สร้อยหกเสา

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

“สร้อยหกเสา” เป็นเครื่องประดับทองโบราณสกุลช่างเพชรบุรี ที่นิยมใช้เป็นสร้อยคอหรือสายสะพายแล่ง ลวดลายเกิดจากเทคนิคของการนำเส้นทองมาถักและสานจนเป็นลวดลาย ความละเอียดของการถักสานสร้อยขึ้นอยู่กับจำนวนห่วงทองที่ใช้ในการสาน โดยสานทีละห่วงซึ่งทำให้เส้นทองงอตัวได้ดี

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องโลหะ
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
ยาว 30 ซม.
วัสดุ :
ทำจากทองคำแท้ 96.5% หรือ 99.99%
อายุ/ปีที่ผลิต :
2562
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ :  การถักสานทอง
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :

  1. การหลอมทอง : นำทองคำบริสุทธิ์มาหลอมในเบ้าหลอม ใช้ไฟเป่าให้ความร้อนจนทองคำหลอมละลายเป็นของเหลว จึงเททองลงในแบบพิมพ์ซึ่งเป็นรางเหล็กขนาดเท่าดินสอดำ เนื่องจากทองคำมีความยืดหยุ่นสูงและง่ายต่อการขึ้นรูป โดยเครื่องมือที่ใช้ยังคงเป็นเครื่องมือที่ใช้มาตั้งแต่อดีต เช่น โต๊ะทำทอง ทั่ง ค้อน กรรไกร ไม้พัน เป่าแล่น เป็นต้น
  2. การขึ้นรูปทอง : จึงนำทองที่หลอมแล้ว แกะออกจากพิมพ์ทอง  ขึ้นรูปด้วยการตีทองหรือแผ่ทอง การตีทองจะใช้ทั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีหน้าตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ใช้ค้อนเหล็กที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในการตีทอง การตีทองหากใช้กำลังในการตีทองไม่สม่ำเสมอและออกแรงไม่สม่ำเสมอ จะทำให้ผิวของทองไม่เรียบเสมอกัน ภาษาของช่างทองเรียกว่า “บ้าเหลี่ยม” ส่วนการใช้ค้อนนั้นอาจใช้หน้าค้อนทั้งสองหน้าในการตีทองก็ได้
  3. การวัดขนาดเส้นทอง : เริ่มจากการชักลวด ซึ่งเป็นวิธีการทำทองให้เป็นเส้นลวดขนาดต่าง ๆ กัน โดยนำลวดทองผ่านการชักลวดในช่องที่ใหญ่ที่สุดมาดำเนินการชักลวดต่อในรูซึ่งเล็กถัดลงมาโดยนำลวดทองไปให้ความร้อน เพื่อให้ทองอ่อนตัว จากนั้นใช้ขี้ผึ้งแท้ถูลวดทองตลอดเส้น นำไปชักลวดผ่านแป้นชักโดยการนำปลายข้างที่ตีให้แหลมใส่ในรูของแป้นใหญ่ที่ จนได้ลวดทองคำซึ่งมีๆขนาดที่ช่างต้องการโดยเริ่มจากการวัดขนาดเส้นทองตามความยาวที่ต้องการ โดยสร้อยสี่เสาจะต้องชักลวดให้มีความยาว 14 ส่วนของขนาดที่ต้องการ สร้อยหกเสาจะต้องชักลวดยาว 32 ส่วนของความยาวที่ต้องการ ส่วนสร้อยแปดเสาจะต้องชักลวดลาว 58 ส่วนของความยาวที่ต้องการ
  4. การขึ้นห่วงถักสานสร้อย : เมื่อได้ขนาดตามที่ต้องการแล้วนำเส้นทองมาม้วนบนแกนเหล็ก ตัดเป็นห่วงกลมแล้วเป่าแล่นเพื่อเชื่อมให้เป็นห่วงแต่ละห่วง จากนั้นจึงนำแต่ละห่วงมาสานและขัดกันเป็นสร้อยสี่เสา สร้อยหกเสา หรือสร้อยแปดเสา
  5. ความแตกต่างของสร้อย : ทั้ง 3 แบบอยู่ที่การขึ้นลายในครั้งแรก หากเริ่มขึ้นลายโดยใช้ห่วงบีบตรงกลางให้ห่วงเกือบติดกันคล้ายห่วง 2 ห่วง จากนั้นเริ่มขึ้นลายทีละ 4 ห่วง จะเรียกว่าสร้อยสี่เสา หากขึ้นลายทีละ 6 ห่วง เรียกว่าสร้อยหกเสา และหากขึ้นลายทีละ 8 ห่วง ก็จะเรียกว่า สร้อยแปดเสา ข้อดีของการถักสร้อยทีละห่วงในลักษณะเช่นนี้จะทำให้สร้อยทองนั้นงอตัวได้ดี ม้วนได้ ไม่แข็ง หรือถ้าหากเกิดส่วนใดส่วนหนึ่งชำรุด สามารถนำมาแก้ไขเป็นจุด ๆ ได้
  6. การควบคุมไฟ : ขั้นตอนที่ยากที่สุดในการทำทองเพชรบุรี คือ “การควมคุมไฟ” โดยช่างทองต้องรู้จักการใช้ไฟเพื่อควบคุมให้พอเหมาะ ซึ่งถือเป็นเทคนิคเชิงช่างที่ต้องใช้ระยะเวลาในการฝึกฝน เพราะหากใช้ไฟไม่ถูกวิธี อาจทำให้น้ำประสานจะไม่เคลื่อนตัวทำให้ทองไม่เชื่อมต่อกัน หรือถ้าใช้ไฟแรงเกินไปอาจทำให้ทองละลายได้
  7. การต้มทองและย้อมทอง : เมื่อได้ทองรูปพรรณแล้ว จึงนำทองมาต้มและย้อมทอง เพื่อทำความสะอาดทองรูปพรรณให้ปราศจากน้ำประสานทองที่ติดอยู่ตามส่วนต่างๆ ในระหว่างการทำทองรูปพรรณ ส่วนในการย้อมทอง เป็นการทำทองให้มีสีสวย มีความสุกปลั่งยิ่งขึ้น
ข้อมูลแหล่งที่มา