จับปิ้ง ใช้เป็นเครื่องผูกบั้นเอวเพื่อปิดส่วนอวัยวะเพศของเด็กหญิงและเด็กชาย เนื่องจากเด็กในสมัยโบราณ ตั้งแต่สมัยสุโขทัยจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ไม่นิยมนุ่งผ้าจนกว่าจะอายุ 10 - 12 ขวบ จับปิ้ง นิยมทำด้วยเงิน ทอง หรือนาก เป็นต้น หรือบางครั้งอาจเรียกว่า กระจับปิ้ง จะปิ้ง ตะปิ้ง หรือตับปิ้ง ก็ได้จับปิ้ง ที่ทำด้วยทองจะใช้กับเจ้านายหรือชนชั้นสูง ส่วนจับปิ้งทำด้วยเงิน จะใช้กับผู้ที่มีฐานะดี หรือคหบดี หรือสามัญชนทั่วไป ส่วนชาวบ้านหรือผู้ที่ขัดสน จะใช้จับปิ้งที่ทำจากกะลามะพร้าว จับปิ้งที่พบ มีทั้งแบบสานโปร่ง และแบบแผ่นทึบ มีลักษณะรูปทรงแบบใบพุทรา จับปิ้งส่วนใหญ่ที่พบในภาคใต้ จะเป็นจับปิ้งทึบ ทรงใบพุทรา ซึ่งปัจจุบันมักเรียกว่า ทรงรูปหัวใจ ขั้วของจับปิ้ง ที่ใช้ร้อยเชือกสำหรับผูกรอบเอวนั้น มีทั้งแบบที่เป็นห่วงสองห่วงติดอยู่ห่างกัน บนส่วนโค้งของจับปิ้ง และแบบที่เป็นหลอดกลมยาวคล้ายตะกรุด คติในการใช้จับปิ้งนั้น น่าจะเนื่องมาจากความต้องการที่จะไม่ให้เด็ก โดยเฉพาะเด็กหญิงกระโดดเล่นซุกซนมากนัก หากเด็กคนใดซุกซนมาก บิดาหรือมารดา ผู้ปกครองก็จะใช้จับปิ้งที่มีขนาดใหญ่หนาและหนักเป็นพิเศษ เพื่อที่เวลาเด็กวิ่งเล่นซุกซน ตัวจับปิ้งก็จะแกว่งไกวเสียดสีกับผิวของอวัยวะของเด็กนั้น ทำให้รู้สึกเจ็บก็จะไม่กล้ากระโดดซุกซนมาก
จับปิ้งที่พบในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ ล้วนเป็นจับปิ้งที่สร้าง ขึ้นโดยช่างฝีมือสลักดุนที่เป็นชาวมุสลิมทั้งสิ้น ดังนั้นลวดลายที่พบจึงเป็นลายก้านขด ลายพันธุ์พฤกษา ลายเถาดอกไม้ใบไม้ ลายเกลียวเชือก ลายลูกประคำ เป็นต้น