การทำเครื่องเงินของชาวสุรินทร์ สันนิษฐานว่ามีมาตั้งแต่ประมาณ 270 ปีมาแล้ว เมื่อชาวเขมรกลุ่มหนึ่งได้อพยพหนีภัยสงครามเมื่อกว่า 270 ปี จากกรุงพนมเปญข้ามพรมแดนมาตั้งภูมิลำเนาถาวรที่ โคกเมือง หรือ ประทายสมันต์ ซึ่งเป็นเมืองร้างแต่มีภูมิประเทศที่อุดมสมบูรณ์ (ปัจจุบันนี้คือ จังหวัดสุรินทร์) โดยพวกเขามีความสามารถในการตีทองรูปพรรณเป็นเครื่องประดับไม่ว่าจะเป็นเครื่องประดับคอ เรียกกันในภาษาถิ่นว่า จารล หรือ ตะกรุด ประเกือม หรือ ปะคํา สืบทอดวิชาช่างประกอบเป้นอาชีพ และเดินทางไปรับจ้างในจังหวัดใกล้เคียง เช่น บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ เป็นต้น จนเมื่อประมาณ พ.ศ. 2500-2521 งานทำทองรูปพรรณเป็นเครื่องประดับได้หยุดชะงักไป เพราะราคาสูงขึ้น ผู้คนหันไปนิยมซื้อทองรูปพรรณจากห้างทองมากขึ้น นี่จึงกลายเป็นจุดเปลี่ยนของการมองหาวัตถุดิบใหม่อย่าง “เงิน” เข้ามาเติมเต็มความต้องการงานเครื่องประดับดั้งเดิม ด้วยเทคนิคทักษะเชิงช่างชั้นสูงของงานเครื่องทองสุรินทร์ มาเป็นเครื่องประดับเงินอย่าง กำไลข้อมือ สร้อยประคํา ต่างหู แหวน ได้อย่างวิจิตรบรรจง
ครูป่วน เป็นอีกผู้หนึ่งที่ได้รับการถ่ายทอดวิชาช่างทองจนเป็นผู้เชื่ยวชาญการทำเครื่องประดับถวนหน้าของจังหวัดสุรินทร์ โดยในสมัยเรียนทำทองอยู่นั้นครูทองโฮม ผจญกล้า ได้สอนให้ทำ “ตะเกา” (เป็นภาษาเขมร ใช้เรียกต่างหู) ซึ่งเป็นเครื่องประดับที่ทำจากทองหรือเงิน ทำลวดลายเลียนแบบดอกไม้
ด้วยวิธีการขึ้นรูปด้วยการดัดเส้นลวดไปมาให้มีระยะห่างเท่า ๆ กันจนได้รูปทรง แล้วนำมาเชื่อมต่อกันเรียงวนรอบเป็นชั้น ๆ เหมือนองค์ประกอบของดอกไม้ คือ มีกลีบดอก และเกสร
หลังจากครูป่วนเรียนจบก็ออกมาก็หาประสบการณ์เพิ่มจากครูรุ่นเก่า และเรียนรู้จากชาวบ้านด้วยกันเอง ในที่สุดครูป่วนก็ได้สร้างสรรค์ผลงาน “ตะเกาเงิน” ต้นแบบขึ้น 13 ลาย จากการนำลวดลายของเครื่องเงินดั้งเดิมที่ได้ไปพบเห็นมา และคิดลวดลายเพิ่มจากจินตนาการของตนเองที่มีต่อธรรมชาติ ในรูปลักษณะของดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ที่ให้ความหมายถึงพลังบวก โดยครูป่วนมีความตั้งใจจะให้เป็นผลงานต้นแบบสำหรับการต่อยอดการทำเครื่องประดับเงินในรูปแบบต่างๆ และถ่ายทอดให้กับลูกหลาน ลูกศิษย์ เพื่อสืบทอดวิชาช่างนี้ให้คงอยู่ต่อไป
ตะเกาเงินทั้ง 13 ลายนี้ ครูป่วนได้เริ่มทำไปพร้อมกับการสอนลูกศิษย์ที่มาจากวิทยาลัยกาญจนาภิเษกช่างทองหลวง จากเมื่อครั้งที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมประชาชนที่ อำเภอเขวาสินรินทร์ ครูป่วนมีโอกาสได้สาธิตการทำเครื่องเงินลายโบราณต่อหน้าพระพักตร์ ทำให้พระองค์สนพระราชหฤทัยรับสั่งให้นำนักเรียนจากวิทยาลัยกาญจนาภิเษกช่างทองหลวงเข้ามาศึกษาเรียนรู้ ซึ่ง “ตะเกาเงิน” 13 ลายชุดนี้ ครูป่วนได้ใช้เป็นวิชาสอนลูกศิษย์และทำขึ้นเป็นต้นแบบ แต่ละลายทำขึ้นเป็นคู่ รวมเป็น 26 ชิ้น ประกอบไป
- ลายดอกระเวียง
- ลายดอกตั้งโอ๋
- ลายดอกมะลิ
- ลายไข่แมงดา
- ลายดอกขจร
- ลายดอกปลึด
- ลายดอกทานตะวัน
- ลายรังหอก
- ลายดอกตั้งโอ๋สามชั้น
- ลายดอกปลึดสามชั้น
- ลายดอกรังหอกโปร่ง
- ลายรังผึ้ง
- ลายรังแตน
หลังจากนั้น สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเยี่ยมประชาชนที่นี่อีกครั้ง ครูป่วนได้มีโอกาสทูลเกล้าฯ ถวาย ตะเกาเงินต้นแบบ 13 คู่นี้ พร้อมเข็มขัดเงินประกอบลายตะเกาทั้ง 13 ลาย อีก 2 เส้น ซึ่งสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงรับและมอบเข็มขัดเงิน 1 เส้น และตะเกาเงินต้นแบบ 1 ชุด กลับคืนให้ครูป่วนและทรงรับสั่งว่า “ห้ามขาย” ให้นำไปไว้สำหรับถ่ายทอดให้ลูกหลานได้เรียนรู้เป็นวิชาติดตัวต่อไป นับพระมหากรุณาธิคุณและเป็นมงคลกับชีวิตของครูป่วนและครอบครัวเป็นอย่างยิ่ง ปัจจุบันครูป่วนได้พัฒนาลวดลายตะเกาเงินเพิ่มขึ้นกว่า 24 ลายแล้ว