แอ่บใส่นวด (ขี้ผึ้ง) หรือ เขนงยา (ยาเส้น)หรือ เขนงดิน (ดินปืน)

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

รูปทรงมีลักษณะคล้ายตลับมีส่วนปลายแหลมคล้ายเขาสัตว์ โดยส่วนบนของตลับหรือฝาตลับสลักดุนเป็นลวดลายเล็ก ๆ แต่ส่วนล่างของตลับเป็นเขาสัตว์ มีสายสร้อยเงินถักสั้น ๆ เพื่อยึดระหว่างตัวตลับ และฝาตลับไม่ให้หลุดหายจากกันโดยรูปทรงตลับในลักษณะนี้ ผู้ที่มีความเลื่อมใสศรัทธาในวัตถุมงคลจะนิยมนำของมีค่า หรือของป่าหายาก หรือวัตถุมงคลที่ตนเองนับถือมาฝังไว้เป็นเครื่องประดับ เช่น นอแรด เขาของตัวเยืองหรือเลียงผา เขาของตัวฟานหรือเก้ง หรือหินกัดจากแม่น้ำโขง เป็นต้น มาต่อเป็นส่วนล่างของตลับเพื่อแสดงฐานะทางสังคม บุญบารมีของผู้เป็นเจ้าของ เนื่องจากวัตถุต่าง ๆ เหล่านี้เป็นของหายากและมีค่ามาก

ตลับในลักษณะนี้ถ้าภายในมีลิ้นรองปิดเรียกว่าแอ่บ ใช้สำหรับใส่นวด (นวด เป็นภาษาลาวหมายถึง สีผึ้งหรือขี้ผึ้ง) สำหรับสีปากหรือทาปากแต่ถ้าหากไม่มีลิ้นและเป็นโพรงลึกเข้าไป ในส่วนเขาสัตว์นั้น เรียกว่า เขนง ใช้สำหรับใส่เขนงยา (เขนงยา เป็นภาษาลาว หมายถึงยาเส้น) หรือใช้ใส่เขนงดิน (เขนงดิน เป็นภาษาลาว หมายถึง ดินปืน)

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องโลหะ
กลุ่มวัฒนธรรม :
ช่างสลักดุน สกุลช่างเมืองหลวงพระบาง
วัสดุ :
โลหะเงิน และเขาสัตว์
อายุ/ปีที่ผลิต :
2480
องค์ความรู้ :
รายละเอียดชิ้นงาน

อาณาจักรล้านช้าง หลวงพระบาง ที่ตั้งอยู่ทางภาคเหนือของประเทศลาว มีความสัมพันธ์ติดต่อกับกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อนบ้านใกล้เคียง เช่น กลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่ หรือเงี้ยว ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศพม่า ด้วยเหตุดังกล่าวช่างฝีมือในงานสลักดุนจึงได้รับแรงบันดาลใจจากหมวกเงี้ยว ซึ่งเป็นหมวกอันมีรูปทรงเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของชาวไทใหญ่ หรือเงี้ยว คือยอดหมวกจะเป็นทรงกรวยแหลมเล็ก ๆ อยู่ตรงกลางหมวก ขนาดประมาณ 1 กำปั้น และปีกหมวกจะมีลักษณะโค้งแบน และแผ่กว้างออกไปโดยรอบ ซึ่งช่างสลักดุนโลหะของหลวงพระบางก็สามารถขึ้นรูปทรงฝาของตลับแบบนี้เลียนแบบทรวดทรงของหมวกได้อย่างใกล้เคียง แต่บางครั้งส่วนยอดของฝาตลับนี้ก็จะใช้กรรมวิธีในการสลักดุนบนแผ่นโลหะที่มีค่ามากกว่าตัวตลับ เช่น ทองคำ และใช้ครั่งเป็นแกน แล้วจึงนำมาติดลงไปบนฝาตลับนอกเหนือจากความสัมพันธ์กับกลุ่มชาติพันธุ์เพื่อนบ้าน เช่น ไทใหญ่แล้ว ช่างสลักดุน สกุลช่างเมืองหลวงพระบาง ยังได้รับแรงบันดาลใจในการขึ้นรูปทรงของตลับ และลวดลายที่ใช้ประดับตกแต่งจากอิทธิพลของกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวน ในอาณาจักรล้านนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากจังหวัดเชียงใหม่ จึงทำให้รูปทรงของตลับในกลุ่มนี้ มีลักษณะคล้ายทรงลูกจันที่กลม และค่อนข้างแบนลักษณะตลับรูปทรงเหล่านี้ นิยมใช้เป็นตลับในชุดเชี่ยนหมากหรืออาจใช้ใส่ยาเส้น หรือสีผึ้ง

ข้อมูลแหล่งที่มา