แจกันลงรักสไตล์ญี่ปุ่น

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

แจกันลงรักสไตล์ญี่ปุ่น เป็นชิ้นงานศิลปะเครื่องรักที่ครูมานพพัฒนาขึ้นจากภูมิปัญญางานหัตถกรรมเครื่องรักที่นิยมทำขึ้นทางภาคเหนือของไทย ฉีกแนวเครื่องเขิน (ภาชนะ เครื่องมือ หรือ ของใช้ของ ที่ทำขึ้นโดยผู้มีเชื้อสายสืบมาจากไทเขินแต่โบราณ) แบบไทยโบราณ ให้เป็นงานศิลปะสไตล์โมเดิร์นผสมผสานรูปแบบศิลปะภาชนะของญี่ปุ่น ที่นิยมนำสีแดงวาดลวดลายตัดกับสีดำ กลายเป็นชิ้นงานศิลปะที่งดงามถูกใจนักสะสมผลงานศิลปะไปทั่วโลก

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องรัก
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
สูง 14 เซนติเมตร เส้นรอบวง 47 เซนติเมตร
วัสดุ :
1. แจกันไม้สัก 2. ดินสอพอง 3. รัก 4. สีฝุ่น 5. น้ำมันพืช 6. น้ำมันสน 7. ผงไทเทเนียม 8. สำลี
อายุ/ปีที่ผลิต :
2566
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : การเคลือบยางรัก
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :

  1. การเตรียมรัก : นำยางรักดิบไปตากแดดให้ร้อนเพื่อให้รักละลาย แล้วนำมากรองด้วยผ้าซับใน โดยรอบแรกจะกรองด้วยผ้าขาวบาง 1 ชั้น รอบที่สองกรองด้วยผ้าขาวบางพับทบกัน 4 ชั้น และรอบที่สามกรองด้วยผ้าขาวบางพับทบกันอีก 8 ชั้น ในขึ้นตอนนี้ครูมานพได้พัฒนาเครื่องมือบีบยางรักจากผ้าขาวบางที่ขึงตรึงสองฝั่งบีบม้วนให้ยางรักไหลผ่านผ้าขาวบาง เพื่อช่วยทุ่นแรงในการเตรียมยางรักที่ใส ไม่มีสิ่งจือปน พร้อมนำไปใช้งาน
  2. การเตรียมดินสอพอง : นำก้อนดินสอพองแช่น้ำทิ้งไว้ 1 คืน แล้วนำมากวนและบี้ให้เนื้อดินสอพองละเอียดเนียนเป็นเนื้อเดียวกัน ใช้ภาชนะตักขึ้นเพื่อกรองผ่านกระชอน ในรอบแรกหากมีเศษผงหรือสิ่งสกปรกควรเททิ้งก่อนกรองครั้งต่อไป กรองต่อเนื่องกันจนครบ 8 รอบ เพื่อให้เนื้อดินสอพอเนียนละเอียดไม่มีสิ่งเจอปน หุ้มภาชนะที่ใส่ด้วยพลาสติก แล้วทิ้งไว้ให้ดินสอพองแยกชั้นนอนก้น ประมาณ 2 สัปดาห์ ระหว่างนี้ให้ค่อยๆ รินน้ำออกทุกคืน เพื่อให้เหลือแต่เนื้อดินสอพองที่พร้อมใช้งาน ( หากมีเวลาสามารถตั้งทิ้งไว้ได้ถึง 2 เดือน จะได้ดินสอพอพร้อมใช้ที่มีคุณภาพดีมากขึ้นอีก)
  3. การทำรักสมุก : นำดินสอพองที่เตรียมไว้ผสมกับยางรักนวดให้เป็นเนื้อเดียวกัน โดยใช้เกรียงปาดสีนวดบนแผ่นกระจกใสไล่เนื้อดินสอพองไปเรื่อยๆ จนได้รักสมุกที่มีสีสม่ำเสมอเรียบเนียนพร้อมใช้  (ห้ามใช้วิธีการตีเพราะจะทำให้เกิดฟองอากาศ)
  4. การเตรียมชิ้นงาน : กำหนดลักษณะของชิ้นงาน และสั่งผลิต สำหรับชิ้นนี้เป็นแจกันที่ทำจากไม้สัก เมื่อได้ชิ้นงานมาแล้วนำขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ 100 เพื่อให้ผิวไม้เรียบได้ทรง จากนั้นนำแปรงเล็กมาปัดฝุ่นให้ชิ้นงานสะอาด (กรณีที่เป็นไม้เนื้ออ่อน ให้นำไปแช่ในน้ำยาฆ่าแมลงผสมน้ำ ในอัตราส่วน น้ำ 3 ส่วน ยาฆ่าแมลง 2 ส่วน ประมาณ 25 วัน แล้วทิ้งให้แห้ง )
  5. การลงรักสมุก : นำรักสมุกที่เตรียมไว้มาทาลงบนผิวชิ้นงานทั้งด้านในและด้านนอกด้วยพู่กัน ทาบาง ๆ 1 รอบ แล้วทิ้งชิ้นงานให้ในห้องตั้งชิ้นงาน ประมาณ 1 สัปดาห์
  6. การลงรักและการทำลวดลายสไตล์ญี่ปุ่น : นำชิ้นงานที่ทิ้งให้แห้งแล้วมาขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ 600 ที่ห่อหุ้มด้วยยาง ปัดทำความสะอาดแล้วมาลงรักรอบที่ 1 ด้วยการใช้พู่กันทายางรักลงบนผิวชิ้นงานให้ทั่วบริเวณทั้งด้านในและด้านนอกอย่างสม่ำเสมอ แล้วนำไปตั้งทิ้งไว้ให้แห้งในห้องตั้งชิ้นงาน 7 วัน แล้วนำชิ้นงานมาขัดอีกครั้ง  เตรียมสีสำหรับทำลวดลายด้วยการนำเกรียงปาดรักที่ได้จากการกรองมาเคาะลงบนกระจก จากนั้นใส่สีฝุ่นสีแดงซึ่งใช้ผสมรักโดยเฉพาะ ปาดผสมให้เข้ากัน ทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง เพื่อให้สีและรักผสมเนียนเหนียวละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน   ใช้ปลายใบเลื่อยแต้มรักสีแดงป้ายไปที่ผิวของแจกันเป็นลวดลาย ทิ้งไว้ให้แห้งในห้องตั้งชิ้นงานประมาณ 7 วัน เมื่อแห้งแล้วนำชิ้นงานมาขัดอีกครั้ง แล้วทายางรักซั้ำอีกครั้งเป็นรอบที่ 2 ทิ้งให้แห้งเช่นเดิม แล้วทายางรักรอบที่ 3 เป็นรอบสุดท้าย ซึ่งรอบนี้ต้องป้ายพู่กันไปทางเดียวกัน เพราะถือเป็นการเก็บงานให้สมบูรณ์ นำไปทิ้งไว้ให้แห้งเช่นเดิมอีก 7 วัน
  7. การขัดเงา : นำน้ำยางรักใส่ภาชนะคลุมด้วยพลาสติกใสแล้วนำไปตากแดด ประมาณ 1 ชั่วโมง ยางรักจะตกตะกอน ให้แกะผิวรักชั้นบนออกจะมีน้ำใสจากการตกตะกอนอยู่ด้านบน ให้นำสำลีชุบน้ำยางรักใสเช็ดชิ้นงานให้ทั่ว แล้วตั้งทิ้งไว้ในห้องตั้งชิ้นงาน 1 คืน วันที่สองให้นำสำลีชุบน้ำมันพืชเช็ดชิ้นงานให้ทั่ว แล้วนำสำลีชุบน้ำมันพืชและผงไทเทเนียมเช็ดขัดให้ขึ้นเงาให้ทั่วประมาณ 1 ชั่วโมง เมื่อเสร็จสิ้นขั้นตอนให้ใช้สำลีชุบด้วยน้ำยางรักใสซ้ำอีก แล้วทิ้งไว้ 1 คืน ทำขั้นตอนทั้งหมดนี้จนครบ 3 รอบ ซึ่งในขั้นตอนการขัดเงานี้ จำเป็นต้องเช็ดขัดทีละส่วนด้วยจำนวนรอบที่เท่า ๆ กัน ให้ครบทุกส่วน เพื่อให้ผิวชิ้นงานมีความเงาที่สม่ำเสมอและเท่ากันทั้งชิ้นงาน จึงจะถือว่าเป็นผลงานเสร็จสมบูรณ์
  8. การกันลื่น : นำไข่ขาวสด 2 ส่วน กับรัก 3 ส่วน บดผสมด้วยลูกประคบให้เข้ากัน นำไปประคบแตะให้ทั่วบริเวณก้นของชิ้นงานทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ 3 วัน จะช่วยทำพื้นก้นของให้ชิ้นงานไม่ลื่นปลอดภัยต่อการนำไปตั้งวาง


    ในขั้นตอนการขัดผิวชิ้นงานด้วยกระดาษทรายทุกครั้ง ต้องใช้ความชำนาญและเทคนิคพิเศษ คือ แต่ละรอบของการขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ต่าง ๆ จะต้องไม่เปลี่ยนกระดาษทรายชิ้นใหม่ เพื่อให้แต่ละรอบการขัดมีน้ำหนักและผิวขัดของกระดาษทรายมีความละเอียดเท่ากัน อีกทั้งจำนวนครั้งของการขัดแต่ละส่วนควรต้องเท่ากัน ชิ้นงานที่ได้จึงจะมีพื้นผิวที่เรียบสวยงามสม่ำเสมอเท่ากันทั้งชิ้นงาน


ข้อมูลแหล่งที่มา