“แหวนกระดุม” เป็นเครื่องประดับทองโบราณใช้ทักษะการขดขึ้นรูปทรงที่ละเอียดกว่าแบบอื่น ๆ จึงต้องใช้ทองที่มีเปอร์เซ็นต์สูง (ประมาณ 96.5% หรือ 99.99%) ซึ่งเป็นทองที่สุกพอสมควร เพราะทองจะมีลักษณะนิ่ม ขึ้นรูปได้ง่าย ลายกระดุมจะมีส่วนประกอบ 2 ส่วน คือ ส่วนฐานและส่วนยอด ซึ่งทั้งสองส่วนนี้จะต้องใช้ความประณีตเป็นอย่างมาก ส่วนฐานต้องทำให้ได้ขนาดที่สมส่วน และ การขึ้นส่วนยอดต้องขึ้นให้สวย มีขนาดสมดุลกับฐาน ไม่เตี้ยหรือสูงเกินไป
เอกลักษณ์ที่เด่นชัดของเครื่องทองเพชรบุรี คือ ลวดลายที่เกิดจากการเลียนแบบธรรมชาติ เช่น การเลียนแบบสัตว์ พืช
วัตถุมงคล เป็นต้น และนิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับ สร้อยคอ ต่างหู จี้ สร้อยข้อมือ แหวน กำไล กระดุม และสายสะพายแล่ง เป็นต้น
เครื่องทองเมืองเพชรบุรี มีหลักฐานปรากฏมาตั้งแต่ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 โดยช่างทองในสมัยนั้นจะมีพื้นฐานเป็นช่างเขียน หรือเป็นช่างทำทองเหลืองมาก่อน ในสมัยก่อนนั้นช่างทองเมืองเพชรส่วนใหญ่จะถ่ายทอดความรู้และทักษะการทำทองให้กับบุคคลในครอบครัวเท่านั้น เนื่องจากเครื่องประดับทองคำเป็นงานที่มีมูลค่าสูงและการทำจะต้องใช้เวลาในการฝึกฝน ใช้ความอดทน ความละเอียด และความประณีตอย่างมาก ช่างทำทองนั้นจะต้องมีสายตาที่ดี และมีสมาธิในการทำค่อนข้างมาก ด้วยความประณีตชั้นสูงนี้เองทำให้เครื่องทองเมืองเพชรกลายเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง และเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน