ผ้าซิ่นตีนจกโบราณลายขันดอก

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ผ้าซิ่นตีนจกโบราณลายขันดอก (พานดอกไม้) เป็นผลผลิตทางวัฒนธรรมที่มีการสืบทอดกันมากว่า 200 ปี  ครูประนอม  ทาแปง แกะลายผ้าผืนนี้ จากผ้าโบราณที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ วัดสะแล่ง เป็นลวดลายมุกเมืองรองที่หาผู้ทอได้ยากขึ้นทุกที ออกแบบผสมผสานกับลายโบราณอย่างลายนกคุ้ม ลายนกกินน้ำร่วมต้น สวยงามวิจิตรโดยทอขึ้นทั้งหมด 3 ผืน และยังได้รับรางวัลชนะเลิศจากการส่งเข้าประกวดผ้าทอกลุ่มชาติพันธุ์ที่จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม จากนั้นจึงได้เผยแพร่งานทอผ้าลายนี้ให้กับกลุ่มทอผ้า ตั้งชื่อลายว่า ผ้าซิ่นตีนจกโบราณลายขันดอก จนได้รับความนิยมอย่างกว้างขวง และยังได้อนุรักษ์ผ้าซิ่นไหมต่อจกโบราณให้คงอยู่สืบไป  ทอจากไหมย้อมสีธรรมชาติทั้งผืน  สีพื้นซิ่นเป็นสีคราม มีองค์ประกอบของผ้าตามแบบผ้าซิ่นโบราณไท-ยวน 3 ส่วน ได้แก่

  • เอวซิ่น หรือหัวซิ่น  เป็นผ้าไหมสีขาว
  • ตัวซิ่น เป็นลายมุกเมือลอง ตัวดอกมุกยกด้วยเส้นไหม ทอเหยียบ ตะกอ 5 เขามีพื้นเป็นผ้าฝ้าย
  • ตีนซิ่น เป็นตีนจก ประกอบด้วย
    - ลายหลัก  (ลวดลายใหญ่ที่อยู่กึ่งกลางผ้าตีนจก)  เป็นลายนกคุ้มหรือลายนกกินน้ำร่วมต้น และลายดอกขัน
    - ลายประกอบ (ลวดลายที่ทอเพิ่ม เสริม หรือประกอบลายหลักทั้งด้านบนและด้านล่าง) ได้แก่ ลายนกคุ้มสลับกับลายหงส์คู่  จบด้วยลายหางสะเปานก มี หมายซิ่น อยู่ระหว่างลายตีนซิ่นทั้งสองข้างไม่ให้ลายชนกัน เพื่อป้องกันคุณไสย์หรือมนต์ดำแก่ผู้สวมใส่ตามความเชื่อของไท-ยวน อีกทั้งทอเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของผู้ทออีกด้วย
ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องทอ
กลุ่มวัฒนธรรม :
ไท-ยวน
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 100 เซนติเมตร ยาว 180 เซนติเมตร
วัสดุ :
1. เส้นไหม 2. เส้นฝ้าย 3. น้ำด่าง ( น้ำผสมบู่เหลว หรือ น้ำยาล้างจาน) 4. วัตถุดิบให้สีจากธรรมชาติ ได้แก่ - มะเกลือ ให้สีดำ - ลูกมะกาย หรือ แก่นไม้ขนุน ให้สีเหลือง - ครั่ง ให้สีแดง หรือสีชมพู - คราม ให้สีน้ำเงิน - ใบสมอ หรือไม้มะกาย และคราม ให้สีเขียว - คราม และครั่ง ให้สีม่วง - เปลือกไม้ประดู่ หรือเปลือกสะเดา ให้สีน้ำตาล - เปลือกไม้รัง หรือ ไม้เต็ง ให้สี สีน้ำตาลทอง 5. สารธรรมชาติช่วยในกระตุุ้นสีและให้ติดสี (mordant) เช่น สารส้ม เกลือ น้ำด่าง
อายุ/ปีที่ผลิต :
2541
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : การทอจก
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :

  1. ออกแบบลวดลาย
    ครูประนอมใช้วิธีการออกแบบลายผ้าจากจินตนาการ ผูกให้เป็นลวดลายต่อเนื่อง ลงบนกระดาษแล้วออกแบบลวดลายในโปรแกรมคอมพิวเตอร์เหมือนกับการปักครอชติช ซึ่งสะดวกต่อลูกทอกลุ่มสมาชิก สามารถทำตามได้ โดยเน้นไปที่การออกแบบลวดลายเอกลักษณ์ของจังหวัดแพร่
  2. การฟอกฝ้าย
    นำเส้นฝ้ายที่ได้จากการปั่นฝ้ายมาทำความสะอาดไขมันในเส้นใยครั้งสุดท้ายด้วยการต้มน้ำเดือด ใส่สบู่เหลว หรือ น้ำยาล้างจานในอัตราส่วนน้ำ 20 ลิตรต่อน้ำยาล้างจานเข้มข้น 3 - 4 ซ้อนโต๊ะคนให้ละลายเข้ากัน  นำเส้นด้ายใส่ลงไปในหม้อต้ม ให้น้ำพอท่วมเส้นด้ายอย่าใส่จนแน่นเกินไป หมั่นกลับพลิกเส้นฝ้าย เพื่อให้ทำความสะอาดได้อย่างทั่วถึง ต้มทิ้งไว้ประมาณ 1 ชั่วโมง แล้วนำเส้นด้ายขึ้นจากหม้อต้ม แขวนให้เส้นฝ้ายคลายความร้อนและสะเด็ดน้ำ จากนั้นนำเส้นใยฝ้ายไปล้างน้ำให้สะอาดจนหมดฟอง บิดพอหมาดกระตุกให้เส้นด้ายเรียงตัว ตากจนเส้นใยฝ้ายแห้งเพื่อรอการย้อมสีธรรมชาติตามต้องการ แล้วจึงนำเส้นใยฝ้ายสีมากวักเรียงให้เป็นระเบียบ เพื่อรอการค้นทำเครือสำหรับการใช้งาน
  3. การย้อมฝ้าย
    ย้อม โดยใช้วัตถุดิบให้สีจากธรรมชาติ ได้แก่
    • ไม้เข หรือ แก่นไม้ขนุน ให้สีเหลือง
    • ครั่ง ให้สีแดง หรือสีชมพู
    • คราม ให้สีน้ำเงิน
    • ไม้เข ให้สีเหลือง แล้วย้อมทับด้วยคราม ให้สีเขียว
    • คราม และครั่ง ให้สีม่วง
    • เปลือกไม้รัง หรือ ไม้เต็ง ให้สีน้ำตาลทอง
    -  การย้อมไหมจากวัตถุดิบให้สีที่เป็นเปลือกไม้  ใช้อัตราส่วนเปลือกไม้ 4 กิโลกรัม ต่อ ไหม 1 กิโลกรัม ต่อ น้ำประมาณ 20 ลิตร นำเปลือกไม้มาทุบให้แตก แช่น้ำไว้ 1คืน แล้วนำมาต้มน้ำเดือด ประมาณ 2 ชั่วโมง ทิ้งไว้ซักพักกรองเอากากไม้ออก นำเส้นไหมที่ทำความสะอาดแล้ว ใส่ห่วง จำนวน 5 ไจ ต่อ 1 ห่วง ต้มในอุณหภูมิ 50-60 องศาเซลเซียส โส่สารเคลือบหรือกระตุุ้น (mordant) เช่น สารส้ม เกลือ น้ำด่าง พลิกกลับทุก 5 นาที ใช้เวลาต้มประมาณ 2 ชั่วโมง แล้วยกใส่ภาชนะที่ปิดฝามิดชิด (ห้ามใช้ภาชนะที่เป็นโลหะ) ทิ้งไว้ 1 คืนแล้วจึงนำมาล้างที่อุณหภูมิปกติจากนั้นนำไปตากให้แห้ง
    - การย้อมฝ้ายจากวัตถุดิบให้สีที่เป็นใบไม้ ให้นำใบไม้มาสับแล้วใช้อัตราส่วนและวิธีการย้อมเช่นเดียวกันกับเปลือกไม้ทุกขั้นตอน
  4. กวักฝ้าย หรือ กรอฝ้ายเป็นการนำเส้นฝ้ายที่ย้อมสีและตากจนแห้งแล้วมาเข้าเครื่องกวัก ด้วยการหมุนให้ไหมพันรอบกวัก เพื่อให้ไหมมีความเรียบตึงเสมอกัน เพื่อพักไว้ก่อนนำไปโว้นไหมหรือปั่นหลอด
  5. โว้นฝ้าย หรือเครือฝ้าย (ภาษาเหนือเรียกเส้นยืนว่าเครือ) คือ การทำฝ้ายเป็นเส้นยืนหรือเครือหูก โดยการนำเส้นฝ้ายจากกวัก พาดผ่านบนราวด้านบนเแล้วดึงลงมาใส่ เผียขอ (หลักไม้มีขอตั้ง แที่ใช้เดินไหมหรือเครือไหม) เดินไหมตามระยะที่คำนวณไว้แล้ว เพื่อให้ได้ความกว้างและความยาวของผ้าตามที่ต้องการ แล้วนำไหมจากเผียขอมาพาดบนกี่เพื่อเตรียมสืบเส้นยืน (เครือหูก)
  6. สืบเส้นยืนและเข้าตะกอ ด้วยการสืบฝ้ายเส้นยืนเข้ากับแกนม้วนเส้นยืน และร้อยปลายฝ้ายแต่ละเส้นเข้าในตะกอและฟันหวี ด้วยการสอดเส้นไหมเข้าฟันหวีที่มีความละเอียด 40 ช่อง ต่อ 1 หลบ (80 เส้น) สำหรับการสอดเข้าฟันหวีในส่วนที่จก ให้สอดเส้นไหมเข้าช่องละคู่ (2 เส้น) ในส่วนที่เป็นริมผ้าให้สอดช่องละ 2 คู่ (4 เส้น) ม้วนฝ้ายที่เข้าฟันหวีเข้ากับสะป้าน (ไม้กลึงกลม, เหลากลม หรือวัสดุที่เรียบกลม) เพื่อให้ไหมตึงเรียบเสมอตลอดความยาว ส่วนด้านข้างของเส้นไหมทั้งสองข้างหนีบด้วยไม้ผัง เพื่อไม่ให้ขอบผ้าสอบเข้า หรือกลางออกขณะทอ
  7. เตรียมฝ้ายเส้นพุ่ง
    กรอฝ้ายที่ย้อมแล้วใส่หลอด (ทำจากไม้ไผ่ หรือวัสดุเหมาะสม มีรูตรงกลาง)  กรอใส่ในปริมาณที่เหมาะสม นำไปบรรจุกระสวย โดยนำไม้ก้านมะพร้าว หรือวัสดุแท่งตรง ความยาวตามช่องกลางกระสวย สอดเข้าไปในรูแกนของหลอดแล้วนำไปใส่ช่องในกระสวย สอดก้านแกนยึดไปในช่องที่หัวกระสวย เพื่อป้องกันไม่ให้แกนหลอดหลุดออกจากกระสวยขณะทอ
  8. ทอผ้า การทอซิ่นหนึ่งผืนจะใช้กรรมวิธีการทอ 2 อย่าง คือการทอธรรมดา และ การทอจก
    การทอธรรมดา โดยการเหยียบไม้ที่ผูกตะกรอ เส้นยืนจะถูกแยกออก และเกิดช่องว่างให้สอดกระสวยด้ายพุ่งผ่านได้ เมื่อพุ่งกระสวยแล้วต้องกระทบฟืมทุกครั้ง เพื่อให้ด้ายพุ่งแนบติดกัน หรือทอคล้องกับเส้นด้ายของกระสวยที่อยู่กับที่แล้วไขว้เส้นด้ายกันก่อนพุ่งกลับ เมื่อพุ่งกระสวยแล้วให้กระทบฟืมทุกครั้ง เพื่อให้ด้ายพุ่งแนบติดกันจนได้เนื้อผ้าที่แน่นหนาโดยให้กระทบแรงพอประมาณ ไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง
    การทอจก  เป็นเทคนิคการทอผ้าเพื่อให้เกิดลวดลายต่าง ๆ โดยเพิ่มเส้นพุ่งพิเศษ สอดขึ้นลง ด้วยการใช้ขนเม่น ไม้ หรือนิ้ว จกเส้นยืนขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นลวดลายเป็นช่วง ๆ สามารถทำสลับลวดลายได้หลากสี เป็นการจกแบบ “คว่ำลายลง” คือ จกจากด้านหลังของผ้า  เมื่อจกครบแถวให้พุ่งกระสวย 1 ครั้ง (โดยกระสวย 1 อยู่กับที่และใช้อีกกระสวย 1 พุ่งเส้นด้ายมาคล้องกับเส้นด้ายของกระสวยที่อยู่กับที่) แล้วกระทบฟืมอย่างน้อย 2 ครั้ง ส่วนการเก็บเงื่อนเส้นจกใช้วิธีการเก็บด้านบน โดยต้องเก็บให้เป็นให้เป็นระเบียบเรียบร้อย ไม่มีเส้นไขว้กันไปมา จะเก็บเมื่อเริ่มต้นขึ้นลวดลายใหม่ หรือเก็บเมื่อต่อเส้นจกเมื่อเส้นจกลายหมด เมื่อทอและจกเสร็จแล้วนำออกจากอุปกรณ์ ผ้าที่ได้ต้องมีลวดลายแน่นเรียบคล้ายกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง สามารถใช้ได้ทั้งสองหน้า สังเกตได้คือเมื่อขยี้ด้วยมือตรงลวดลายก็ไม่มีขาดหรือหลุดลุ่ยนั่นเอง
  9. เย็บต่อผ้าซิ่น เพื่อประกอบผ้าส่วน ตัวซิ่น และตีนซิ่น เป็นผืนซิ่น ด้วยวิธีการต่อซิ่นแบบโบราณด้วยการเย็บมือ ซึ่งการต่อแต่ละส่วนจะใช้วิธีเย็บที่แตกต่างกันไป


ข้อมูลแหล่งที่มา