ขัน หรือก้อกควบน้ำต้น

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

สลักดุนลายเป็นลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายกลีบมะเฟือง ลายดอกกระถิน ลายดอกพ่าย ลายดอกพ่ายในลายโขงกาบบัว ลายดอกพ่ายสองชั้น ลายสับปะรด หรือลายเกล็ดลิ่น เป็นต้น
ใช้เป็นภาชนะใส่น้ำ หรือใส่ข้าวตอก ดอกไม้ ธูป เทียน สำหรับไปวัด หรือใช้ใส่สิ่งของที่สำคัญ

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องโลหะ
กลุ่มวัฒนธรรม :
ช่างสลักดุน สกุลช่างล้านนา สกุลช่างเชียงใหม่ สกุลช่างแพร่
วัสดุ :
โลหะเงิน
อายุ/ปีที่ผลิต :
2500
องค์ความรู้ :
รายละเอียดชิ้นงาน

ขัน ในภาษาพื้นเมืองของชาวล้านนา ทางภาคเหนือเรียกว่า สลุง หรือ สะหลุง มีลักษณะคล้ายขันน้ำของทางภาคกลาง เช่นเดียวกัน (ในปัจจุบันอาจได้ยินผู้ที่เรียกรวมกันว่าขันสลุงก็ได้) ขันหรือสลุง ทำด้วยโลหะเงิน จึงมักเรียกว่า สลุงเงิน (จะไม่นิยมทำด้วยโลหะทอง หรือทองแดง) นิยมใช้สำหรับพุทธบูชา หรืองานบุญ เช่น ใช้ใส่ดอกไม้ ธูปเทียน และเครื่องไทยทาน ไปทำบุญที่วัด ใช้เป็นภาชนะใส่ข้าวตักบาตร ใช้ใส่น้ำมนต์ เพื่อความเป็นสิริมงคล หรือใช้ใส่น้ำขมิ้น ส้มป่อยเพื่อใช้รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ หรือใช้ในงานบุญ งานกุศลต่าง ๆ หรือใช้ใส่สิ่งของที่สำคัญ มีหลากหลายขนาด ตามสภาพการใช้งาน หรือตามความต้องการนำไปใช้สอย ขันหรือสลุงทุกใบจะต้องสลักดุน  ลวดลายต่าง ๆ ลงไปบนตัวขันหรือสลุงโดยรอบ ลวดลายที่ปรากฏจะบ่งบอกได้ว่า ใช้ในโอกาสใด เช่น ขันหรือสลุงที่ใช้ในชีวิตประจำวัน นิยมใช้ในการทำบุญตักบาตร ใช้ใส่น้ำล้างหน้า ใช้ตักน้ำในประเพณีสงกรานต์ จะมีขนาดเล็กไล่ขึ้นมาจนถึงขนาดไม่ใหญ่มาก สลักดุนลายเป็นลวดลายที่ไม่เกี่ยวกับทางศาสนา เช่น ลายดอกฝ้าย ลายดอกกระถิน ลายดอกทานตะวัน ลายพันธุ์พฤกษา ลายเครือเถาว์ ลายชนบท ลายธรรมชาติ เป็นต้น ส่วนขันหรือสลุงที่ใช้ในงานประเพณีหรือพิธีกรรมสำคัญ เช่น ใช้ในประเพณีสงฆ์น้ำพระช่วงเทศกาลสงกรานต์ ใช้ใส่น้ำขมิ้น ส้มป่อย หรือน้ำมนต์เพื่อเป็นสิริมงคล มักมีลวดลายเกี่ยวกับความเชื่อทางศาสนา เช่น ลายสิบสองนักษัตรตามแบบล้านนา ลายชาดกต่าง ๆ ลายแบบล้านนา เป็นต้น ขันหรือสลุงจึงเป็นเอกลักษณ์งานสลักดุนที่สะท้อนภูมิปัญญาพื้นบ้านของวัฒนธรรมชาวล้านนา ที่ในอดีตมักใช้กันหมู่เจ้านายเมืองเหนือ เอาไว้ใส่น้ำเพื่อล้างหน้า โดยจะไม่ใช้ปนกับภาชนะอื่น และจะไม่ใช้ตักน้ำสำหรับอาบ หรือน้ำล้างเท้าหรือตักน้ำอย่างอื่น ๆ

ข้อมูลแหล่งที่มา