ตะเกาเงินลายดอกปลึด

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ตะเกาเงินลายดอกปลึด เป็นลายดั้งเดิมที่ครูป่วนนำต้นแบบมาจากลายโบราณที่ได้รับการสืบทอดมาจากรุ่นบรรพบุรุษ เป็น 1 ใน 13 ลายของตะเกาเงินต้นแบบของครูป่วน มีรูปทรงเป็นดอกไม้ต่อก้านดอกติดบนฐาน ดอกเป็นทรงกลม กลีบดอกมีลักษณะเป็นแฉก  1 แถว  ส่วนของเกสรเริ่มด้วยเส้นเงินลายลวดฟั่นติดวนสลับแนวกัน 4 แถว ถัดเข้ามาเป็นลายดอกพริก ต่อด้วยเกสรชั้นในเป็นลายก้นหอยวนรอบ 7 แถว ก้านดอกเป็นก้านเหลี่ยมดัดโค้ง ฐานดอกเป็นทรงถ้วยคว่ำ ประดับด้วยเป็นลายไทย ขอบฐานประดับด้วยด้วยเส้นเงินลายลวดฟั่น ฐานดอกเป็นตัวอักษร “ดอกปลึด” และ “ช.ป่วน”

  • ดอกปลึด  ในภาษาไทยคือ ดอกบัวเผื่อน เป็นพันธ์ไม้คล้ายบัวสาย ใบเป็นรูปไข่ยาวปลายมน ตัวดอกเป็นพืชสมุนไพรโบราณบำรุงร่างกาย หัวใจ และโลหิต ก้านดอกนำมาประกอบอาหารได้
ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องโลหะ
กลุ่มวัฒนธรรม :
ขอมโบราณ
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 11 เซ็นติเมตร สูง 15 เซ็นติเมตร หนา 7 เซ็นติเมตร
แหล่งที่มา :
วิสาหกิจชุมชนลุงป่วน เครื่องเงินลายโบราณ
วัสดุ :
1. โลหะเงิน 2. น้ำยาประสานเงิน 3. น้ำมันเบนซิน 4. น้ำกรดเจือจาง
อายุ/ปีที่ผลิต :
2560
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : การหลอม รีด ขด ดัด เชื่อม และแกะสลัก โลหะเงิน
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :

ใช้ขั้นตอนการทำเงินลายโบราณ ดังนี้

  1. นำเงินไปหลอม  โดยนำก้อนเงินลงหลอมในเบ้าหลอมจนก้อนเงินละลายเหลว แล้วนำไปเทใส่เบ้าจานหรือรางเทเงิน จะได้เป็นแท่งเงิน ทิ้งไว้ให้เย็น
  2. นำแท่งเงินมารีดเป็นแผ่น หรือดึงให้เป็นเส้นลวด จนได้ขนาดที่เหมาะสมสำหรับนำไปดัดเป็นลวดลายต่างๆ
  3. ดัดและประกอบชิ้นงาน ในขั้นตอนนี้จะใช้การเหยียบเครื่องสูบลมพ่นไฟหัวเชื่อม เพื่อช่วยให้เงินอ่อนตัวสามารถดัด ขึ้นรูป และเชื่อมติดได้  โดยใช้น้ำยาประสานเงินในการเชื่อมเงินให้ติดกัน
    สำหรับการทำ ตะเกาเงินลายดอกปลึด มีขั้นตอนดังนี้
     1) การขึ้นดอก :
    - ทำแผ่นเงินรับตัวดอก : นำเงินมารีดที่เป็นแผ่นแบนๆ แล้วใช้เหล็กตุ๊ดดู่ตัดขอบแผ่นเงินให้แผ่นวงกลม เพื่อใช้เป็นฐานรองรับตัวดอก
    - ทำกลีบดอกปลึด : ทำโครงกลีบดอกก่อน โดยนำลวดเงินมาดัดกับไม้ดัดดอก ดัดไปมา ใช้แหนบจัดแต่งโครงมีปลายแหลม  แล้วนำไปเชื่อมติดรอบๆ ขอบแผ่นวงกลมให้เต็มรอบวง  ทำกลีบดอก โดยนำเงินรีดเป็นแผ่น แล้วใช้เหล็กตุ๊ดดู่ตัดขอบแผ่นเงินให้เป็นกลีบทรงสามเหลี่ยมปลายแหลม นำไปติดบนโครงกลีบดอกแต่ละกลีบ
    - ทำเกสร : เกสรชั้นนอก ใช้ลวดพันเป็นเกลียวลายลวดฟั่น 4 เส้น ติดสลับแนวกัน แล้วทำดอกพริกติดเกสรด้วยไข่ปลาตีแบน 16 ดอก ติดวนรอบต่อเข้ามาจากลายลวดฟั่น ส่วนเกสรชั้นนอก ทำเป็นลายก้นหอย 7 ชั้น  ตรงกลางเกสรติดด้วยเงินลายดอกพริก และนำเงินขึ้นรูปทรงกลมนูนวางติดตรงกลาง
  1. การติดก้านดอกและฐานชิ้นงาน
    -  ทำก้านดอก : นำเงินไปรีดเป็นเส้นทรงสี่เหลี่ยม ดัดโค้งให้เป็นก้านดอก นำไปติดเชื่อมกับด้านหลังของตัวดอก
    - ทำฐานชิ้นงาน : นำเงินไปหลอมขึ้นรูปเป็นทรงถ้วยคว่ำ ติดประดับด้วยลายไทย จากการนำแผ่นเงินรีดให้เป็นแผ่นบางๆ แกะสลักดุนเป็นลาย  ขอบฐานใช้ลวดพันเป็นเกลียวลายลวดฟั่น 2 เส้นติดสลับแนวกัน
    -  เชื่อมก้านดอกเข้ากับฐานชิ้นงาน
    - ตีแผ่นเงินสลักตัวอักษรคำว่า “ดอกปลึด” และ “ช.ป่วน” ติดที่ฐานดอกด้านหน้าและด้านหลัง
  1. นำชิ้นงานไปเผาเพื่อให้สนิมหลุดออก โดยใช้การเหยียบเครื่องสูบลมพ่นไฟด้วยหัวเชื่อมจากน้ำมันเบนซินเผาชิ้นงาน เมื่อเงินถูกความร้อนจะเป็นสีขาวนวลโดยธรรมชาติ
  2. นำชิ้นงานแช่ในน้ำกรดเจือจางเพื่อให้เกิดความเงา
  3. ล้างและขัดชิ้นงานด้วยแปรงให้เงินใสสวย
  4. นำชิ้นงานเช็ดและไปเป่าให้แห้ง
  • ก้นหอย คือ รูปแบบของลายเครื่องเงิน โดยนำเงินไปรีดเป็นเส้นลวดแล้วนำมาติดเป็นเส้นรอบวงไว้ก่อน  นำเส้นลวดอีกเส้นมาเผาให้อ่อนตัวนำไปพันกับกล้าทองเหลือง พันวนเป็นวงไปเรื่อยๆ จนเป็นตัวหนอน นำออกจากกล้าทองเหลือง นำไปติดเชื่อมให้ความยาวพอดีกับเส้นรอบวงที่ 1 ทำเช่นกันนี้ติดเรียงเป็นชั้นๆ ตามที่ต้องการ
  • ไข่ปลา คือ รูปแบบของลายเครื่องเงิน มีลักษณะเป็นเม็ดเงินกลม ทำด้วยวิธีการตัดลวดเงินเป็นข้อเล็กๆ แล้วใช้ไฟลนหลอมจนเงินรวมตัวกันเป็นก้อนเงินกลม
  • ดอกพริก คือ รูปแบบของลายเครื่องเงิน มีลักษณะเป็นวงลวดตัวหนอน ทำด้วยการเผาลวดเงินให้อ่อนตัวนำไปพันกับกล้าทองเหลือง พันวนเป็นวงไปเรื่อยๆ แล้วนำออกจากกล้าทองเหลือง นำมาพันรอบกล้าทองเหลืองอีกครั้งจะได้เป็น “ตัวหนอน”  แล้วตัดตัวหนอนออกเป็นวง เชื่อมติดปลายให้แน่น แต่ละวงเรียกว่า “ดอกพริก”
ข้อมูลแหล่งที่มา
แหล่งเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมที่เกี่ยวข้อง
วิสาหกิจชุมชนลุงป่วน เครื่องเงินลายโบราณ
ดูรายละเอียด