ต่างหูเต่าร้าง

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

“ต่างหูเต่าร้าง” เป็นเครื่องประดับทองโบราณสกุลช่างเพชรบุรี แรงบันดาลใจจากต้นเต่าร้างที่มีพวงระย้า ตกแต่งด้วยทำด้วยดอกพิกุล
5 ดอก ประกอบเข้ากับฐานโอ และที่ปลายระย้ามีใบพายทองคำตีแบนทำเรียวแหลม 9 ใบ

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องโลหะ
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
ยาว 2 นิ้ว
วัสดุ :
ทำจากทองคำแท้ 96.5%
อายุ/ปีที่ผลิต :
2564
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้: การขดลวดขึ้นรูปต่างหูทองโบราณ
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :

  1. การหลอมทอง: นำทองคำบริสุทธิ์มาหลอมในเบ้าหลอม แล้วใช้ไฟเป่าให้ความร้อนจนทองคำหลอมละลายเป็นของเหลว จึงเททองลงในแบบพิมพ์ซึ่งเป็นรางเหล็กขนาดเท่าดินสอดำ เนื่องจากทองคำมีความยืดหยุ่นสูงและง่ายต่อการขึ้นรูป โดยช่างทองจะใช้กระดองของปลาหมึกกระดองแกะเป็นแบบพิมพ์สำหรับหลอมทอง
  2. การตีขึ้นรูปทอง: จากนั้นจึงนำทองที่หลอมแล้ว ขึ้นรูปด้วยการตีทองหรือแผ่ทอง ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายการหยดน้ำบนใบบัว การตีทองจะใช้ทั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีหน้าตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า และใช้ค้อนเหล็กที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในการตีทอง การตีทองหากใช้กำลังในการตีทองไม่สม่ำเสมอและออกแรงไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ผิวของทองไม่เรียบเสมอกัน ภาษาของช่างทองเรียกว่า “บ้าเหลี่ยม” ส่วนการใช้ค้อนนั้นอาจใช้หน้าค้อนทั้งสองหน้าในการตีทองก็ได้
  3. การขึ้นทรงต่างหูพวงเต่าร้าง: ลักษณะเหมือนส่วนฐานของกระดุมคว่ำลง แล้วติดห่วงกลมที่เกสรของดอกจันดอกใหญ่เพื่อใช้แขวนกับลวดเกี่ยวหู ส่วนปลายของกลีบดอกใหญ่จะใช้ห่วงเล็ก ๆ ติดปลายกลีบทีละห่วง และจะติดดอกจันดอกเล็ก ๆ จำนวน 4 ดอกเชื่อมต่อกันด้วยห่วงกลมเล็ก ๆ ที่สุดปลายของตุ้งติ้งจะใช้แผ่นทองแบบตัดเป็นรูปข้าวหลามติดติดเอาไว้ ความยากอยู่ที่ขั้นตอนของการทำฐานเป็นโอ ซึ่งต้องจัดโอให้ดีเพื่อให้ตุ้งติ้งที่ห้อยลงมาแต่ละเส้นนั้นมีระยะห่างเท่า ๆ กัน
  4. การควบคุมไฟ: จากนั้นจึงนำส่วนต่าง ๆ มาประกอบเข้าด้วยกันโดยใช้วิธีการสานทอง ถัก และเชื่อมประกอบส่วนต่าง ๆ แล้วแต่ลวดลาย ซึ่งขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำทองเพชรบุรี คือ “การควมคุมไฟ” โดยช่างทองต้องรู้จักการใช้ไฟเพื่อควบคุม ซึ่งถือเป็นเทคนิคเชิงช่างที่ต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝน เพราะหากใช้ไฟไม่ถูกวิธี อาจทำให้น้ำประสานจะไม่เคลื่อนตัวทำให้ทองไม่เชื่อมต่อกัน หรือถ้าใช้ไฟแรงเกินไปอาจทำให้ทองละลายได้
  5. การต้มทองและย้อมทอง: เมื่อได้ทองรูปพรรณแล้ว จึงนำทองมาต้มและย้อมทอง เพื่อทำความสะอาดทองรูปพรรณให้ปราศจากน้ำประสานทองที่ติดอยู่ตามส่วนต่างๆ ในระหว่างการทำทองรูปพรรณ ส่วนในการย้อมทอง เป็นการทำทองให้มีสีสวย มีความสุกปลั่งยิ่งขึ้น
ข้อมูลแหล่งที่มา