เทคนิคที่ใช้ : การบุและการตีขึ้นรูป
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :
ก่อนที่จะเริ่มขั้นตอนแรกนั้นช่างจะต้องใช้ขี้เถ้าแกลบผสมกับดินเหนียวแล้วปั้นเป็นเบ้า โดยดินเหนียวที่จะนำมาปั้นเป็นตัวเบ้าต้องมีคุณลักษณะเป็นดินเหนียวพิเศษไม่มีสิ่งเจือปน เรียกว่า “ดินกลางใจเมือง” มาผสมให้เข้ากันแล้วปั้นเป็นเบ้า นำไปตากแดดให้แห้งเพื่อนำไปใช้สำหรับใส่ดีบุกกับทองแดงหลอมในเตาเผา มีขั้นตอนการผลิตขันลงหินดังนี้
- หลอมตีขึ้นรูป โดยนำวัตถุดิบ คือ ดีบุกผสมกับทองแดงในอัตราส่วน 7 ต่อ 2 แล้วใส่ในเบ้า ก่อนจะนำไปใส่ในเตาแล้วใช้ถ่านกลบ ถ่านที่ใช้สำหรับหลอมจะต้องเป็นถ่านที่ได้จากต้นไม้ใหญ่เมื่อนำมาเผาไฟถ่านจะไม่แตกเม็ดไฟซึ่งในสมัยโบราณใช้ถ่านจากไม้ซากแต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นถ่านไม้ยาง เมื่อหลอมดีบุกกับทองแดงจนผสมเป็นเนื้อเดียวกันแล้ว นำมาเทใส่แป้นรองรับเรียกว่า “ดินงัน” เพื่อให้เนื้อสำริดที่หลอมรวมตัวกันเป็นก้อน นำสำริดที่เป็นก้อนมาเผาให้แดงแล้วตีรีดไปเรื่อย ๆ ซึ่งในขั้นตอนการตีขึ้นรูปนั้นไม่ได้ตีขึ้นรูปครั้งละก้อนแต่ต้องตีครั้งละ 5-6 ก้อน เนื่องจากการตีทีละก้อนเนื้อสำริดที่หลอมมาจะขาดต้องใช้ 5-6 ก้อนวางซ้อนกันทุบรีดไปเรื่อย ๆ เทคนิคสำคัญในขั้นตอนนี้ คือ ต้องนำก้อนสำริดที่ได้คอยเผาไฟให้แดงแล้วทุบรีดเนื่องจากไฟจะทำให้ก้อนสำริดมีความอ่อนตัวลงจนช่างสามารถตีรีดเนื้อสำริดให้ขึ้นรูปเป็นขันได้
- การลายขัน นำขันมาตีเก็บลายค้อน ก่อนการตีขันต้องใช้เขม่าก้นหม้อทาให้ทั่วใบเพื่อให้เห็นรอยที่ยังไม่เรียบ ขั้นตอนนี้ช่างที่ตีขันต้องวางขันบน “กะล่อน” มีลักษณะเป็นท่อนเหล็ก โดยใช้เทคนิคสำคัญ คือ ต้องให้กะล่อนกับค้อนตีนั้นวางตรงกันหากวางไม่ตรงกันแล้วเมื่อตีไปขันจะแตก เมื่อลายเสร็จแล้วจึงใช้เขม่าหม้อทาลงไปบนขันทั้งด้านใน ด้านนอก อีกครั้งหนึ่งเพื่อให้ผิวของขันดำสวย
- การกรอ เก็บขอบปาก ในขั้นตอนการกรอเก็บขอบนั้นต้องใช้ “ภมร” สำหรับหมุนขันเพื่อทำการกรอเก็บขอบปากขัน ใช้ชันยาเรือ ไขวัว ผสมให้เข้ากันก่อนจะนำมาทาที่ภมรเมื่อแข็งตัวจะเป็นตัวยึดระหว่างภมรกับขันซึ่งปัจจุบันใช้มอเตอร์ในการทำให้ภมรหมุน ไม่ได้ใช้คนชักเหมือนดังเช่นในสมัยโบราณ เมื่อภมรหมุนจึงเริ่มใช้ตะไบถูไปที่บริเวณขันกรอให้ขันกลมได้ที่พร้อมกับให้ผิวด้านในของขันเรียบที่สุด จากนั้นจึงตะไบที่บริเวณปากของขันให้มีผิวขอบที่เรียบขึ้นเช่นเดียวกัน
- การกลึง ใช้เหล็กที่มีความคมมาติดกับตะไบเพื่อเป็นตัวกลึงให้เนื้อขันด้านในมีผิวที่บางเรียบที่สุด กลึงผิวที่ทาด้วยเขม่าด้านในที่มีลักษณะไม่เรียบของขันออกจนมีผิวสีทองสด จากนั้นจึงเริ่มขั้นตอนการขัดเงาต่อไป
- การเจียร การขัดเงา หลังจากเสร็จขั้นตอนการกลึงแล้วจึงเข้าสู่ขั้นตอนขัดเงาด้วยวิธีการลงหิน โดยนำเบ้าที่นำมาเผาในขั้นตอนที่ 1 มาทุบให้ละเอียดแล้วใช้เศษหินที่เกิดจากการทุบนี้มาคลุกด้วยน้ำมันมะพร้าวลงไปเล็กน้อยเพื่อเป็นตัวหล่อลื่นก่อนรองด้วยผ้า เมื่อภมรหมุนจึงนำหินที่รองด้วยผ้าลงขัดบริเวณด้านในของขันให้เนื้อผิวของขันลงหินเกลี้ยงมีสีทองสดลบรอยที่เหลืออยู่บนผิวของขันในขั้นตอนก่อนหน้านี้ คนโบราณจึงเรียกชื่อ “ขันลงหิน” เนื่องด้วยวิธีการทำในขั้นตอนนี้นั่นเอง การเจียร ขัดผิว นำขันลงหินที่ขัดเสร็จแล้วในขั้นตอนที่ 4 มาเจียรเก็บรอยผิวภายในขันให้มีความเรียบมากที่สุดเมื่อเจียรเก็บรอยจนเกลี้ยงเกลาดีแล้วจึงใส่ลูกขัดทรายติดที่ลูกหมุนของมอเตอร์ขัดด้านในของขันลงหินอีกครั้งหนึ่งซึ่งในขั้นตอนการขัดด้วยลูกขัดทรายนั้นต้องระวังไม่ลงน้ำหนักบนขันลงหินมากเกินไปเนื่องจากผิวโลหะมีความบางอาจจะแตกหรือทะลุได้ ก่อนที่ขั้นตอนการขัดผิวจะจบลงต้องขัดเพื่อเพิ่มความเงางามอีกครั้งหนึ่งด้วยลูกขัดผ้าเพื่อให้ผิวของขันลงหินเรียบสนิทมีความเงางามมากที่สุด
- การสลักลาย ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่มีเสริมขึ้นมาจากในอดีตเพื่อเพิ่มคุณค่าของขันลงหิน เริ่มจากการสลักลายลงบนขันลงหินโดยต้องใช้เหล็กในการขูดเป็นเส้นตามลายที่ช่างต้องการตอกลงไปบนขันลงหิน โดยลายที่ได้รับความนิยมนำมาตอกลงบนขันลงหิน ได้แก่ ลายกระหนกระย้า ลายเทพพนม ลายน้ำมะลิวัลย์ เป็นต้น