งานเครื่องรัก หรือที่ชาวเหนือนิยมเรียกว่า เครื่องเขิน ตามกลุ่มช่างฝีมือชาวไทเขินผู้นำงานหัตถศิลป์แขนงนี้เข้ามาเผยแพร่ในอาณาจักรล้านนา แต่เดิมเป็นงานช่างฝีมือโบราณ ที่นำยางสีดำจากต้นรักมาเคลือบลงบนวัสดุเครื่องใช้ และภาชนะต่างๆ ที่มีโครงสร้างหลักเป็นไม้ หรือไม้ไผ่สาน เพื่อเสริมความทนทาน ป้องกันน้ำรั่วซึม และเพิ่มความเงางาม จนกระทั่งพัฒนาเป็นงานศิลปหัตถกรรมไทยทางภาคเหนือ ซึ่งครูมานพเป็นชาวเหนือคนหนึ่งที่ได้ฝึกฝนงานช่างแขนงนี้จนเชี่ยวชาญ จนกระทั่งได้มีโอกาสต่อยอดทักษะเรียนรู้เทคนิคพิเศษของเครื่องรักแบบญี่ปุ่น การตกแต่งรักสี ติดเปลือกไข่ รวมถึงประดับเปลือกหอยมุก ซึ่งถือเป็นองค์ความรู้ที่ช่วยปูทางสู่การต่อยอดสร้างสรรค์ ปรับเทคนิคการทำเครื่องรักมาแบบยุโรปที่มีมิติด้านรูปทรงที่ไม่ได้มีกรอบ ฉีกกฎการทำเครื่องรักในเมืองไทยโดยสิ้นเชิง จนมีผู้นิยามชิ้นงานของครูมานพว่า “โมเดิร์นรัก” สร้างผลงานจากงานเฟอร์นิเจอร์ ไปจนถึงงานเครื่องประดับได้ตั้งแต่ขนาดของต่างหู แหวน กำไล ไปจนถึงชิ้นงานขนาด 3 เมตรได้ โดยสามารถใช้วัสดุอื่น เช่น เปลือกไข่ มุก และรัตนชาติมาประดับลงบนพื้นผิวที่หลากหลายขึ้น ทั้งโลหะ กระเบื้อง ทองเหลือง ทองแดงเหล็ก สแตนเลส แผ่นยิปซั่ม ที่ไม่จำกัดแค่วัสดุทำจากไม้เหมือนในอดีต
การสร้างสรรค์ผลงานของครูมานพแต่ละชิ้น ล้วนใช้เวลาอย่างการทำงานอย่างยาวนาน แต่ครูมานพก็ยังคงยึดมั่นการรักษามาตรฐานของตนเอง ด้วยความใส่ใจในรายละเอียดในทุกขั้นตอน ตั้งแต่กระบวนการออกแบบให้เป็นงานร่วมสมัย การคัดสรรวัตถุดิบ การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ ตลอดจนเลือกใช้เทคนิควิธีที่หลากหลายในการสร้างสรรค์ชิ้นงาน ซึ่งในหนึ่งชิ้นงานอาจใช้เทคนิควัสดุและรูปทรงที่แตกต่างกันไป ทำให้ชิ้นงานของครูมานพเป็นศิลปะชิ้นพิเศษชิ้นเดียวไม่ซ้ำแบบ เช่นเดียวกับศิลปินที่จะสร้างสรรค์ผลงานชิ้นใหม่ ๆ อยู่เสมอ จึงทำให้ผลงานทุกชิ้นของครูมานพงดงามทรงคุณค่าและสร้างมูลค่าได้ไปพร้อมกัน