สร้อยคอประเกือมจารตะเกาดอกรังหอกผสม

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

  • สร้อยคอประเกือมจารตะเกาดอกรังหอกผสม ครูสมศักดิ์สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อต้องการนำเอารูปแบบของงานเครื่องเงินที่ได้สืบทอดมา ทั้งประเกือม จาร และ ตะเกา ที่ถูกใช้สอยในรูปแบบต่างกัน มาประกอบกันเป็นชิ้นงานในชุดเดียวกันคือสร้อยคอ  โดยใช้ประเกือม และจาร ทำเป็นตัวสายสร้อย และใช้ตะเกาทำเป็นตัวจี้
  • ตัวสายสร้อย เป็นประเกือมรูปทรงกลม (ลูกปะคำ) ตีลายกลีบบัว เรียงลำดับจากขนาดเล็กไปใหญ่ จำนวน 6 ชุด ๆ ละ 5 ลูก ร้อยสลับกับจาร (ตะกรุด) ตีลายกลีบบัว จำนวน 7 ชิ้น ด้วยเชือกแดงพันเกลียว ที่เชื่อว่าเชือกแดงจะช่วยป้องกันภยัตรายต่าง ๆ ได้ด้วย
  • ตัวจี้ เป็นตะเกาลายดอกรังหอก ซึ่งแต่เดิมดอกตะเกาจะมีขนาดเล็ก (เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณไม่เกิน 2 เซ็นติเมตร) เพราะทำขึ้นเพื่อเป็นต่างหูเท่านั้น แต่ครูสมศักดิ์ต้องการปรับตะเกาให้เป็นรูปแบบของจี้สร้อย ด้วยการขยายชิ้นงานตะเกาให้ใหญ่ขึ้น ( เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เซ็นติเมตร ) และทำเป็นลายดอกรังหอก อันเป็นลายโบราณที่ครูสมศักดิ์ได้สืบทอดไว้จนเป็นเอกลักษณ์ ดอกรังหอก ที่มีความหมายว่าเป็นดอกไม้แห่งมิตรภาพ การใช้เครื่องประดับลายดอกรังหอก หมายถึงการเสริมพลังบวก ด้านการรับไมตรีจากผู้อื่น มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม
  • ประเกือม เป็นภาษาเขมร หมายถึง ปะคำ ใช้เรียกเม็ดเงิน เม็ดทองชนิดกลม ที่นำมาร้อยเป็นเครื่องประดับ ประเกือมของจังหวัดสุรินทร์มีความแตกต่างจากที่อื่นๆ คือมีรูปแบบและลวดลายหลากหลาย เนื่องจากทำด้วยแผ่นเงินบางๆ ที่ตีเป็นรูปต่างๆ พร้อมกับอัดชันไว้ภายใน ทำให้สามารถแกะลายได้สะดวก ประเกือมมีตั้งแต่ขนาดเล็กที่สุดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณครึ่งเซ็นติเมตร ไปจนถึงขนาดใหญ่ประมาณ 2.5 – 3 เซ็นติเมตร มีหลายลวดลาย ได้แก่ ถุงเงิน หมอน แปดเหลี่ยม หกเหลี่ยม กรวย แมงดา กระดุม โอ่ง มะเฟือง ตะโพน ฟักทอง จารย์(ตะกรุด)  แกะลวดลายที่เลียนแบบจากธรรมชาติรอบตัว เช่น ลายตาราง ลายกลีบบัว ลายดอกพิกุล ลายดอกจันทร์ ลายพระอาทิตย์ ลายดอกทานตะวัน ลายตากบ เป็นต้น
  • จาร  เป็นภาษาเขมร หมายถึงเครื่องเงินเครื่องทองที่มีลักษณะเป็นปล้อง หรือหมายถึง ตะกรุด ที่ยึดโยงกับความเชื่อว่านิยมพกติดตัวเพื่อเพิ่มความเป็นสิริมงคล ปัดเป่า แคล้วคลาด ป้องกันสิ่งไม่ดีให้กับผู้เป็นเจ้าของ
  • ตะเกา เป็นภาษาเขมร ใช้เรียกต่างหู  เป็นเครื่องประดับที่ทำจากทองหรือเงิน ทำลวดลายเลียนแบบดอกไม้ ด้วยวิธีการขึ้นรูปด้วยการดัดเส้นลวดไปมาให้มีระยะห่างเท่า ๆ กันจนได้รูปทรง แล้วนำมาเชื่อมต่อกันเรียงวนรอบเป็นชั้น ๆ เหมือนองค์ประกอบของดอกไม้ คือ มีกลีบดอก และเกสร
ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องโลหะ
กลุ่มวัฒนธรรม :
ขอมโบราณ
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
สร้อย ยาว 50 เซนติเมตร จี้ เส้นผ่าศูนย์กลาง 6 เซนติเมตร
วัสดุ :
1. โลหะเงิน 2. ชัน 3. น้ำยาประสานเงิน 4. น้ำมันเบนซิน 5. น้ำกรดเจือจาง 6. น้ำแช่ลูกปะคำดีควายหรือแช่น้ำยาล้างจาน 7. เชือกแดง
อายุ/ปีที่ผลิต :
2563
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : การหลอม รีด ขด ดัด เชื่อม และแกะลาย โลหะเงิน
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :

  1. การออกแบบชิ้นงาน โดยกำหนดรูปทรงชิ้นงานที่ต้องการจะทำ  สำหรับชิ้นงานนี้ต้องการใช้ประเกือมลักษณะเม็ดกลมและจาร (รูปทรงปล้อง  หรือ ตะกรุด) ร้อยเป็นสร้อยคอประกอบจี้ตะเกาลายดอกรังหอก
  2. การหลอมโลหะเงิน  ชั่งน้ำหนักก้อนเงินตามต้องการ แล้วนำไปหลอมในเบ้าหลอมจนก้อนเงินละลาย แล้วนำไปเทใส่เบ้าจานหรือรางเทเงิน จะได้เป็นแท่งเงิน ทิ้งไว้ให้เย็น
  3. การรีดแท่งเงิน นำแท่งเงินมารีดเป็นแผ่น หรือดึงให้เป็นเส้นลวด จนได้ขนาดที่เหมาะสมสำหรับนำไปดัดเป็นลวดลายต่าง ๆ
  4. การขึ้นรูป ในขั้นตอนนี้จะใช้การเหยียบเครื่องสูบลมพ่นไฟหัวเชื่อม เพื่อช่วยให้เงินอ่อนตัวสามารถดัด ขึ้นรูป และเชื่อมติดได้โดยใช้น้ำยาประสานเงิน ในการเชื่อมเงินให้ติดกัน โดยแต่ละส่วนมีขั้นตอนการทำดังนี้
    1) ส่วนของสร้อยคอ (ประเกือม และ จาร)
    - ตัดแผ่นเงินตามขนาดของประเกือมแต่ละเม็ดที่ต้องการ โดยประเกือมเม็ดกลมให้ตัดแผ่นเงินขนาดสั้นยาวตามขนาดของเม็ดประเกือม  ส่วนจารให้ตัดแผ่นเงินตามขนาดความยาวของปล้อง  แล้วนำไปม้วนด้วยเลาไม้ไผ่เชื่อมต่อแผ่นเงินให้เป็นทรงกระบอก
    - นำแผ่นเงินทรงกระบอกสำหรับทำประเกือมเม็ดกลมแต่ละชิ้นสวมใส่แกนตะปูที่แท่นไม้ ใช้ค้อนที่หัวค้อนทำจากเขาควายตี เคาะขึ้นรูปชิ้นงานให้เป็นทรงจากส่วนปลายไล่ไปจนถึงส่วนกลางให้เหมือนกันทั้งสองด้าน ขณะขึ้นรูปจะเผาชิ้นงานด้วยความร้อนอย่างสม่ำเสมอ จากนั้นเคาะและพับเก็บขอบด้านข้างให้เรียบร้อย จนกระทั่งได้ประเกือมแบบเม็ดกลมขนาดต่าง ๆ ( ส่วนที่เป็นสายสร้อยจำนวน 6 ชุด ๆ ละ 5 ลูก, ส่วนที่เป็นหัวสร้อย จำนวน 2 ชุด ๆ ละ 1 ลูก และส่วนที่เป็นหัวจี้จำนวน 1 ชุด ๆ ละ 2 ลูก)
    - แผ่นเงินทรงกระบอกของจารที่เป็นสายสร้อยตีรูปให้ได้ทรงกระบอกยาว จำนวน 6 ชิ้น  ส่วนจารที่เป็นหัวสร้อยตีรูปให้เป็นข้อ ลักษณะเรียวสูง จำนวน 2 ชิ้น และจารที่เป็นหัวจี้จำนวน 1 ชิ้น
    -  ใส่ขอบลูกประเกือม และจาร โดยนำเส้นลวดขนาดเล็กม้วนให้เป็นวง นำมาเชื่อมติดกับปากลูกประเกือมและจารแต่ละชิ้นให้รอบทั้งสองด้าน
    - นำประเกือมและจารแต่ละชิ้นมาอัดชัน โดยนำชันมาให้ความร้อนอัดเข้าไปในรูลูกประเกือมและจารจนเต็มลูก กดให้เแน่นแล้วทิ้งไว้ให้เย็น
    - นำลูกประเกือมและจารมาแกะลายด้วยเหล็กสลักลวดลายเป็นลายกลีบบัวโดยรอบ
    - ใช้เหล็กแหลมเผาไฟให้ร้อนเจาะรูลูกประกือมและจารให้ทะลุ (เหล็กต้องมีขนาดเล็กกว่ารูของประเกือม)
    - เชื่อมติดห่วงเงินจุดที่ใช้ห้อยจี้ (กึ่งกลางของสายสร้อย
    2) ส่วนของจี้  (ตะเกาลายดอกรังหอก)
    - นำลวดเงินที่รีดเป็นเส้นตามขนาดที่ต้องการแล้วมาดัดงอเป็นกลีบดอกให้มีลักษณะเหมือนปากฉลาม โดยใช้คีมและใช้มือช่วยดัด ดัดไปมาให้ได้ 47 กลีบ จากนั้นนำลวดมาเชื่อมเข้าหากันเป็นวงกลมจะได้เป็นตััวดอกตะเกา มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 6 เซ็นติเมตร จัดแต่งรูปทรงลวดให้สวยงามมีระยะห่างเท่า ๆ กัน
    - นำแผ่นเงินอีกแผ่นตอกโดยใช้เหล็กตัดตู่ให้ได้แผ่นเงินวงกลม มีเส้นผ่านศูนย์กลางเล็กกว่าขนาดของดอกเล็กน้อย เพื่อให้กลีบดอกยื่นออกมาแล้วเชื่อมต่อกับลวดที่ดัดเป็นดอกแล้วเป็นฐานล่าง
    - นำลวดเส้นเล็กมาม้วนเป็นเกลียว โดยม้วนเป็นเกลียวซ้ายและเกลียวขวาสลับกันไปรม 5 เส้น แล้วดัดลวดทั้งสองเส้นให้เป็นวงกลมให้มีขนาดเล็กกว่าตะเกาชิ้น 1-2 มิลลิเมตร นำไปวางบนดอกตะเกา เชื่อมให้ติดกัน
    - ม้วนลวดให้เป็นวงกลม 1 เส้น เชื่อมติดในชั้นถัดไป
    - ทำดอกพริกโดยการใช้ลวดขนาดเล็กม้วนเป็นวงตัวหนอน วางในชั้นถัดไปโดยรอบให้ได้ 15 ดอก เชื่อมให้ดอกพริกติดกัน
    - ม้วนลวดให้เป็นวงกลม 1 เส้น เชื่อมติดบนดอกพริกในชั้นถัดไป
    - ทำก้นหอย โดยนำเส้นลวดมาเผาให้อ่อนตัวนำไปพันกับเส้นลวดทองเหลือง พันวนเป็นวงไปเรื่อยๆ จนเป็นตัวหนอน นำออกจากลวดทองเหลือง แล้วเชื่อมปลายให้ติดกันเป็นวง  แล้วนำก้นหอยเชื่อมติดกับลวดวงกลมในชั้นถัดไป
    - ทำก้นหอย และเชื่อมลวดวงกลมอีก 4 ชุด ในชั้นต่อๆ ไป
    - ติดไข่ปลาที่กลีบดอก โดยนำเม็ดไข่ปลาขนาดเล็ก 3 เม็ด เผาเชื่อมติดกันแล้วตีให้แบน นำไปติดบนปลายกลีบดอกทั้ง 47 กลีบ
    - ติดไข่ปลาที่ดอกพริก โดยนำเม็ดไข่ปลาขนาดใหญ่กว่า เผาตีให้แบน นำไปติดบนดอกพริกทั้ง 15 ดอก และ ติดที่ยอดเกสรศูนย์กลางของดอก
  5. การทำความสะอาดชิ้นส่วนงาน
    1)  นำชิ้นงานไปเผาเพื่อให้สนิมหลุดออก โดยใช้ไฟพ่นชิ้นงาน เมื่อเงินถูกความร้อนจะเป็นสีขาวนวลโดยธรรมชาติ
    2)  นำชิ้นส่วนงานแช่ในน้ำกรดผสมน้ำเปล่าเพื่อฟอกและกัดเครื่องประดับเงินให้มีสีขาว
    3)  นำชิ้นส่วนงานแช่ในน้ำแช่ลูกปะคำดีควายหรือแช่น้ำยาล้างจาน แล้วขัดด้วยแปรงขัดให้เกิดความมันวาว
    4)  นำไปเช็ดและเป่าให้แห้ง
  6. การประกอบชิ้นงาน
    1)  ร้อยต่อลูกประเกือมและจารด้วยเชือกสีแดงพันเกลียวเป็นส่วนของสายสร้อย และเชื่อมติดห่วงเงินจุดที่ใช้ห้อยจี้
    2)  เชื่อมต่อประเกือมและจารส่วนที่เป็นหัวจี้กับตัวจี้ดอกตะเกา

* **ดอกพริก** คือ รูปแบบของลายเครื่องเงิน มีลักษณะเป็นวงลวดตัวหนอน ทำด้วยการเผาลวดเงินให้อ่อนตัวนำไปพันกับเส้นลวดทองเหลืองขนาดเล็ก พันวนเป็นวงไปเรื่อยๆ แล้วนำออกจากเส้นลวดทองเหลือง นำมาพันรอบกล้าทองเหลืองขนาดใหญ่กว่าอีกครั้งจะได้เป็น “ตัวหนอน”  แล้วตัดตัวหนอนออกเป็นวง เชื่อมติดปลายให้แน่น แต่ละวงเรียกว่า “ดอกพริก
* **ก้นหอย** คือ รูปแบบของลายเครื่องเงิน มีลักษณะเป็นวงลวดตัวหนอนคล้ายกับดอกพริก แต่ใหญ่กว่า โดยนำเงินไปรีดเป็นเส้นลวดแล้วนำมาติดเป็นเส้นรอบวงกั้นไว้ก่อน  นำเส้นลวดอีกเส้นมาเผาให้อ่อนตัวนำไปพันกับเส้นลวดทองทองเหลือง พันวนเป็นวงไปเรื่อยๆ จนเป็นตัวหนอน นำออกจากเส้นลวดทองเหลือง นำไปติดเชื่อมให้ความยาวพอดีกับเส้นรอบวงที่ 1 ที่วางกั้นไว้แล้ว ทำเช่นกันนี้ติดเรียงเป็นชั้นๆ ตามที่ต้องการ
* **ไข่ปลา** คือ รูปแบบของลายเครื่องเงิน มีลักษณะเป็นเม็ดเงินกลม ใทำโดยใช้ลวดขนาดเล็กพันรอบลวดทองเหลืองขนาดที่ต้องการแล้วตัดลวดเป็นวง ใช้ไฟเป่าให้หลอมเป็นลูกกลม ไม้ที่รองทำไข่ปลาจะเอาไม้ไผ่มาบากให้เรียบแล้วเป่าด้วยไฟ ให้ข้างบนที่เรียบไหม้เป็นเหมือนถ่าน แล้ววางลวดที่เป็นวง เป่าให้หลอมบนนั้น คุณสมบัติของไม้ไผ่จะมีใยยึดเม็ดเงินกลมไม่ให้วิ่งไปติดกัน เวลาหลอมเป็นลูกกลม

ข้อมูลแหล่งที่มา