ตรงกึ่งกลางของกระหม่อมนาคพอดี อันถือว่าเป็นที่สถิตของ “ขวัญ” เพื่อให้ผู้ที่เป็นนาคมีสติ สมาธิ ต่อการสร้างบุญครั้งยิ่งใหญ่ของชีวิต หรืออาจเชื่อว่า ผ้าฝ้ายตรงกลางมีความหมาย หมายถึง “อริยสัจสี่” เสมือนเป็นดังคำสอนของพระพุทธเจ้าอันสุดประเสริฐให้ผู้ที่กำลังจะบวชเรียนไปถึงความเป็นบุคคลที่เป็นอารยะนั่นเอง
เทคนิคที่ใช้ : ผ้าฝ้าย มีลักษณะเป็นผืนผ้าค่อนไปทางสี่เหลี่ยมจัตุรัส ใช้เทคนิคการทอจก หรือเทคนิคยกมุกด้วยเส้นฝ้าย หรือเส้นไหมเป็นลวดลายต่าง ๆ อย่างวิจิตรงดงามจนเกือบเต็มผืนผ้า ส่วนชายผ้านิยมทอให้มีชายครุย สีที่นิยมเช่น สีแดง สีเขียว สีแสด สีขาว สีครีม สีน้ำตาล สีชมพู สีดำ ลวดลายบนผืนผ้าส่วนใหญ่จะเป็นไปตามจินตนาการของผู้ทอ เช่น ลายขอ ลายขอเหลียว ลายฟันปลาเค้า ลายดอกแก้ว ลายมะลิเลื้อย ลายกูด เป็นต้น