ลายหมี่คั่น
เทคนิคที่ใช้ : การสร้างลายบนผืนผ้าด้วยเทคนิคมัดหมี่
“มัดหมี่” เป็นชื่อเรียกกรรมวิธีการสร้างลวดลายบนผืนผ้าแบบหนึ่ง ซึ่งมาจากกรรมวิธีการ “มัด” เส้นด้ายเป็นกลุ่ม ๆ ก่อนการย้อมสี ส่วนคำว่า “หมี่” หมายถึง เส้นด้าย ซึ่งอาจะเป็นเส้นด้ายฝ้าย เส้นด้ายไหม เส้นใยสังเคราะห์ เส้นใยจากพืชอื่น ๆ รวมถึงเส้นใยขนสัตว์ เป็นต้น การมัดหมี่จึงเป็นการมัดเส้นด้ายที่จะนำไปใช้ในการทอผ้า โดยมัดเส้นด้ายให้เป็นเปลาะ ๆ ตามลวดลายที่กำหนดไว้ให้แน่น ด้วยวัสดุต่าง ๆ ที่แต่ละท้องถิ่นนิยมใช้ เช่น เชือกกล้วย เส้นด้ายฝ้าย ใบว่านสากเหล็กหรือต่อเหล่าอี้ หรือเส้นเชือกพลาสติก เพื่อปิดกั้นไม่ให้เส้นด้ายที่มัดไว้สัมผัสกับสีย้อม แล้วจึงนำเส้นด้ายที่มัดแล้วนั้นไปย้อมสี แล้วแกะเอาวัสดุที่มัดนั้นออก หากต้องการให้เกิดลวดลายมีหลายสี ผู้สร้างสรรค์ต้องมัดและย้อมหลายครั้งเพื่อให้ได้ลวดลายและสีสันตามต้องการ
มัดหมี่ เป็นชื่อที่รู้จักกันโดยทั่วไปในประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือหรือภาคอีสานที่มีการทอผ้ามัดหมี่มากที่สุด ทั้งนี้เทคนิคการสร้างลายผ้าแบบนี้ในภาคเหนือเรียกว่า “มัดก่าน” ส่วนในภาษาต่างประเทศมีการใช้คำทับศัพท์ “Mut Mii” และใช้เป็นภาษาอังกฤษว่า “Ikat” และในบางประเทศมีการเรียกผ้าทอด้วยกรรมวิธีการมัดหมี่ในแบบภาษาเฉพาะของแต่ละประเทศ เช่น ผ้าปาโตลา ในประเทศอินเดีย ผ้าโฮล ในประเทศกัมพูชา ผ้าลีมา ในประเทศมาเลเซีย ผ้ากาซือริ ในประเทศญี่ปุ่น ผ้าแจสเป ในประเทศกัวเตมาลา และผ้าซิ่นเหม่ ในประเทศเมียนมา เป็นต้น
กรรมวิธีการมัดหมี่โดยทั่วไป แบ่งได้ 3 ประเภท ดังนี้
การมัดหมี่เส้นยืน (Warp Ikat) คือ การมัดหมี่เส้นด้ายเฉพาะที่ใช้เป็นเส้นยืน ส่วนเส้นพุ่งจะย้อมให้เป็นสีพื้นเพียงสีเดียวโดยไม่มีการมัดลวดลายใด ๆ เลย ลวดลายของมัดหมี่ชนิดนี้จะปรากฏให้เห็นได้อย่างชัดเจน เมื่อนำเส้นยืนมาขึงยึดเข้ากับกี่เรียบร้อยพร้อมที่จะทอแล้ว แม้ว่าจะยังไม่ได้นำเส้นพุ่งมาสอดทอเลยก็ตาม การทอผ้ามัดหมี่แบบเส้นยืนในประเทศไทยนิยมทอในกลุ่มชาวเขา ชาวลัวะ กะเหรี่ยง ด้วยการทอด้วยกี่ทอผ้าหน้าแคบหรือกี่เอว ในต่างประเทศมีแหล่งผลิตที่สำคัญในประเทศอินโดนีเซีย โดยเฉพาะที่กาลิมันตัน สุลาเวซี และสุมาตรา โดยมีการทอด้วยชนชาวพื้นเมืองในกลุ่มชาวดายัค ชาวโทรายัน และชาวบาตัก เป็นต้น
การมัดหมี่เส้นพุ่ง (Weft Ikat) คือ การมัดหมี่ที่ย้อมเส้นด้ายเฉพาะที่ใช้เป็นเส้นพุ่ง ลวดลายที่เกิดจากการมัดและย้อมสีจะปรากฎให้เห็นได้ก็ต่อเมื่อทอออกมาเป็นผืนผ้าสำเร็จแล้วเท่านั้น โดยการทอผ้ามัดหมี่เส้นพุ่งทำได้ช้ากว่ามัดหมี่เส้นยืนมาก เนื่องจากมีขั้นตอนสลับซับซ้อนในการจัดระเบียบลำดับเส้นพุ่งทีละเส้นทั้งก่อนการมัดและย้อมและหลังการมัดและการย้อม รวมทั้งต้องมีการจัดเรียงเส้นพุ่งก่อน - หลัง ตามลำดับของลวดลายในเวลาทอ รวมถึงผู้ทอต้องคอยขยับเส้นพุ่งเหล่านั้นแทบทุกเส้นเมื่อพุ่งผ่านกระสวยไปแล้ว เมื่อให้ลวดลายที่มัดบนเส้นพุ่งแต่ละเส้นตรงกัน ซึ่งจะทำให้ผืนผ้าที่ทอเสร็จแล้วมีลวดลายคมชัดและมีคุณภาพสูง
การมัดหมี่สองทาง (Double Ikat) คือ การมัดหมี่ที่ต้องมัดและย้อมเส้นเส้นด้ายเส้นยืนและเส้นพุ่ง ด้วยความประณีตและซับซ้อนเป็นอย่างมาก เพราะต้องมีการคำนวณด้วยมาตราส่วนของช่างทอเอง เพื่อให้การมัดย้อมเส้นยืนและเส้นพุ่งมีลวดลายตรงกันเมื่อนำมาทอเป็นผืนผ้า และในขณะที่ทอต้องมีความระมัดระวังเป็นอย่างมาก เพราะผู้ทอต้องคอยขยับเส้นพุ่งที่ทอให้ตรงกับลวดลายที่มัดย้อมไว้ก่อนแล้วบนเส้นยืน ทำให้ผ้ามัดหมี่ประเภทนี้มีราคาสูงมก ในทวีปเอเชียการมัดหมี่สองทางเป็นนิยมและมีการสร้างสรรค์อย่างงดงามใน 3 ประเทศ ได้แก่ อินเดีย ญี่ปุ่น และอินโดนีเซีย โดยผ้ามัดหมี่สองทางที่ผลิตจากเมืองปาตัน รัฐคุชราต ประเทศอินเดีย หรือที่เรียกกันว่า “ผ้าปาโตลา” ถือว่ามีคุณภาพดีที่สุดทั้งการสร้างสรรค์ลวดลายและความสลับซับซ้อนในการทอ
แหล่งอ้างอิงข้อมูล