ปิ่นปักผมปลายฉัตร

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

“ปิ่นปักผมปลายฉัตร” เป็นเครื่องประดับทองโบราณพัฒนามาจากการนำฐานของงานกระดุม มาเรียงซ้อนกัน เป็นยอดฉัตร ตกแต่งออกแบบสายระย้าปิ่นด้วยการฝังอัญมณีนพเก้าเพื่อความสวยงามและเพิ่มสิริมงคลให้แก่ผู้สวมใส่

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องโลหะ
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
ยาว 10 ซม.
วัสดุ :
ทำจากทองคำแท้ 96.5%
อายุ/ปีที่ผลิต :
2564
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : งานเครื่องประดับทองโบราณ
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :

  1. การหลอมทอง : นำทองคำบริสุทธิ์มาหลอมในเบ้าหลอม เนื่องจากทองคำมีความยืดหยุ่นสูงและง่ายต่อการขึ้นรูป โดยเครื่องมือที่ใช้ยังคงเป็นเครื่องมือที่ใช้มาตั้งแต่อดีต เช่น โต๊ะทำทอง ทั่ง ค้อน กรรไกร ไม้พัน เป่าแล่น เป็นต้น
  2. การตีขึ้นรูปทอง : จากนั้นจึงนำทองที่หลอมแล้ว ขึ้นรูปด้วยการตีทองหรือแผ่ทอง ชักลวด ทำไข่ปลา จากนั้นจึงนำส่วนต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกันโดยใช้วิธีการสานทอง ถัก และเชื่อมประกอบส่วนต่าง ๆ แล้วแต่ลวดลาย ประกอบด้วย ลายปะวะหล่ำ และลายดอกพิกุล
  3. การชักลวด : การชักลวดจะเป็นวิธีการทำทองให้เป็นเส้นลวดขนาดต่าง ๆ กัน  นำลวดทองผ่านการชักลวดในช่องที่ใหญ่ที่สุดมาดำเนินการชักลวดต่อในรูซึ่งเล็กถัดลงมาโดยนำลวดทองไปให้ความร้อน เพื่อให้ทองอ่อนตัว จากนั้นใช้ขี้ผึ้งแท้ถูลวดทองตลอดเส้น นำไปชักลวดผ่านแป้นชักโดยการนำปลายข้างที่ตีให้แหลมใส่ในรูของแป้นใหญ่ที่ จนได้ลวดทองคำซึ่งมีๆขนาดที่ช่างต้องการ
  4. การทำไข่ปลา : ไข่ปลาเป็นชื่อเรียกทองคำทรงกลมขนาดเล็กเท่าไข่ปลาตะเพียน ช่างจะตัดลวดทองคำขนาดเล็กเป็นท่อนเล็กๆ แล้วเป่าแล่น (ให้ความร้อน)  ทองจะหลอมละลายเป็นรูปไข่ปลา
  5. การประกอบทองรูปพรรณ : เป็นขั้นตอนซึ่งช่างทองจะนำส่วนต่างๆ ซึ่งผ่านกรรมวิธีในขั้นต้นซึ่งอาจจะเป็นทองที่หลอมเตรียมทำแหวน ทองแผ่น ลวดทองคำขนาดต่าง ๆ ไข่ปลาขนาดต่าง ๆ นำมาประกอบตามกรรมวิธีของทองรูปพรรณแต่ละแบบ โดยวิธีการทำดังนี้ การสาน/การดัดเคาะโลหะขึ้นรูป/การแกะและการดุน /การฉลุ /การติดผลึก /การฝังผลึก /การเกาะ
  6. การเชื่อมประกอบ : จากนั้นนำส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ขึ้นรูปเรียบร้อยแล้ว นำไปประกอบเข้าด้วยกัน เชื่อมติดกันด้วยน้ำประสาน ซึ่งเป็นน้ำที่ได้มาจากการผสมกันของ ทอง ทองแดง และทองเหลือง ซึ่งขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำทองเพชรบุรี คือ “การควมคุมไฟ” โดยช่างทองต้องรู้จักการใช้ไฟเพื่อควบคุม ซึ่งถือเป็นเทคนิคเชิงช่างที่ต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝน เพราะหากใช้ไฟไม่ถูกวิธี อาจทำให้น้ำประสานจะไม่เคลื่อนตัวทำให้ทองไม่เชื่อมต่อกัน หรือถ้าใช้ไฟแรงเกินไปอาจทำให้ทองละลายได้
  7. การต้มทองและย้อมทอง : เมื่อได้ทองรูปพรรณแล้ว จึงนำทองมาต้มและย้อมทอง เพื่อทำความสะอาดทองรูปพรรณให้ปราศจากน้ำประสานทองที่ติดอยู่ตามขอบต่างๆ ในระหว่างการทำทองรูปพรรณ ส่วนในการย้อมทอง เป็นการทำทองให้มีสีสวย มีความสุกปลั่งยิ่งขึ้น
ข้อมูลแหล่งที่มา