โลกของช้าง

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

โลกของช้าง เป็นงานแกะสลักช้างไม้ผสมระหว่างแบบลอยตัวและนูนต่ำ  ส่วนล่างเป็นฐานแกะสลักแบบนูนต่ำใช้ไม้จากโคนต้นตาล แกะเป็นช้าง 28 ตัว  โดยรอบ ประกอบลายขดที่ภาษาเหนือเรียกว่า “ลายเมือง" แทนความหมายของป่า ส่วนบนเป็นช้าง 15 ตัว แกะแบบลอยตัวทีละตัวแล้วนำมาประกอบกันตั้งบนฐาน โดยใช้ไม้ขี้เหล็กและไม้ขนุน ช้างแต่ละตัวมีขนาด ท่วงท่า และอารมณ์ที่แตกต่างกันไป

ชิ้นงานนี้ได้นำไปร่วมแสดงในงานเกี่ยวกับการอนุรักษ์ช้างของมูลนิธิเพื่อนช้าง เพื่อต้องการสื่อความหมายถึงสถานการณ์ความลำบากของช้างในปัจจุบัน ที่ปกติแล้วช้างเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ในป่าใหญ่ แต่วันนี้พื้นที่ป่าที่อยู่อาศัยของช้างกำลังลดน้อยลงไปทุกที เปรียบกับชิ้นงานคือช้างจำนวนมากต่างอยู่กันอย่างเบียดเสียดบนโลกของช้างที่คับแคบลง

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องไม้
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
สูง 90 เซ็นติเมตร เส้นผ่าศูนย์กลาง 65 เซ็นติเมตร
วัสดุ :
1. ไม้ขี้เหล็ก, ไม้ขนุน และ ไม้โคนตาล 2. หมึกดำ 3. ผลมะเกลือ 4. น้ำปูนใส 5. สีฝุ่นสีดำ 6. สีเคลือบสเปรย์
อายุ/ปีที่ผลิต :
2534
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : การแกะสลักไม้แบบลอยตัว และ แบบนูนต่ำ
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :

  1. ออกแบบ
    ร่างแบบบนกระดาษ กำหนดท่วงท่า ขนาด และสัดส่วนของชิ้นงานตามต้องการ (บางครั้งก็วาดลงบนชิ้นงานเลย)
  2. เตรียมไม้
    คัดเลือกไม้ที่จะใช้แกะ ไม้ที่นิยมนำมาใช้ในงานแกะสลัก ได้แก่ ไม้สัก เป็นไม้ที่ไม่แข็งเกินไป มีลายไม้สวยงาม ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศและปลอดภัยจากแมลง แต่ปัจจุบันเป็นไม้หวงห้าม จึงใช้ไม้ที่นิยมรองลงมาเช่น ไม้โมก ไม้สน ไม้ขี้เหล็ก ไม้ขนุน หลักที่สำคัญคือ ไม้ที่นำมาทำการแกะสลักจะต้องไม่มีตำหนิ เพราะจะทำให้งานชิ้นนั้นขาดความสวยงาม สำหรับชิ้นงานนี้ส่วนที่แกะสลักช้างแบบลอยตัวใช้ไม้ขี้เหล็กและไม้ขนุน ส่วนที่แกะสลักแบบนูนต่ำใช้ไม้จากโคนต้นตาล  เมื่อเลือกไม้ได้แล้ว ตัดไม้เป็นแท่งสี่เหลี่ยมด้วยเลื่อยไฟฟ้าให้ได้ขนาดตามต้องการ
  3. ร่างแบบบนไม้
    ใช้ชอล์กร่างแบบตามที่ได้ออกแบบไว้ลงบนแท่งไม้ ใช้พู่กันจุ่มหมึกสีดำวาดซ้ำเพื่อให้ลายเส้นชัดเจนขึ้น
  4. แกะไม้
    ใช้สิ่วและค้อนแกะลายตามลายที่ร่างไว้บนแท่งไม้ โดยเริ่มจาการสกัดไม้ส่วนที่ไม่ต้องการออกก่อน จนกระทั่งเป็นรูปร่าง แล้วเก็บรายละเอียดและลวดลายบนตัวช้าง ส่วนสำคัญของช้างที่ครูเพชรให้ความสำคัญมากที่สุดคือการแกะสลักดวงตา ที่ต้องใช้การสังเกตจากดวงตาช้างจริงๆ  การเข้าถึงความรู้สึก และใช้ความเชี่ยวชาญถ่ายทอดแกะให้ดวงตาของช้างดูมีชีวิต อารมณ์ และความรู้สึกที่เหมือนจริง
  5. ย้อมสีผิว
    นำผลมะเกลือหมักกับน้ำปูนใสผสมสีฝุ่นสีดำทาย้อมลงบนผิวชิ้นงาน ให้ผิวของช้างเข้มเหมือนจริงมากขึ้น ทิ้งไว้ให้แห้ง แล้วใช้แปรงทองเหลืองขัดชิ้นงาน จะได้ชิ้นงานเป็นสีดำเทาดูมีมิติเป็นธรรมชาติ
  6. เคลือบชิ้นงาน
    ใช้สีเคลือบสปรย์ฉีดเคลือบชิ้นงาน
ข้อมูลแหล่งที่มา