สำหรับผลงานชิ้นนี้ ครูเสถียรได้แรงบันดาลใจจากความต้องการถ่ายทอดผ้าพระบฏโบราณเป็นภาพบนแผ่นไม้ โดยนำไม้จากธรรมาสน์เก่า ซึ่งเป็นไม้ที่มีการลงรักและทาชาดอยู่แล้ว มีอายุมากกว่า 100 ปี ผ่านพิธีผาติกรรม (การนำเอาของตนถวายสงฆ์ทดแทนที่ตนทำของสงฆ์ชำรุดไป หรือการรื้อเอาของไม่ดีออกแล้วทำใหม่ให้ดีกว่าของเก่า) แล้วนำไม้ส่วนต่างๆ ของธรรมาสน์มาซ่อมแซมดัดแปลงประกอบเป็นกรอบภาพ แล้วสร้างสรรค์เป็นภาพเช่นเดียวกับผ้าพระบฏในรูปแบบของการทำเครื่องเขิน ด้วยเทคนิคการลงรักบนพื้นผิวชิ้นงานทั้งหมด แล้วทาชาด ส่วนที่เป็นภาพพระพุทธเจ้าใช้การปิดทองเต็มองค์แล้วขูดลาย ส่วนที่ลวดลายประกอบเขียนลายด้วยกาวกระถินแล้วปิดทองลงบนลายที่เขียนไว้
คำว่า “พระบฏ” หมายถึงผืนผ้าเขียนรูปพระพุทธเจ้าหรือเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า เช่นพระพุทธประวัติหรือชาดก คำว่า “บฏ” มีรากศัพท์ในภาษาบาลีว่า ปฏ (อ่านว่า ปะ - ตะ) หมายถึง ผ้าทอ ผืนผ้า ผ้าพระบฏเป็นที่นิยมเขียนขึ้นในสมัยโบราณเนื่องจากสามารถอันเชิญไปประกอบพิธีต่างๆ แทนพระพุทธรูปองค์ใหญ่ได้สะดวกกว่า จัดเก็บง่ายกว่า ผลงานเครื่องเขินภาพผ้าพระบฏชิ้นนี้จึงเกิดจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนาของครูเสถียรสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้แทนความหมายเช่นเดียวกันกับผ้าพระบฏ
ผ้าพระบฏภาพพระพุทธเจ้าเปิดโลกหลังเสด็จโปรดพุทธมารดา เป็นเรื่องราวที่กล่าวถึงวันพระพุทธเจ้าเปิดโลกซึ่งเป็นวันที่พระองค์เสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ กลับมายังโลกมนุษย์ถึงเมืองสังกัสสะ หลังจากที่ได้ขึ้นไปจำพรรษาและแสดงพระอภิธรรมโปรดพระพุทธมารดาและเหล่าเทวดาทั้งหลาย (เมื่อพระนางสิริมหามายาสวรรคต หลังพระพุทธเจ้าประสูติได้ 7 วัน ได้ทรงขึ้นไปเป็นเทพบุตรในสวรรค์ชั้นดุสิต และได้ทรงลงมายังสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพื่อฟังรับฟังการแสดงพระธรรมของพระพุทธเจ้าตลอดพรรษา และทรงบรรลุเป็นโสดาปันในที่สุด) “วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก” หมายถึงวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพุทธานุภาพเปิดให้โลกทั้ง 3 ประกอบด้วย โลกสวรรค โลกมนุษย และโลกบาดาล (นรก) เปิดโล่งสว่างไสวสามารถมองเห็นซึ่งกันและกันได้ เป็นวันแห่งอิสระ ที่เหล่าเทวดา นางฟ้า ตลอดจนเหล่าภูต ผี ปีศาจ เปรต และอสุรกายทุกรูปทุกนามในแดนนรกภูมิ สามารถจะไปไหนมาไหนก็ได้ ในพุทธกาลตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นวันที่พุทธบริษัททั้งหลายต่างร่วมใจกันเดินทางไปรับเสด็จพระพุทธเจ้า จึงเป็นที่มาของการตักบาตรเทโวโหรณะ ตรงกับวันออกพรรษของทุกปี
สำหรับภาพไม้ภาพผ้าพระบฏชิ้นงานนี้ นำมาจากภาพผ้าพระบฏต้นแบบที่เก่าแก่ที่สุดที่พบในประเทศไทย ที่ได้มาจากการขุดกรุพระเจดีย์ วัดดอกเงิน อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ โดยกรมศิลปากร เมื่อปี พ.ศ. 2503 มีขนาดใหญ่มาก คือกว้าง 1.8 เมตร และยาวถึง 3.4 เมตร สภาพเมื่อแรกพบนั้นชำรุด มีรอยขาดผ่ากลาง สันนิษฐานว่ามีอายุเก่ามากกว่า 400 ปี ครูเสถียรได้จำลองจากภาพต้นแบบแทนความหมายของ 3 โลกที่รับรู้ถึงการเสด็จลงมาจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ของพระพุทธเจ้าต่างมาเฝ้าคอยเพื่อถวายสักการะ โดยภาพหลักเป็นภาพพุทธเจ้าในท่าเดินลงจากบันได รายล้อมด้วยเหล่าเทวดา ด้านบนสื่อถึงชั้นสวรรค์มีภาพของเหล่าเทวดา และเทพบุตร (รวมถึงพระพุทธมารดา) อยู่บนบนวิมาน ด้านล่างสื่อถึงชั้นบาดาลมีภาพดอกบัว และเหล่าพญานาค ถัดขึ้นไปสื่อถึงชั้นโลกมนุษย์เป็นภาพกษัตริย์ล้านนาและเหล่าพระสงฆ์ มีลวดลายแสดงภาพฝนโบกขรพรรษโปรยปรายลงมาพร้อมแก้วแหวนและดอกไม้ ลวดลายประกอบต่างๆ ที่ใช้เป็นลวดลายไทยล้านนาผสมกับลายเหม็ง (ลายจีน) และลายอินเดีย กรอบภาพตกแต่งด้วยกระจกจืน (ชิ้นงานยังขาดส่วนที่เป็นฐานที่จะต้องนำไม้ที่มีอายุและเนื้อไม้ที่ใกล้เคียงกันมาประกอบให้ชิ้นงานสมบูรณ์ต่อไป)
เทคนิคที่ใช้ : ลงรัก ทาชาด ปิดทองขูดลาย และเขียนลายปิดทอง
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :
1. การเตรียมยางรัก : ยางรักที่มีคุณภาพควรมีอายุหลังเจาะจากต้นอย่างน้อย 1 ปี นำยางรักไปตากแดดให้ร้อนเพื่อให้รักละลาย แล้วนำมากรองครั้งที่หนึ่งด้วยตะแกรงมุ้งลวด กรองครั้งที่สองด้วยตะแกรงทองเหลือง และกรองครั้งที่สามด้วยผ้าใยบัว เพื่อกรองเอาเศษผงหรือสิ่งสกปรกออกให้หมด จากนั้นนำยางรักบรรจุใส่ภาชนะเตรียมพร้อมเพื่อนำไปใช้งาน โดยในขณะเก็บให้เทน้ำใส่ไว้เพื่อป้องกันไม่ให้ยางรักแห้ง และหมั่นเติมน้ำอย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลาการเก็บ
2. การเตรียมสีแบบโบราณ : ครูเสถียรใช้วัสดุให้สีจากธรรมชาติตามวิธีแบบโบราณ ซึ่งเอกลักษณ์การทำเครื่องเขินของครูเสถียรจะใช้สีหลากหลายตามจินตนาการ แตกต่างไปจากเครื่องเขินทั่วไปที่นิยมใช้เฉพาะสีดำและสีแดงเท่านั้น โดยครูเสถียรจะเริ่มต้นจากการทำสีจากวัสดุให้สีเป็นแม่สีก่อน แล้วค่อยผสมแม่สีเป็นสีต่างๆ ตามความต้องการ โดยสีต่างๆ มาจากวัสดุให้สีธรรมชาติ ได้แก่
เมื่อต้องการใช้สีครูเสถียรจะนำวัสดุให้สีมาผสมกับน้ำมันลินสิด (เป็นน้ำมันใสที่ลอยตัวขึ้นมาของสีน้ำมัน) หรือน้ำมันก๊าด นำมาใส่โกร่งบดผสมให้เป็นเนื้อเดียวกัน แล้วเติมยางรักลงไป หากต้องการให้สีอ่อนลงจะเติมหินขาวลงไป เมื่อคนจนเข้ากันแล้วให้ทิ้งไว้ 1 คืน แล้วจึงแบ่งมาใช้ในปริมาณที่เหมาะสม สีที่เหลือสามารถเก็บไว้ใช้ได้เพราะยิ่งทิ้งไว้นานเท่าไหร่สีจะสดมากขึ้น
3. การเตรียมรักสมุก : หากชิ้นงานที่ต้องมีการปรับเติมพื้นผิวจะใช้รักสมุกในการอุดหรือเคลือบผิวให้หนามากขึ้น โดยรักสมุกจะเตรียมโดยการนำเอารักส่วนที่แห้ง (ส่วนที่เป็นผิวหน้าบนของรักที่เก็บไว้ในภาชนะ) นำมาบดเป็นผงผสมกับดินสอพองคนให้เป็นเนื้อเดียวกัน
4. การเตรียมชิ้นงาน : กำหนดลักษณะของชิ้นงาน ออกแบบลวดลายลงบนกระดาษ แล้วผลิตชิ้นงานขึ้นตามแบบ เมื่อได้ชิ้นงานมาแล้วทำความสะอาดพื้นผิว หากเป็นวัสดุที่ทำจากไม้ ใช้กระดาษทรายขัดให้ผิวเรียบ
5. การลงรักสมุก : หากชิ้นงานที่ต้องมีการปรับเติมพื้นผิวให้นำรักสมุกที่เตรียมไว้มาทาลงบนผิวชิ้นงาน รอให้แห้งประมาณ 1 สัปดาห์ แล้วขัดให้เรียบเนีนน
6. การลงรัก : นำยางรักที่เตรียมไว้มาทาลงพื้นผิวรองพื้นชิ้นงานให้เป็นสีดำ แล้วทิ้งไว้ให้แห้งประมาณ 1 สัปดาห์
7. การสร้างสรรค์สวดลาย : ออกแบบการสร้างสรรค์ลวดลาย หากส่วนใดต้องการสีพื้นเป็นสีดำให้ปล่อยทิ้งไว้ ส่วนพื้นที่ที่อยากให้เป็นสีแดงสามารถทาชาดลงไปตามสัดส่วนและลวดลายที่ต้องการตามเทคนิควิธีการของการทำเครื่องเขินโบราณ ได้แก่
1.เมื่อแบ่งสัดส่วนชิ้นงานได้แล้วจึงทาชาดที่ผสมรักไว้บนชิ้นงานในส่วนที่ต้องการให้เป็นสีแดง แล้วทิ้งไว้ให้แห้งพอหนืดๆ จึงปิดทองแล้วใช้พู่กันปลายแบนเกลี่ยให้พื้นทองเนียนเรียบ
2.เมื่อแห้งดีแล้ว นำไปตกแต่งด้วยการขูดลายหรือฮายลายได้ โดยการขูดลายนั้นจะต้องตกแต่งลายไว้ก่อน (ทำกรอบของลวดลายที่ต้องการแล้วจึงฮายลายเพิ่มรายละเอียดของลวดลาย)
ข้อพึงระวังในขั้นตอนการฮายลายหรือขูดลายไม่ควรใช้มือสัมผัสกับชิ้นงานโดยตรง เพราะจะทำให้เนื้อทองเสียหาย ควรใช้ผ้าหุ้มชิ้นงานไว้อีกชั้นหนึ่ง
1. นำกระดาษที่ฉลุลายไว้ มาติดบนชิ้นงานที่ต้องการปิดทอง
2. จากนั้นนำชาดที่ผสมกับรักมาทางในช่องที่ฉลุลายไว้ ทิ้งให้แห้ง พอหนืดๆ ไม่ติดมือจึงสามารถปิดทองได้
3. ใช้ทองคำแผ่นมาปิดบนชิ้นงาน เริ่มจากด้านบนของชิ้นงาน เพื่อทองจะได้ไม่ปลิว โดยให้ทองปิดลงไปติดในช่องที่เราฉลุไว้ จากนั้นใช้นิ้วกรวดทองให้เรียบ เมื่อแห้งดีแล้ว ดึงกระดาษแบบฉลุออก จะปรากฏลวดลายทองบนชิ้นงานที่ต้องการ
1. ผสมชาดกับรัก ในโกร่ง (ครกบดยา) ให้เข้ากัน หากข้นเกิดไปให้ใช้น้ำมันสนเพื่อลดความเข้มข้นให้พอดีที่จะสามารถนำมาเขียนลายได้ คนให้เข้ากันจนแน่ใจว่าชาดกับรักเป็นเนื้อเดียวกันไม่เป็นก้อน
2. จุ่มพู่กันในชาดที่ผสมไว้ แล้วเขียนลายตามต้องการบนชิ้นงาน หากเขียนผิดหรือต้องการลบเพื่อเขียนใหม่ให้ใช้ผ้าชุบน้ำมันสนลบออก ในขณะที่ชาดยังไม่แห้ง
หัวใจสำคัญของการทารัก คือระยะเวลาของการทารักหรือทาชาดที่ต้องการให้ได้ผลงานที่มีคุณภาพ ต้องทาให้แห้งสนิทก่อน โดยทั่วไปต้องทิ้งไว้อย่างน้อย หนึ่งเดือนครึ่ง จึงจะทำให้ผลงานที่ได้สมบูรณ์ ส่วนการฮายลายหรือขูดลายนั้นต้องทิ้งไว้อย่างน้อย 2-3 เดือน จึงจะได้งานที่มีคุณภาพ