ผ้าปะลางิงลายนกยูง

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ผ้าปะลางิงลายนกยูงเป็นลายผ้าที่ครูปิยะสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ในปี พ.ศ. 2564 เพื่อเป็นผ้าสำหรับแขวนประดับ โดยได้รับแรงบันใดการสร้างสรรค์ลายนกยูงมาจากการทรงงานสร้างลายผ้าบาติกของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เพี่อเป็นผ้าคอลเลคชั่นพิเศษของศรียะลาบาติก และสร้างสีสันจากสีย้อมธรรมชาติของพรรณไม้และทรัพยากรในท้องถิ่นเพื่อสะท้อนความภาคภูมิใจในทุนทางวัฒนธรรมของเมืองยะลา

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องทอ
กลุ่มวัฒนธรรม :
มลายู
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 117 เซนติเมตร ยาว 80 เซนติเมตร
วัสดุ :
เส้นยืนฝ้าย เส้นพุ่งไหม ย้อมสีธรรมชาติจากใบยอ ใบมังคุด และโคลนกอบัว น้ำเทียนบริสุทธิ์ (ขี้ผึ้ง 100% ผสมกับเทียนแผ่น)
อายุ/ปีที่ผลิต :
2564
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : เทคนิคการทอยกดอกแบบเหยียบตะกอ และการสร้างมิติสีสันบนผืนผ้าด้วยการเขียนเทียน และการใช้เทคนิคเย็บย้อม
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :
1. การคัดเลือกผ้า : ผ้าที่ใช้สำหรับทำผ้าปะลางิงมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับความต้องการในการสร้างลวดลายและเนื้อสัมผัสบนผืนผ้า ซึ่งโดยทั่วไปมี 4 รูปแบบคือ

  1. ผ้าไหม : คือการใช้ไหมน้อย 100% มาทอเป็นผ้าพื้นสำหรับทำผ้าปะลางิงที่ทำจำลองตามแบบผ้าโบราณ
  2. ผ้าฝ้าย : คือการใช้ผ้าฝ้าย 100% มาทอเป็นผ้าพื้นสำหรับทำผ้าปะลางิง โดยผ้าในส่วนนี้ครูปิยะได้ทำโครงการพัฒนากระบวนการทอผ้าร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา จ.ยะลา
  3. ผ้าฝ้ายแกมไหม : คือการใช้ผ้าฝ้ายเป็นเส้นยืน และผ้าไหมเป็นเส้นพุ่ง สำหรับการทอผ้าพื้นแบบผ้ายกดอก (แบบเหยียบตะกอ)
  4. ผ้าซาติน : คือการนำผ้าซาตินสำเร็จที่มีคุณสมบัติเรียบ ลื่น เป็นเงาสวย มาตัดตามขนาดที่ต้องการเพื่อทำเป็นผ้าพื้นสำหรับทำผ้าปะลางิง
    ซึ่งผ้าปะลางิงลายนกยูงผืนนี้มีความพิเศษตรงที่มีการใช้ผ้าพื้นที่ทอแบบยกดอก 4 ตะกอ ด้วยฝ้ายแกมไหม ทำให้ผ้ามีน้ำหนัก เงางาม และทิ้งตัวเวลาสวมใส่

2. การเตรียมผ้า : นำผ้าที่เตรียมไว้มาแช่น้ำรองย้อม (น้ำรองย้อมคือ การใช้คุณสมบัติตามธรรมชาติของพืชที่พบในท้องถิ่นเช่น เปลือกกล้วยหิน ใบหูกวาง ใบฝรั่ง มาทำเป็นน้ำรองย้อมที่ช่วยให้สีติดดียิ่งขึ้น) โดยนำผ้าที่แช่ไว้มาบีบ นวด ให้น้ำซึมเข้าไปในเส้นใยของผืนผ้า แช่ไว้ประมาณ 30 นาที แล้วนำไปตากให้หมาด

3. การสร้างลายบนผื้นผ้า : กำหนดช่องลาย โทนสีและรูปแบบลวดลายและโครงสร้างผ้าตามที่ออกแบบไว้ และนำมาสร้างสรรค์ลวดลายเพื่อให้มีมิติสีและความหลากหลายตามเอกลักษณ์ของผ้าปะลาลิงคือความพริ้วไหว และมีสีสันงดงามราวกับสีรุ้ง
ซึ่งผ้าปะลางิงลายนกยูงมีการสร้างลายถึง 4 เทคนิคด้วยกันคือ

  1. การสร้างลายบนพื้นผิวผ้า : คือการสร้างลายด้วยการใช้เทคนิคการทอยกแบบ 4 ตะกอสร้างลวดลายบนผืนผ้าเป็นลายลูกแก้ว 2 ชั้น ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกในการสร้างมิติของผิวสัมผัสบนพื้นผ้าก่อนนำไปเพิ่มมิติด้านสีสันในขั้นตอนต่อไป
  2. การสร้างลายด้วยการเขียนเทียน : คือการสร้างลายโดยการใช้จันติ้ง (Canting / Tjanting) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเขียนเทียนขี้ผึ้งชนิดหนึ่ง ทำจากโลหะทองเหลืองหรือทองแดงและมีส่วนบรรจุน้ำเทียนเพื่อให้ผู้สร้างสรรค์สามารถวาดลายได้หลากหลายขนาดและมีความหนา - บาง ของเส้นเทียนตามที่ต้องการ เป็นรูปนกยูงซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากการทรงงานสร้างลายผ้าบาติกของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรีนารีรัตนราชกัญญา พร้อมลายประกอบอย่างลายขนนกยูง ลายดอกดาหลา และลายเส้นประกอบต่างๆ
    สำหรับการสร้างลายโดยการเขียนเทียนของครูปิยะ นอกจากเป็นการวาดลายเส้นเป็นรูปต่างๆ ตามจินตนาการแล้ว ยังมีใช้จันติ้งลงเทียนเป็นแผ่น หรือจุดใหญ่ๆ ตามขนาดที่ต้องการ ทั้งนี้หากต้องการให้ตัวลายมีลักษณะคล้ายกับรอยแตกเพื่อให้สีย้อมซึมลงผืนผ้า เพื่อความสวยงามและความสมจริงของลวดลาย ลักษณะขี้ผึ้งที่ใช้ต้องมีความแข็งกว่าปกติเล็กน้อยเพื่อให้สามารถสร้างรอยแตกบนผิวเทียนได้
    ทั้งนี้หลังจากขั้นตอนการพิมพ์ด้วยบล็อกไม้ และการสร้างลายด้วยการเขียนเทียนด้วยขี้ผึ้ง 100% ผสมกับเทียนแผ่นด้วยการต้มจนร้อนและมีความเหลวได้ที่ เป็นขี้ผึ้งเนื้อละเอียดไม่มีกลิ่นแล้ว ผู้สร้างสรรค์จะมีการกำหนดจังหวะสีและลวดลายด้วยการนำไปต้มเทียนออกแล้วลงสีเป็นชั้นๆ เพื่อความสวยงามและเป็นการสร้างมิติสีบนพื้นผ้าที่สร้างสรรค์ด้วยมือทุกขั้นตอน
  3. การสร้างลายด้วยการเย็บย้อม: คือการสร้างมิติสีบนผืนผ้าด้วยการเย็บผ้าหรือมัดผ้าเป็นลายที่ต้องการเพื่อให้มีส่วนที่ไม่ถูกสี (กั้นสี) ปรากฎเป็นสีขาวหรือสีต้องการ

4. การลงสีรายละเอียดที่สำคัญ : หลังจากสร้างลวดลายด้วยการเขียนเทียนเรียบร้อยแล้ว ครูปิยะนำสีย้อมธรรมชาติจากใบมังคุดที่เตรียมไว้ซึ่งมีสีโทนน้ำตาลเหลือบส้ม - เหลือง มาลงสีด้วยพู่กันหรือแปรงขนาดเล็กบริเวณส่วนตัวของนกยูง และส่วนลายประกอบที่เป็นหางนกยูง
5. ย้อมสีธรรมชาติ :
การย้อมสีธรรมชาติครั้งที่ 1 : นำใบยอมาเตรียมเป็นสีย้อมธรรมชาติจนได้สีเทาเฉดที่ต้องการ จากนั้นนำผ้าไปแช่ในน้ำย้อมประมาณ 1 – 2 วัน เพื่อให้สีซึมเข้มไปเนื้อผ้า โดยจุดคงจุดที่สร้างลายด้วยการเย็บย้อมไว้เพื่อกั้นสีตามต้องการ
การย้อมสีธรรมชาติครั้งที่ 2 : เตรียมโคลนกอบัวที่มีเนื้อเนียนละเอียดและมีสีเทาเข้มด้วยการนำไปกรองเศษตะกอนต่างๆ ออกจนหมด แล้วนำผ้าที่ผ่านการย้อมด้วยใบยอแล้วมาบีบและนวดในน้ำโคลนกอบัว จากนั้นแช่ไว้ประมาณ 1 คีน จะได้สีของผืนผ้าตามต้องการและด้วยคุณสมบัติของโคลน ยังช่วยให้ผ้ามีลักษณะอ่อนนุ่ม ทิ้งตัวสวยงามอีกด้วย

6. การต้มละลายน้ำเทียน : หลังจากได้สีตามต้องการแล้ว ก่อนนำไปต้มน้ำเทียนให้นำผ้าไปล้างหรือผ่านน้ำสะอาดประมาณ 1 – 2 น้ำ เพื่อสังเกตการซึมของสีในเนื้อผ้า จากนั้นจึงนำไปต้มในน้ำร้อนที่ผสมด้วยผงซักฟอกเล็กน้อย (เพื่อทำความสะอาดและช่วยฟิกซ์สีไม่ให้สีตก) ซึ่งเทียนจะค่อยๆ ละลายออกจากเนื้อผ้า โดยขี้ผึ้งที่ได้จากการต้มลอกออกจากผืนผ้าเมื่อทิ้งไว้ให้เย็นจนกลายเป็นแผ่นขี้ผึ้ง สามารถนำมาใช้ในการทำน้ำเทียนสำหรับการพิมพ์บล็อกไม้และการเขียนเทียนในครั้งต่อๆ ไป หลังจากนั้นจึงนำผ้าไปแช่และล้างในน้ำเย็น ก่อนนำไปผึ่งให้แห้งและรีดให้เรียบเพื่อพร้อมต่อการใช้งาน



ข้อมูลแหล่งที่มา