ผ้าปะลางิงลายดอกต้นดองดึง

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ผ้าปะลางิงลายดอกต้นดองดึงเป็นผ้าปะลางิงผืนที่ 46 ที่ครูปิยะสร้างสรรค์ขึ้น หลังจากที่เริ่มต้นสร้างสรรค์ผ้าปะลางิงผืนแรกในปี พ.ศ. 2553 มีการสร้างโครงสร้างลายตามแบบผ้าจวนตานี คือการแบ่งโครงสร้างผืนผ้านุ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนตัวผ้า ส่วนล่องจวน และส่วนเชิงผ้า โดยมีการสร้างมิติของเนื้อผ้าด้วยการใช้ผ้ายกดอกลายแก้วชิงดวง และการใช้เทคนิคการลงสีประกอบการใช้บล็อกไม้และการเขียนเทียน โดดเด่นด้วยลวดลายดอกต้นดองดึง พันธุ์ไม่เลื้อยสมุนไพรที่พบมาในพื้นที่ภาคใต้ มีลักษณะคล้ายดอกกระดังงา

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องทอ
กลุ่มวัฒนธรรม :
มลายู
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 200 เซนติเมตร ยาว 120 เซนติเมตร
วัสดุ :
เส้นยืนฝ้าย เส้นพุ่งไหม ย้อมสีเคมี น้ำเทียนบริสุทธิ์ (ขี้ผึ้ง 100% ผสมกับเทียนแผ่น)
อายุ/ปีที่ผลิต :
2560
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : เทคนิคการทอยกดอกแบบเหยียบตะกอ และการสร้างมิติสีสันบนผืนผ้าด้วยการใช้บล็อกไม้ การเขียนเทียน และการใช้เทคนิคจับย้อม
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :
1. การคัดเลือกผ้า : ผ้าที่ใช้สำหรับทำผ้าปะลางิงมีหลายประเภทขึ้นอยู่กับความต้องการในการสร้างลวดลายและเนื้อสัมผัสบนผืนผ้า ซึ่งโดยทั่วไปมี 4 รูปแบบคือ

  1. ผ้าไหม : คือการใช้ไหมน้อย 100% มาทอเป็นผ้าพื้นสำหรับทำผ้าปะลางิงที่ทำจำลองตามแบบผ้าโบราณ
  2. ผ้าฝ้าย : คือการใช้ผ้าฝ้าย 100% มาทอเป็นผ้าพื้นสำหรับทำผ้าปะลางิง โดยผ้าในส่วนนี้ครูปิยะได้ทำโครงการพัฒนากระบวนการทอผ้าร่วมกับวิทยาลัยอาชีวศึกษา จ.ยะลา
  3. ผ้าฝ้ายแกมไหม : คือการใช้ผ้าฝ้ายเป็นเส้นยืน และผ้าไหมเป็นเส้นพุ่ง สำหรับการทอผ้าพื้นแบบผ้ายกดอก (แบบเหยียบตะกอ)
  4. ผ้าซาติน : คือการนำผ้าซาตินสำเร็จที่มีคุณสมบัติเรียบ ลื่น เป็นเงาสวย มาตัดตามขนาดที่ต้องการเพื่อทำเป็นผ้าพื้นสำหรับทำผ้าปะลางิง
    ซึ่งผ้าปะลางิงลายใบไม้สีทองผืนนี้มีความพิเศษตรงที่มีการใช้ผ้าพื้นที่ทอแบบยกดอก 4 ตะกอ ด้วยฝ้ายแกมไหม ทำให้ผ้ามีน้ำหนัก เงางาม และทิ้งตัวเวลาสวมใส่

2. การเตรียมผ้า : นำผ้าที่เตรียมไว้มาแช่น้ำรองย้อม (น้ำรองย้อมคือ การใช้คุณสมบัติตามธรรมชาติของพืชที่พบในท้องถิ่นเช่น เปลือกกล้วยหิน ใบหูกวาง ใบฝรั่ง มาทำเป็นน้ำรองย้อมที่ช่วยให้สีติดดียิ่งขึ้น) โดยนำผ้าที่แช่ไว้มาบีบ นวด ให้น้ำซึมเข้าไปในเส้นใยของผืนผ้า แช่ไว้ประมาณ 30 นาที แล้วนำไปตากให้หมาด

3. ทาสีพื้น : ขั้นตอนนี้คือการทำให้ผ้าที่เตรียมไว้มีสีเหลืองนวลสวยก่อนลงสีอื่นๆ ด้วยการนำผ้ามาขึงบนแท่นให้มีความตึงทั้ง 4 ด้านเท่า ๆ กัน จากนั้นทาสีพื้นที่เตรียมจากน้ำใบหูกวางจะทำให้ผ้ามีสีพื้นสีเหลืองนวลอ่อน ๆ ตามต้องการ

4. การลงสี : คือการลงสีบนผ้าที่ขึงไว้ตามช่องลายที่กำหนดตามสีที่กำหนดไว้ โดยใช้แปลงทางสีทาให้ทั่วบริเวณ โดยแต่ละสีอาจมีการลงสีประมาณ 2 – 3 ครั้ง ตามความเข้มของสีที่ต้องการ

5. การสร้างลายบนผื้นผ้า : กำหนดช่องลาย โทนสีและรูปแบบลวดลายและโครงสร้างผ้าตามที่ออกแบบไว้ และนำมาสร้างสรรค์ลวดลายเพื่อให้มีมิติสีและความหลากหลายตามเอกลักษณ์ของผ้าปะลาลิงคือความพริ้วไหว และมีสีสันงดงามราวกับสีรุ้ง
ซึ่งผ้าปะลางิงลายใบไม้สีทองมีการสร้างลายถึง 4 เทคนิคด้วยกันคือ

  1. การสร้างลายบนพื้นผิวผ้า : คือการสร้างลายด้วยการใช้เทคนิคการทอยกแบบ 4 ตะกอสร้างลวดลายบนผืนผ้าเป็นลายแก้วชิงดวง ซึ่งถือเป็นขั้นตอนแรกในการสร้างมิติของผิวสัมผัสบนพื้นผ้าก่อนนำไปเพิ่มมิติด้านสีสันในขั้นตอนต่อไป
  2. การสร้างลายด้วยการจุ่มย้อม : คือการสร้างมิติสีบนผืนผ้าด้วยการจับผ้าเป็นมุมตามขนาดหรือสัดส่วนที่ต้องการ และนำไปจุ่มย้อมในสีที่ต้องการเป็นจุดๆ เพื่อให้สีปรากฎลักษณะของการซึมลงไปในเนื้อผ้าที่มีการกระจายความเข้ม - อ่อน ตามธรรมชาติ ก่อนนำมาแต่งสีและเติมลวดลายด้วยการเขียนเทียนและการพิมพ์ด้วยบล็อกไม้
  3. การพิมพ์ลายด้วยบล็อกไม้ : คือการนำบล็อกไม้ที่ออกแบบลวดลายตามที่ต้องการผ่านการนำอัตลักษณ์ของแดนใต้มาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ ได้แก่
    - ลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมการกิน ได้แก่ ขนมบูดู ขนมไหว้พระจันทร์ ฯลฯ
    - ลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากการละเล่นในท้องถิ่น ได้แก่ การเล่นว่าว การเลี้ยงนก การสร้างสรรค์กรงนก ฯลฯ
    - ลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากงานสถาปัตยกรรมและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ได้แก่ ลายกระเบื้อง ลายช่องหน้าต่าง ช่องลม ลายฉลุข้างราวบันได ฯลฯ ที่ได้จากการสังเกตสถาปัตยกรรมโบราณในพื้นที่ ได้แก่ มัสยิด สถานที่ท่องเที่ยว วัด และวังเดิม เป็นต้น
    โดยครูปิยะจะออกแบบลวดลายบนกระดาษเพื่อพิจารณาการต่อลายที่สมบูรณ์ ก่อนนำไปแกะสลักลงบนไม้ที่มีความทนทานต่อความร้อน แข็งแรง ไม่ผุพังง่าย เช่น ไม้ขนุน ไม้มะม่วงป่า เป็นต้น ส่วนของแป้นไม้นิยมทำจากไม้เนื้อแข็ง และส่วนของด้ามจับนิยมทำจากไม้สัก เนื่องจากเป็นไม้ที่มีน้ำหนักช่วยเพิ่มน้ำหนักมือเมื่อนำไปกดสร้างลายลงบนผืนผ้า ซึ่งลักษณะบล็อกไม้ที่ออกแบบโดยครูปิยะมีลักษณะพิเศษคือ มีความเล็ก ละเอียด ไร้รอยต่อ ทำให้ในการพิมพ์ลายจึงได้เส้นที่คมชัดแม้ขนาดลายจะเล็กเพียงใดก็ตาม และยังสามารถนำมาประกอบและสร้างสรรค์ลายใหม่ๆ ได้หลากหลายรูปแบบ
  4. การสร้างลายด้วยการเขียนเทียน : คือการสร้างลายโดยการใช้จันติ้ง (Canting / Tjanting) ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเขียนเทียนขี้ผึ้งชนิดหนึ่ง ทำจากโลหะทองเหลืองหรือทองแดงและมีส่วนบรรจุน้ำเทียนเพื่อให้ผู้สร้างสรรค์สามารถวาดลายได้หลากหลายขนาดและมีความหนา - บาง ของเส้นเทียนตามที่ต้องการ สำหรับการสร้างลายโดยการเขียนเทียนของครูปิยะ นอกจากเป็นการวาดลายเส้นเป็นรูปต่างๆ ตามจินตนาการแล้ว ยังมีใช้จันติ้งลงเทียนเป็นแผ่น หรือจุดใหญ่ๆ ตามขนาดที่ต้องการ ทั้งนี้หากต้องการให้ตัวลายมีลักษณะคล้ายกับรอยแตกเพื่อให้สีย้อมซึมลงผืนผ้า เพื่อความสวยงามและความสมจริงของลวดลาย ลักษณะขี้ผึ้งที่ใช้ต้องมีความแข็งกว่าปกติเล็กน้อยเพื่อให้
    สามารถสร้างรอยแตกบนผิวเทียนได้
    ทั้งนี้หลังจากขั้นตอนการพิมพ์ด้วยบล็อกไม้ และการสร้างลายด้วยการเขียนเทียนด้วยขี้ผึ้ง 100% ผสมกับเทียนแผ่นด้วยการต้มจนร้อนและมีความเหลวได้ที่ เป็นขี้ผึ้งเนื้อละเอียดไม่มีกลิ่นแล้ว ผู้สร้างสรรค์จะมีการกำหนดจังหวะสีและลวดลายด้วยการนำไปต้มเทียนออกแล้วลงสีเป็นชั้นๆ เพื่อความสวยงามและเป็นการสร้างมิติสีบนพื้นผ้าที่สร้างสรรค์ด้วยมือทุกขั้นตอน

6. การต้มละลายน้ำเทียน : หลังจากลงสีตามต้องการแล้ว ก่อนนำไปต้มน้ำเทียนให้นำผ้าไปล้างหรือผ่านน้ำสะอาดประมาณ 1 – 2 น้ำ เพื่อสังเกตการซึมของสีในเนื้อผ้า จากนั้นจึงนำไปต้มในน้ำร้อนที่ผสมด้วยผงซักฟอกเล็กน้อย (เพื่อทำความสะอาดและช่วยฟิกซ์สีไม่ให้สีตก) ซึ่งเทียนจะค่อยๆ ละลายออกจากเนื้อผ้า โดยขี้ผึ้งที่ได้จากการต้มลอกออกจากผืนผ้าเมื่อทิ้งไว้ให้เย็นจนกลายเป็นแผ่นขี้ผึ้ง สามารถนำมาใช้ในการทำน้ำเทียนสำหรับการพิมพ์บล็อกไม้และการเขียนเทียนในครั้งต่อๆ ไป หลังจากนั้นจึงนำผ้าไปแช่และล้างในน้ำเย็น ก่อนนำไปผึ่งให้แห้งและรีดให้เรียบเพื่อพร้อมต่อการใช้งาน



ข้อมูลแหล่งที่มา