จารุเดช เครือปัญญา

ครูช่างศิลปหัตถกรรม

เครื่องทองโบราณ เป็นผลงานศิลปะที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาของคนสมัยก่อน ที่นำทองมาสร้างสรรค์เป็นเครื่องประดับจนกลายเป็นเอกลักษณ์หนึ่งของชาติไทยที่มีมาอย่างยาวนานผ่านกระบวนการสร้างสรรค์อย่าง การดุน การหุ้ม การบุ การหล่อ การสลัก และการคร่ำ จนกลายเป็นผลงานที่บ่งบอกถึงคุณค่าของประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมของชาติได้เป็นอย่างดี เครื่องประดับทองโบราณที่เกิดจากการสร้างสรรค์ของช่างฝีมือ เช่น สร้อยคอ สร้อยข้อมือ กำไล ต่างหู แหวน ปั่นปักผม จี้เข็มกลัด เป็นต้น

นายจารุเดช เครือปัญญา มีความสนใจในการทำเครื่องประดับทองโบราณมาตั้งแต่เด็ก เนื่องจากเติบโตมาจากครอบครัวที่เป็นช่างทำเครื่องประดับทองมาก่อน เมื่อเติบโตขึ้นนายจารุเดชมีความชื่นชอบในเครื่องประดับทองโบราณจึงทำให้เกิดการคิดที่จะอนุรักษ์และสืบสานการทำเครื่องประดับทองตั้งแต่นั้นมา โดยนายจารุเดชได้ฝึกฝนและเรียนรู้การทำเครื่องประดับทองโบราณตั้งแต่อายุได้เพียง 18 ปี จาก นางอำไพ เครือปัญญา ผู้เป็นแม่ โดยฝึกฝนจากการเป่าไฟและผสมน้ำประสาน จนเริ่มมีความชำนาญและได้ฝึกขั้นตอนการหล่อ การสลักลาย การขุดลาย ตั้งแต่นั้นมา นายจารุเดช ใช้เวลาในการเรียนรู้ไม่นานและสามารถสร้างชิ้นงานได้สำเร็จและยังคงสร้างสรรค์ผลงานเครื่องประดับ ทองโบราณด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง

ปีที่ได้รับการเชิดชูจาก sacit :
พ.ศ. 2554
เพศ :
ชาย
ประเภทผลงาน :
เครื่องโลหะ
สถานะ :
มีชีวิต