ต่างหูกระดุม

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

“ต่างหูลายกระดุม” เป็นลวดลายที่มีลักษณะรูปทรงคล้ายกับดอกบัวสัตตบงกช ในสมัยก่อนเครื่องประดับทองโบราณทรงกระดุมใช้สำหรับเป็นกระดุมกลัดเสื้อราชปะแตน ซึ่งต่อมาได้นำมาทำเป็นเครื่องประดับ สร้อยคอ กำไลข้อมือ แหวน และต่างหู ลายกระดุมจะมีส่วนประกอบสองส่วน คือ ส่วนฐานและส่วนยอด ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะต้องใช้ความประณีตเป็นอย่างมาก ส่วนฐานต้องทำให้ได้ขนาดที่สมส่วน และการขึ้นส่วนยอดต้องขึ้นให้มีขนาดสมดุลกับฐาน

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องโลหะ
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
หน้าแหวน 1.7 ซม.
วัสดุ :
ทำจากทองคำแท้ 96.5%
อายุ/ปีที่ผลิต :
2564
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : การเป่าไข่ปลา
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :

  1. การหลอมทอง : นำทองคำบริสุทธิ์มาหลอมในเบ้าหลอม เนื่องจากทองคำมีความยืดหยุ่นสูงและง่ายต่อการขึ้นรูป โดยเครื่องมือที่ใช้ยังคงเป็นเครื่องมือที่ใช้มาตั้งแต่อดีต เช่น โต๊ะทำทอง ทั่ง ค้อน กรรไกร ไม้พัน เป่าแล่น เป็นต้น
  2. การตีขึ้นรูปทอง : จากนั้นจึงนำทองที่หลอมแล้ว ขึ้นรูปด้วยการตีทองหรือแผ่ทอง ชักลวด ทำไข่ปลา จากนั้นจึงนำส่วนต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกันโดยใช้วิธีการสานทอง ถัก และเชื่อมประกอบส่วนต่าง ๆ แล้วแต่ลวดลาย ประกอบด้วย ลายปะวะหล่ำ และลายดอกพิกุล
  3. การขึ้นรูปทรงกระดุม : การขึ้นรูปแบ่งเป็น 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนฐาน และส่วนยอด
    - ส่วนฐาน : ให้นำลวดทองขนาดเล็กมาทำเป็นโครงดอกจันดอกใหญ่ 1 ดอก และดอกเล็ก 1 ดอก ในกลีบดอกจันดอกใหญ่แต่ละกลีบจะใช้ดอกจันชนิดมีหางปลาและเกสรทำด้วยไข่ปลาติดเข้าไปที่โครงกลีบดอกแต่ละดอก จากนั้นนำดอกจันเล็กไปติดซ้อนกับดอกจันใหญ่ โดยให้เกสรอยู่ในตำแหน่งเดียวกัน นำไปขึ้นรูปเป็นทรงโค้ง หรือเรียกว่า “การโอ” โดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่ากระทะในการดัดลวดให้เป็นทรงโค้ง จากนั้นตัดแป่นทองเป็นวงกลมให้มีขนาดพอดีกับกลีบดอกที่ดัดโค้งเอาไว้ นำแผ่นทองไปปิดด้านบนดอกจัน
    - ส่วนยอด : จะใช้ลวดทองขนาดเล็กนำมาม้วนให้กลมโดยใช้ลวดพันกับแท่งเหล็กขนาดเล็ก ให้มีลักษณะคล้ายกับลวดสปริง จากนั้นนำลวดที่พันแล้วมาม้วนเป็นวงกลมทีละวง แล้วนำมาวางซ้อนกันให้สูงขึ้นเป็นรูปกรวยคว่ำ โดยวงใหญ่ที่สุดจะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากับขนาดของส่วนฐานแล้วเรียงขึ้นไปเรื่อย ๆ ส่วนของสุดของกระดุมจะประดับด้วยไข่ปลา
  4. การเชื่อมประกอบ : จากนั้นนำส่วนประกอบต่าง ๆ ที่ขึ้นรูปเรียบร้อยแล้ว นำไปประกอบเข้าด้วยกัน เชื่อมติดกันด้วยน้ำประสาน ซึ่งเป็นน้ำที่ได้มาจากการผสมกันของ ทอง ทองแดง และทองเหลือง ซึ่งขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำทองเพชรบุรี คือ “การควมคุมไฟ” โดยช่างทองต้องรู้จักการใช้ไฟเพื่อควบคุม ซึ่งถือเป็นเทคนิคเชิงช่างที่ต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝน เพราะหากใช้ไฟไม่ถูกวิธี อาจทำให้น้ำประสานจะไม่เคลื่อนตัวทำให้ทองไม่เชื่อมต่อกัน หรือถ้าใช้ไฟแรงเกินไปอาจทำให้ทองละลายได้
  5. การต้มทองและย้อมทอง : เมื่อได้ทองรูปพรรณแล้ว จึงนำทองมาต้มและย้อมทอง เพื่อทำความสะอาดทองรูปพรรณให้ปราศจากน้ำประสานทองที่ติดอยู่ตามขอบต่างๆ ในระหว่างการทำทองรูปพรรณ ส่วนในการย้อมทอง เป็นการทำทองให้มีสีสวย มีความสุกปลั่งยิ่งขึ้น
ข้อมูลแหล่งที่มา