ช้างเอราวัณ

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ช้างเอราวัณ เป็นงานแกะสลักช้างไม้แบบลอยตัว มี 33 หัว โดยแกะให้ตัวช้างมีเศียรหลัก 3 หัว และแกะหัวช้างอีก 30 หัวอยู่ด้านบน ตัวช้างตั้งท่อนไม้ มีช้างชั้นสวรรค์อีก 2 ช้างอยู่ด้านข้างท่อนไม้ คือ ช้างมาตังครกรีเทพ เป็นช้างที่มีภาพวาดเทวดาอยู่บนร่างกาย และ ช้างคิรีเมขล์ไตรดายุค เป็นช้างมีสามหัว โดยชิ้นงานนี้แกะจากไม้มะขามเทศอายุกว่า 100 ปี เพียงท่อนเดียว

ต้นแบบของชิ้นงานนี้มาจากภาพใน “ตำราคชลักษณ์” ที่ครูเพชรต้องการถ่ายทอดจากภาพวาดมาเป็นหุ่นแบบลอยตัว ซึ่งจากภาพวาดนั้นหัวช้างทั้ง 33 หัว จะวาดเรียงกันไปด้านเดียว ครูเพชรจึงใช้จินตนาการแกะให้หัวช้างมองได้รอบด้าน โดยใช้แบบการแกะช้าง 3 หัว ที่มีอยู่แล้ว เพิ่มการแกะหัวช้างอีก 30 หัว ให้อยู่ด้านบนและจัดวางตำแหน่งของหัวช้างให้สมดุลสวยงาม จึงอาจกล่าวได้ว่าประติมากรรมช้างเอราวัณ 33 หัว ในลักษณะลอยตัวสามมิตินี้ ปัจจุบันมีอยู่เพียงแบบเดียวในโลก ส่วนช้างอีก 2 ช้าง ที่อยู่ด้านข้างท่อนไม้ ก็แกะจากไม้กิ่งใหญ่ของท่อนไม้มะขามเทศท่อนเดียวกัน จึงนับเป็นชิ้นงานแกะสลักช้างชิ้นพิเศษของครูเพชรอีกชิ้นหนึ่ง

ช้าง เป็นสัตว์บกขนาดใหญ่ที่มีความสัมพันธ์กับคนไทยอย่างลึกซึ้งมาช้านาน ทั้งด้านสังคม การค้า และประเพณี โดยเฉพาะช้างเผือกถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกษัตริย์และแผ่นดินไทย ทั้งใช้ในการรบยามศึกสงคราม พระราชประเพณีต่าง ๆ หากช้างมีลักษณะดีถูกต้องตามหลักคชลักษณ์ก็จะได้รับเลือกเป็นช้างคู่บารมีของพระกษัตริย์ไทย ดังนั้นจึงปรากฏตำราช้าง หรือ “ตำราคชลักษณ์” หลายฉบับ แต่ละฉบับจะอธิบายถึงลักษณะของช้างทั้งที่เป็นช้างศุภลักษณ์  (ดี) และช้างทุรลักษณ์ (ร้าย) โดยแต่ละตำราจะมีการกล่าวถึงความเชื่อของการกำเนิดของช้างตรงกัน ตามคัมภีร์ของพราหมณ์คือเชื่อว่าช้างกำเนิดจากเทพ 4 องค์ โดยมีเนื้อหาว่า ในไตรดายุคเมื่อพระนารายณ์เสด็จลงมาบรรทมบนเกษียรสมุทรโดยประทับบนหลังพระยาอนันตนาคราชบังเกิดมีดอกบัวผุดตรงพระนาภี (สะดือ) ดอกบัวนั้นมี 8 กลีบ 173 เกสร พระนารายร์จึงนำดอกบัวไปถวายพระอิศวร พระอิศวรได้แบ่งดอกบัวออกเป็น 4 ส่วน จัดเป็นส่วนของพระองค์เอง 8 เกสร นอกนั้นแบ่งประทานแก่ พระพรหม 8 กลีบ พร้อมกับเกสรอีก 24 เกสร ประทานแก่พระนารายณ์หรือพระวิษณุ 4 เกสร และประทานแก่พระอัคนี 133 เกสร เทพเจ้าทั้งสี่ได้เนรมิตดอกบัวในแต่ละส่วนของพระองค์ให้บังเกิดเป็นช้างขึ้นในโลก ปรากฏเป็นคชพงศ์ หรือ ตระกูลช้าง 4 ตระกูล ซึ่งต่างก็มีรูปร่างลักษณะ อุปนิสัย และส่วนอื่นๆ ของร่างกาย เป็นไปตามฤทธิ์และอำนาจที่ได้รับถ่ายทอดมาจากเทพเจ้าผู้เนรมิตให้บังเกิดขึ้น ได้แก่

  1. ช้างตระกูลอิศวรพงศ์  เป็นช้างวรรณกษัตริย์
  2. ช้างตระกูลพรหมพงศ์  เป็นช้างวรรณพราหมณ์
  3. ช้างตระกูลวิษณุพงศ์  เป็นช้างวรรณแพศย์
  4. ช้างตระกูลอัคนีพงศ์   เป็นช้างวรรณศูทร

ซึ่งในตำราคชลักษณ์ ได้กล่าวถึงลักษณะของช้างทั้ง 4 ตระกูล รวมไปถึงการกล่าวถึงลักษณะของช้างชั้นสวรรค์อีก 3 ช้าง ได้แก่

  • ช้างมาตังครกรีเทพ เป็นช้างที่มีเทวดา 26 องค์ สถิตเพื่อรักษาส่วนต่างๆ ตามร่างกายของช้าง
  • ช้างเอราวัณหรือไอราวัณ  เป็นช้างของพระอินทร์ มี 33 หัว แต่ละเศียรมี 7 งา
  • ช้างคิรีเมขละไตรดายุค เป็นเทพพาหนะของพระอินทร์ มี 3 หัว ประกอบด้วยคชลักษณ์งดงาม และช้างทรงของพญาวสวัตดีมาร ในพุทธประวัติ

มีตำนานกล่าวถึงกำเนินของช้างเอราวัณว่า ในไตรดายุค พระศิวะ (พระอิศวร) ได้ให้พระเพลิงทำเทวฤทธิ์ให้เปลวเพลิงออกจากช่องพระกรรณทั้งสอง  บังเกิดบุตร 2 องค์ จากพระกรรณ์ด้านขวาคือ “พระพิฆเณศ” มีพระพักตร์เป็นช้าง ส่วนพระกรรณ์ด้านซ้ายคือ “พระโกญจนาเนศวร” มีพักตร์เป็นช้าง 3 พระพักตร์ มีพระกร 6 พระกร  และเป็นผู้ทรงบันดาลให้เกิด ช้างเผือก เผือก เอก โท ตรี รวมถึงช้างเอราวัณ ช้างเผือกผู้มี 33 หัว และช้างคิรีเมขละไตรดายุค ช้างเผือกผู้ 3 หัว ซึ่งช้างทั้งสองถือเป็น “เทพยานฤทธิ์” บันดาลไว้ให้เป็นเทพพาหนะของพระอินทร์

ช้างเอราวัณ หรือ ไอราวัณ ตามตำนานเป็นช้างเทพที่มีขนาดใหญ่สูง 150 โยชน์ มี 33 หัว มีกระพอง 33 กระพอง ใช้เป็นที่ประทับของพระอินทร์ และเหล่าเทพบุตร แต่ละหัวมีงา 7 งา งาแต่ละงายาวถึง 4 ล้านวา งาแต่ละงามีสระบัว 7 สระ แต่ละสระมีดอกบัว 7 ดอก แต่ละดอกมีกลีบ 7 กลีบ มี 7 เกสร แต่ละเกสรมีปราสาทอยู่ 7 หลัง ปราสาทแต่ละหลังมี 7 ชั้น แต่ละชั้นมี 7 ห้อง แต่ละห้องมี 7 บัลลังก์ แต่ละบัลลังก์มีเทพธิดาสถิต 7 องค์ เทพธิดาแต่ละองค์มีบริวาร องค์ละ 7 นาง เทพธิดาบริวารแต่ ละนางมีนางทาสีนางละ 7 ทาสี รวมทั้งนางเทพอัปสรทั้งหมดประมาณ 190,248,432 นาง เทพธิดา บริวารรวมกันทั้งหมดประมาณ 13,331,669,031 นาง หัวทั้ง 33 ของช้าง มีกระพอง 33 กระพอง ใช้เป็นที่ประทับของพระอินทร์ และเหล่าเทพบุตร

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องไม้
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
สูง 80 เซนติเมตร กว้าง 60 เซนติเมตร
วัสดุ :
1. ไม้มะขามเทศ (อายุกว่า 100 ปี) 2. สีฝุ่นสีดำ สีทอง และ สีเงิน 3. สีอะคริลิค 4. สีเคลือบสเปรย์
อายุ/ปีที่ผลิต :
2558
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : การแกะสลักไม้แบบลอยตัว
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :

  1. ออกแบบ
    ร่างแบบบนกระดาษ กำหนดท่วงท่า ขนาด และสัดส่วนของชิ้นงานตามต้องการ (บางครั้งก็วาดลงบนชิ้นงานเลย) สำหรับชิ้นงานนี้ครูเพชรต้องการแกะสลักช้างเอราวัณ ที่เป็นเพียงภาพวาดจากตำราคชลักษณ์ ถ่ายทอดออกมาให้เป็นช้าเอราวัณเต็มองค์ โดยออกแบบให้ช้างเอราวัณ 33 หัว ยืนบนท่อนไม้ และมีช้างชั้นสวรรค์อีก 2 ช้าง คือ ช้างมาตังครกรีเทพ ( มีภาพเทวดาประกอบ) และ ช้างคิรีเมขล์ไตรดายุค (ช้าง 3 หัว )  ยืนอยู่ด้านข้างท่อนไม้สองด้าน
  2. เตรียมไม้
    คัดเลือกไม้ที่จะใช้แกะ ไม้ที่นิยมนำมาใช้ในงานแกะสลัก ได้แก่ ไม้สัก เป็นไม้ที่ไม่แข็งเกินไป มีลายไม้สวยงาม ทนทานต่อสภาพดินฟ้าอากาศและปลอดภัยจากแมลง แต่ปัจจุบันเป็นไม้หวงห้าม จึงใช้ไม้ที่นิยมรองลงมาเช่น ไม้โมก ไม้สน ไม้ขี้เหล็ก ไม้ขนุน หลักที่สำคัญคือ ไม้ที่นำมาทำการแกะสลักจะต้องไม่มีตำหนิ เพราะจะทำให้งานชิ้นนั้นขาดความสวยงาม สำหรับชิ้นงานนี้เลือกไม้มะขามเทศ เมื่อเลือกไม้ได้แล้ว ตัดไม้เป็นแท่งสี่เหลี่ยมด้วยเลื่อยไฟฟ้าให้ได้ขนาดตามต้องการ
  3. ร่างแบบบนไม้
    ใช้ชอล์กร่างแบบตามที่ได้ออกแบบไว้ลงบนแท่งไม้ ใช้พู่กันจุ่มหมึกสีดำวาดซ้ำเพื่อให้ลายเส้นชัดเจนขึ้น
  4. แกะไม้
    ใช้สิ่วและค้อนแกะลายตามลายที่ร่างไว้บนแท่งไม้ โดยเริ่มจาการสกัดไม้ส่วนที่ไม่ต้องการออกก่อน จนกระทั่งเป็นรูปร่าง แล้วเก็บรายละเอียดและลวดลายบนตัวช้าง  ส่วนที่เป็นงาแกะไม้แยกชิ้นแล้วติดด้วยกาว ส่วนสำคัญของช้างที่ครูเพชรให้ความสำคัญมากที่สุดคือการแกะสลักดวงตา ที่ต้องใช้การสังเกตจากดวงตาช้างจริงๆ  การเข้าถึงความรู้สึก และใช้ความเชี่ยวชาญถ่ายทอดแกะให้ดวงตาของช้างดูมีชีวิต อารมณ์ และความรู้สึกที่เหมือนจริง
  5. ย้อมสีผิว
    - ช้างเอราวัณ ส่วนงาทาด้วยสีอะคริลิกสีขาว แล้วใช้สีฝุ่นสีทองทาเคลือบผิวช้าง
    - ช้างคิรีเมขล์ไตรดายุค ส่วนงาทาด้วยสีอะคริลิกสีขาว แล้วใช้สีฝุ่นสีทองทาเคลือบผิวช้าง
    - ช้างคิรีเมขละไตรดายุค ใช้สีอะคริลิกทาเคลือบผิวช้าง และวาดภาพเทวดาประกอบ
  6. เคลือบชิ้นงาน
    ใช้สีเคลือบสปรย์ฉีดเคลือบชิ้นงาน
ข้อมูลแหล่งที่มา