ช่างทองมิได้ทำทองรูปพรรณเพื่อหวังความร่ำรวย แต่จะภาคภูมิใจเมื่อลูกค้าหรือผู้สวมใส่มีความพึงพอใจ ช่างทองก็พลอยมีความสุขไปด้วย
ครูกิตติพร เกิดที่อำเภอกระนวน จังหวัดขอนแก่น เมื่ออายุได้ 15 ปี ได้มีโอกาสมาฝึกงานกับญาติที่ร้านทองเพชรสุวรรณ จังหวัดระยอง และด้วยความที่เป็นคนช่างซัก ช่างถาม ใฝ่ที่จะเรียนรู้ จึงได้รับความไว้วางใจให้ลงมือทำเครื่องทองให้กับร้าน จนกลายเป็นช่างประจ่าร้าน นานถึง 7 ปี หลังคลุกคลีอยู่ในงานเครื่องทองจึงเรียนรู้ว่า สกุลช่างทองที่มีความละเมียดละไม อ่อนช้อย วิจิตรของไทยนั้นมีชื่อของเครื่องทองสกุลช่างทองเพชรบุรี
ครูกิตติพร จึงแสวงหาร้านทองสกุลช่างเพชรบุรี ที่ได้รับการยอมรับในยุคนั้นถึงความเป็นเอกในฝีมือช่างทอง และได้เข้าทำงานร้านทองอาจิว จังหวัดเพชรบุรี หลังจากนั้นอีก 2 ปี ก็ได้ลาออกมารับงานอยู่กับบ้าน ในยุคที่ทำงานแทบไม่ทันความต้องการของลูกค้า เพราะราคาทองคำยังไม่สูงมาก และมีเพียงร้านทองอาจิว ของเพชรบุรีเท่านั้นที่รับทำทองในแนวจิวเวลรี่ ด้วยความเอาใจใส่ วิริยะอดทน ต่อการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ทำให้ชิ้นงานของครูกิตติพรมีเอกลักษณ์ รายละเอียดที่ชัดเจนของลวดลาย กลายเป็นเสียงบอกต่อถึงฝีมือสกุลช่างทองเพชรบุรีของเขาอย่างกว้างขวาง
ประสบการณ์ที่สั่งสมทั้งซ่อมแซมงานโบราณและการรับทำชิ้นงานร่วมสมัย ทำให้ครูกิตติพรหันมาพัฒนารูปแบบงานทองโบราณในแนวจิวเวลรี่เต็มตัว โดยได้ขอความรู้จาก ครูเนื่อง แฝงสีคำ ช่างทองโบราณเมืองเพชร (ครูศิลป์ของแผ่นดิน ปี 2552) ยิ่งทำให้ชิ้นงานทองโบราณของครูกิตติพรมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากงานทองโบราณอื่นอย่างชัดเจน คือ งานครูกิตติพรจะออกแนวประยุกต์และเลือกใช้ทองคำบริสุทธิ์ 96.50% ที่ช่วยให้ชิ้นงานคงรูปสวยงามแต่มีคุณค่าของความเป็นเครื่องทองเพชรบุรีที่มีลายละเอียดวิจิตรนั่นเอง
งานทองเพชรบุรีหัตถกรรมชั้นสูงที่โดดเด่น อาทิ ปะวะหล่ำ กระดุมลูกสน สร้อยคอถักแบบ 4 เสา 6 เสา และ 8 เสา นอกจากนี้ยังมี แหวนพิรอด แหวนนพเก้า ซึ่งล้วนเป็นเครื่องประดับที่มีมูลค่าสูงและต้องใช้วิธีทำด้วยมือล้วน ๆ ครูกิตติพร นาใจดี หนึ่งในผู้ที่ยังคงสร้างสรรค์ สืบสานและอนุรักษ์คุณค่าแห่งงานช่างทองเมืองเพชรด้วยการส่งต่อความรู้ไปยังคนรุ่นต่อ ๆ ไปอย่างต่อเนื่อง จนสามารถใช้เทคนิคของสกุลช่างทองเพชรบุรีที่มีเอกลักษณ์ ออกแบบลวดลาย และรูปทรงของเครื่องประดับให้มีความอ่อนช้อย สวยงามร่วมสมัย เฉพาะอย่างยิ่ง ครูกิตติพรยังคงรักษาเอกลักษณ์เฉพาะของทองคำสกุลเพชรบุรี ไว้อย่างไร้ที่ติซึ่งประกอบด้วย
สร้อยคอ “ขัดมัน” สร้อยคอ ที่มีลักษณะเป็นห่วงกลมเกี่ยวกันเป็นลูกโซ่ต่อเนื่องกัน โดยช่างจะใช้ตะไบลบเหลี่ยมห่วงของสร้อยตลอดเส้น “สี่เสา หกเสา และแปดเสา” เป็นลวดลายการถักห่วงกลมขนาดเล็ก ๆ จำนวนมากอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำเป็นสร้อยคอและสายสะพายแล่ง สร้อยสี่เสาจะมีขนาดเล็ก สร้อยหกเสามีขนาดปานกลาง ส่วนสร้อยแปดเหลี่ยมจะมีขนาดใหญ่ “สมอเกลียว” เป็นสร้อยที่ทำจากลวดลายทองคำขดเป็นห่วงแล้วเชื่อมต่อกันเป็นลูกโซ่ปะวะหล่ำ หรือปะวะหล่ำทรงเครื่อง ซึ่งเลียนแบบมาจากโคมจีน
“ลูกสน” มีลักษณะคล้ายลูกสนทะเล ประกอบด้วยโครงลวดทองขนาดเล็กต่อประกอบกัน “เต่าร้าง” เป็นชื่อเรียกตุ้มหู มีลักษณะคล้ายพวงของผลเต่าร้าง “ลูกไม้ปลายมือหรือเล็บมือ” เป็นทองรูปพรรณประเภทสร้อยข้อมือ ประกอบด้วยทรงกระบอกขนาดเล็กคั่นด้วยทอง ทำเป็นรูปดอกพิกุลหรือเป็นรูปห้าแฉก คล้ายฝ่ามือและฝ่านิ้ว “ดอกพิกุล” เป็นลวดลายทอง นิยมใช้ตกแต่งหรือประกอบทองรูปพรรณลวดลายอื่น “ดอกมะลิ” เป็นทองรูปพรรณมีลักษณะคล้ายดอกมะลิกำลังบาน โดยกลีบดอกมะลิแต่ละดอกจะประดับเพชรซีก ยาวรี ด้วยวิธีการตีขอบ
“ก้านบัว” กำไลข้อเท้าสำหรับเด็กในสมัยก่อน มีลักษณะเป็นห่วงขนาดใหญ่ กลมเกลี้ยง “บัวสัตตบงกช” เป็นลายทองรูปพรรณ เลียนแบบบัวสัตตบงกช มีชื่อเรียกในหมู่ช่างทองเมืองเพชรบุรีว่า กระดุม “บัวจงกลและมณฑป” เป็นลวดลายของช่างเขียนลายไทย ซึ่งช่างทองได้นำมาออกแบบเป็นปิ่นปักผม “ประจำยาม” ช่างทองได้ดัดแปลงลายประจำยามมาทำเป็นจี้ มีสองชนิดคือ จี้ตัวผู้กับจี้ตัวเมีย “เสมหรือปลา” เป็นลวดลายที่ช่างทองสมัยโบราณนิยมทำเป็นแผ่นทอง และดุนให้เป็นลวดลายเสมหรือปลา
“ผีเสื้อ” เป็นทองรูปพรรณที่มีรูปแบบการสร้างสรรค์จากโครงสร้างของผีเสื้อ “งู พญานาค และมังกร” เป็นลวดลายทอง ซึ่งดัดแปลงจากสัตว์ประเภทงู ช่างนิยมทำเป็นแหวนงูประเภทต่าง ๆ โดยเป็นการแกะสลักผสมผสานการเคาะและดุนลวดลายลงบนแผ่นทองคำ ซึ่งตีขึ้นเป็นรูปกำไล “ตะขาบ” เป็นลวดลายทองรูปพรรณที่เลียนแบบตัวตะขาบ นิยมทำเป็นสร้อยข้อมือ
“พิรอด” ในสมัยโบราณพิรอดเป็นแหวนซึ่งถักด้วยผ้ายันต์หรือด้ายดิบ นิยมใช้เป็นเครื่องราง ช่างทองได้ดัดแปลงลวดลายมาทำเป็นแหวนพิรอด “ตะไบ” เป็นแหวนฝังพลอยหรือเพชรซีกทั่ว ๆ ไป แต่ช่างทองเมืองเพชรบุรีใช้วิชาการสลักลวดลายสร้างเอกลักษณ์เฉพาะยิ่งขึ้น ด้วยการตะไบทั้งสองข้างของแหวนให้เป็นร่องลึก เป็นที่มาของชื่อแหวนตะไบ
สถานที่