กลุ่มชาติพันธุ์ไท- ยวน โยนกเชียงแสนได้กระจายไปตั้งรกรากใน 8 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่,อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์,อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย ,จ.ชัยนาท,จ.สุพรรณบุรี ,จ.ราชบุรี,จ.น่าน และ จ.อุทัยธานี ชาวไท-ยวนมาตั้งรกรากที่เมืองลอง ซึ่งเป็นชุมชนโบราณ เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญเมืองหนึ่งทางทิศใต้ของอาณาจักรล้านนา มีวัฒนธรรมการแต่งกายแบบเดียวกับชาวไท-ยวน หรือชาวโยนกเมืองอื่นในอาณาจักรล้านนา ซิ่นตีนจก เป็นผ้าซิ่นที่ทอขึ้นเพื่อใช้ในโอกาสพิเศษ โดยวัสดุที่ใช้มีทั้ง ฝ้าย ไหม ดิ้นเงิน ดิ้นทอง ทอเป็นลวดลายสวยงาม โดยพบหลักฐานการใช้ผ้าทอตีนจกเมืองลอง ในการแต่งกายของชาวเมืองลองยังปรากฏมาไม่น้อยกว่า 200 ปี
สำหรับผู้ที่จะทอผ้าจกได้ต้องมีความอดทนและมีสมาธิอย่างสูง เพราะการทอผ้าจกเป็นงานฝีมือที่มีความละเอียดอ่อนมาก นอกจากนี้ยังใช้ทอเป็นผ้าที่ใช้ในชีวิตประจำวันอื่น ๆ เช่น ถุงย่าม ผ้าคลุมไหล่ ผ้าห่ม หมอน เป็นต้น ลวดลายต่าง ๆ ล้วนเกิดขึ้นจากจินตนาการประดิษฐ์จากสิ่งต่าง ๆ ที่อยู่รอบตัว ไม่ว่าจะเป็น พืช หรือ อากัปกิริยาต่าง ๆ ของสัตว์ อย่างสวยงามเรียบง่าย อีกทั้งยังสอดแทรก คติ ความเชื่อ โชคลาง พิธีกรรม จึงถือได้ว่าการทอผ้าจกนี้ ถ่ายทอดวิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรมและภูมิปัญญาของชาวไท-ยวน เมืองลอง ได้เป็นอย่างดี
การทอผ้าซิ่นตีนจก ไท-ยวน โยนกเชียงแสน มีเอกลักษณ์สำคัญอยู่ที่การออกแบบจัดวางลวดลายจะมีความอิสระ เช่น ลายหลักที่อาจเป็นได้ทั้งลายหลักและลายประกอบ ส่วนลายประกอบก็อาจเป็นลายหลักได้เช่นกัน ดังนั้นการเรียกชื่อลาย จึงมิได้เรียกชื่อลายที่เป็นหลักอยู่ตรงกลางผ้าเสมอไป เมื่อทอได้ขนาดความยาวตามที่ต้องการแล้ว ช่างทอจะจบลงด้วย ลวดลายพิเศษเพื่อเป็นเครื่องหมายเฉพาะของผู้ทอ เรียกว่า “หมายซิ่น” เพื่อแสดงความเป็นเจ้าของหรือป้องกันการถูกลักขโมย แล้วนำมาต่อเป็นวงกลมเย็บตะเข็บเดียว ลักษณะโครงสร้างประกอบไปด้วยผ้า 3 ส่วน แต่ละส่วนเป็นผ้าคนละชิ้น คือ
- เอวซิ่น หรือ หัวซิ่น นิยมใช้ผ้าขาวและผ้าแดง ถือเป็นสีมงคลสำหรับผู้สวมใส่ ส่วนที่เป็นแถบผ้าสีขาวจะอยู่ด้านบน เย็บต่อกับผ้าแถบสีแดงซึ่งจะอยู่ติดกับตัวซิ่น
- ตัวซิ่น จะอยู่ตรงกลางระหว่างเอวซิ่นกับตีนซิ่น ตัวซิ่นจะเลือกเอาลายแบบใดของผ้าซิ่นมาเป็นตัวซิ่นก็ได้ โดยใช้เทคนิคการทอได้ทั้งแบบจก แบบปั่นไก หรือทอเต็มผืน แล้วนำมาเย็บประกอบกับเอวซิ่น และตีนซิ่น
- ตีนซิ่น เป็นการทอแบบจก เป็นส่วนที่ทำให้ผ้าซิ่นมีความโดดเด่นสวยงามยิ่งขึ้น จากลวดลายพิเศษที่เกิดจากการทอจกแบบเต็มผืน ด้วยลวดลายโบราณที่นำมาผสมผสานกัน แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
3.1) ลายหลัก เป็นลวดลายขนาดใหญ่กว่าลายอื่น ๆ อยู่บริเวณกึ่งกลางผ้าจีนจก หรือที่เรียกว่า ตีนซิ่น มีลักษณะของลวดลายเป็นดอกสลับกับลายข้างดอก เรียงันไปตามแนวยาวของผืนผ้าตีนจก การเรียกชื่อผ้าซิ่นตีนจกจะเรียกตามลายหลักซึ่งมี 2 ลักษณะดังนี้
- ลายหลักเป็นลักษณะลายดอก ลายดอกของผ้าจกเมืองลองนั้นจะมีลายที่เป็นลวดลายโบราณอยู่ 12 ลาย คือ ลายนกคู่กินน้ำ ร่วมต้น ลายสำเภาลอยน้ำ ลายนกแยงเงา (นกส่องกระจก) ลายขามดแดง ลายขากำปุ้งลายขอไล่ ลายหม่าขนัด (สับปะรด) ลายจันแปดกลีบ ลายดอกจัน ลายขอดาว ลายขอผักกูด และลายดอกขอ
- ลายหลักเป็นลักษณะลวดลายหลักที่เป็นลายต่อเนื่อง ลายต่อเนื่องของผ้าจกเมืองลองนั้น มีลายที่เป็นลายโบราณอยู่ 7 ลาย คือ ลายใบผักแว่น ลายแมงโป้งเล็น ลายโคมและช่อน้อยตุงชัย ลายขอน้ำคุ จันแปดกลีบ ลายเครือกาบหมวก ลายโก้งเก้งซ้อนนก และลายพุ่มดอกนกกินน้ำร่วมต้น
3.2) ลายประกอบ ลักษณะลวดลายประกอบเป็นลายขนาดเล็ก ๆ หรือลายย่อยอื่น ๆ ซึ่งถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้ผ้าตีนจกมีความสมบูรณ์ มีอยู่หลายลาย ซึ่งสามารถจำแนกตามลักษณะของลวดลาย ได้ 6 ประเภท คือ
- ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากพืช
- ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากสัตว์
- ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากรูปทรงเรขาคณิต
- ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากการประยุกต์
- ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากสัตว์ผสมรูปแบบจากรูปทรงเรขาคณิต
- ลักษณะลวดลายประกอบที่ได้รับแนวคิดเกี่ยวกับรูปแบบจากสัตว์ผสมรูปแบบจากการประยุกต์ โดยลายประกอบทั้ง 6 ประเภทนี้ มีอยู่มากมาย เพราะได้ถูกดัดแปลงและประดิษฐ์ขึ้นมาใหม่อยู่เรื่อย ๆ เช่น ลายกาบหมาก ลายหางสะเปาต้นสน ลายสร้อยพร้าว ลายเม็ดแมงลัก ลายบัวคว่ำ บัวหงาย ลายดอกพิกุลจัน ลายหางสะเปานก ลายนกคุ้ม ลายขามดแดง ลายต่อมเครือ ลายหางสะเปาดอกต่อม ลายฟันปลา ลายขอเลี่ยว ลายเครือขอ ลายมะลิเลื้อย ลายเถาไม้เลื้อย ลายผีเสื้อ เป็นต้น
ผ้าแต่ละส่วนของซิ่นจะใช้วิธีการเย็บต่อแบบโบราณ ซึ่งถือเป็นศิลปะการเย็บผ้าอีกวิธีหนึ่ง ในอดีตไม่มีการใช้จักร ต้องใช้เข็มเย็บด้วยมือ การเย็บจึงเป็นการแสดงฝีมือของผู้หญิงในอดีต ที่นอกจากจะเป็นประโยชน์แล้วยังแสดงถึงความสวยงามความประณีตเป็นองค์ความรู้ที่บรรพบุรุษได้คิดประดิษฐ์ขึ้นเพื่อใช้กับเครื่องนุ่งห่ม และยังอาจหมายถึงฐานะของผู้สวมใส่ได้เช่นกันหากวัสดุที่ใช้มีเส้นไหม หรือดิ้นเงินหรือดิ้นทองมาเป็นส่วนของลวดลาย ซึ่งการเย็บประกอบซิ่นทั้งสามส่วน และการเย็บต่อด้านข้างเพื่อให้ซิ่นเป็นวงกลมจะมีชื่อเรียกที่ต่างกัน คือ
- การเย็บต่อเอวซิ่น คือการเย็บผ้าผืนสีขาวและสีแดง เรียกว่า เย็บเกี้ยว
- การเย็บตัวซิ่นกับเอวแดง เรียกว่า เย็บจ่องเอวกบ
- การเย็บตัวซิ่นกับตีนซิ่น เรียกว่า สนหางเลน (ตะกวด)
- การเย็บตัวซิ่นด้านข้างหรือการตีตะเข็บ เรียกว่า ดูกผ้า
ด้วยเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของผืนผ้าซิ่น เทคนิคการทอพิเศษที่สืบทอดกันมาอย่างแข็งขัน กระบวนการบริหารจัดที่ทันต่อยุคสมัย และการเผยแพร่ถึงคุณค่าเชิงวัฒนธรรม อาจถือได้ว่า ครูประนอม ทาแปง ผู้นำด้านการทอผ้าจกโบราณเชียงแสนแห่งเมืองลอง เป็นผู้คิดค้นการทอผ้าจกแบบยกเขา ที่ช่วยร่นระยะเวลาการทอด้วยเทคนิคการจกลงได้มากถึง 5 เท่า รวมถึงการรวบรวมลายผ้าซิ่นจกเชียงแสนโบราณที่มากว่า 200 ปีให้ยังคงมีชีวิตผ่านการทอใช้งานอย่างแพร่หลาย ตลอดจนแบ่งปันความรู้ความเข้าใจที่ได้เรียนรู้พัฒนาและต่อยอดการทอผ้าจกเมืองลองให้กับคนรุ่นใหม่ จนทำให้ความนิยมในผ้าจกเมืองลองขยายกลุ่มการทอไปอย่างกว้างขวาง เกิดเป็นความมั่นคงในอาชีพช่างทอผ้า ให้กับชุมชน และได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขา ทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์ - ศิลปะผ้าทอ) ในปี พ.ศ. 2553 และครูประนอม ทาแปง ยังได้จัดตั้ง บ้านศิลปินแห่งชาติประนอม เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ถ่ายทอดภูมิปัญญาสู่คนรุ่นหลัง เป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ผ้าจกเมืองลองและการย้อมสีธรรมชาติ เพื่อเป้าหมายการส่งต่อองค์ความรู้และสืบทอดประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของบรรพบุรุษไทยชาติพันธุ์ไท-ยวน ให้คนรุ่นหลังได้รู้จักสืบต่อไป