ผ้าโฮลเปราะห์สมปักปูมลายนาคสองวัฒนธรรม

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ผ้าโฮลเปราะห์สมปักปูมลายนาคสองวัฒนธรรม เป็นผลงานการรื้อฟื้นผ้าสมปักปูมที่ครูสุรโชติสร้างสรรค์ขึ้นให้เป็นผ้านุ่งผู้ชาย (โฮลเปราะฮ์) จากการคัดคัดลวดลายมาจากโครงสร้างของผ้าพิมพ์ลายอย่าง เป็นผ้าทอ 3 ตะกอ เหยียบและขึ้นลายด้วยกระบวนการทอผ้าโฮล หรือผ้ามัดหมี่  ทอลวดลายแบบโบราณเป็นผืนเดียว (แต่เดิมผ้าสมปักปูมเป็นผืนผ้าหน้าแคบ ที่ต้องนำผ้าสองผืนมาเย็บ หรือ “เพลาะ” ต่อกัน ผืนผ้าจึงจะมีความกว้างและมีความยาวกว่าผ้านุ่งธรรมดาเพื่อใช้เป็นผ้านุ่งโจงได้) มีสีแดง สีดำ และสีเหลือง เป็นสีหลัก ความพิเศษของลายผ้าผืนนี้เกิดจากการนำลายของผ้าเขมรโบราณกับลายผ้าของไทยมาผสมรวมกัน ประกอบด้วย
ท้องผ้า : คือลวดลายหลักอยู่กลางผืนผ้า เป็นลายที่นำมาจากโครงสร้างของลายผ้าเขมรโบราณที่ใช้ในพิธีการทางศาสนา เป็นผ้าม่านกั้นขณะพระสงฆ์เทศนา ลายหลักคือตัวนาคที่ปรับด้วยการใช้ลายนาคแบบของไทย (ลายนาคของเขมรโบราณลำตัวจะสั้นกว่าลายนาคของไทย) ประกอบลายช้าง ม้า ปลาวาฬ นกยูง หงส์ บายศรี ที่รูปแบบและโครงสร้างลายเหมือนผ้าเขมรโบราณทุกประการ ซึ่งส่วนของท้องผ้าผืนนี้เป็นลายค่อนข้างใหญ่ทอด้วยไหมเส้นพุ่งจำนวน 105 ลำ

  • ช่อแทงท้อง : คือลวดลายกรอบรอบท้องผ้า
  • สังเวียน หรือ ขอบผ้า :  คือลวดลายขนาบท้องผ้า มีความพิเศษกว่าผ้าชิ้นอื่นคือ มีลายสังเวียนประกอบถึง 2 ชั้น
  • กรวยเชิง หรือเชิงผ้า : คือเชิงผ้าทั้งสองข้าง หรือทางวิชาการเรียกว่า “ชุดลายหน้ากระดาน” ซึ่งมีเส้นแม่ลายขนาดใหญอยู่ตรงกลางขนาบด้วยลูกขนาบ ตั้งฉากกับสังเวียน ถัดออกมาจากลูกขนาบด้านนอกมีลายในรูปทรงกรวย เรียงสลับกันในแนวนอน หันด้านนปลายแหลมของกรวยเชิงออกสู่ด้านนอกของชายผ้าตลอดแนวชุดลายหน้ากระดาน เรียกลายในทรงกรวยนี้ว่า “ลายกรวยเชิง” ซึ่งผ้าผืนนี้บรรจุชุดลายกรวยเชิง 3 ชั้น ชั้นที่ 1 ทอด้วยไหมเส้นพุ่งจำนวน 51 ลำ, ชั้นที่ 2 ทอด้วยไหมเส้นพุ่งจำนวน 69 ลำ, ชั้นที่ 3 ทอด้วยไหมเส้นพุ่งจำนวน 91 ลำ
  • ปลายผ้าด้านที่เริ่มต้นทอมี “เจือย” (ลายผ้าที่ทอก่อนการทอเข้าผืนจริง) ทอเปิดลายเป็นลายมัดหมี่ อันเป็นสัญลักษณ์ที่เป็นเอกลักษณ์ของการทอผ้าของชาวสุรินทร์
ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องทอ
กลุ่มวัฒนธรรม :
ไทย-เขมร
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 1 เมตร ยาว 3.5 เมตร
แหล่งที่มา :
กลุ่มมัดหมี่โฮลโบราณย้อมสีธรรมชาติ ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
วัสดุ :
เส้นไหมน้อย,สีย้อมไหมจากวัสดุธรรมชาติ ได้แก่ (เปลือกเงาะ และ โคลน ให้สีดำ,ครั่ง ให้สีแดง,เปลือกมะพูด และแก่นเข ให้สีเหลือง,คราม ให้สีฟ้า),สารธรรมชาติช่วยในการติดสี ได้แก่ (ใบเหมือดแอ,ใบชงโค,ใบมะขาม ใช้ในการย้อมครั่ง,สารส้ม ใช้ในการย้อมสีเหลือง,มะขามเปียก, น้ำด่าง ใช้ในการย้อมคราม),แป้งข้าวเจ้า,แป้งท้าวยายม่อม,นำ้มันพืช,เชือกฟาง
อายุ/ปีที่ผลิต :
2566
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : ทอผ้ามัดหมี่ย้อมสีธรรมชาติ
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :

  1. การออกแบบลวดลาย
    ครูสุรโชตินำลวดลายต้นแบบมาจากลายผ้าสมปักโบราณ ที่ได้สืบค้นลายผ้าเก่าจากพิพิธภัณฑ์ หนังสือผ้าโบราณ เช่น ลายจากผ้าลายอย่าง,  ลายจากผ้ายก หรือลายจากผ้าปูม มาสร้างสรรค์เป็นผ้าโฮลสมปักปูมที่มีลักษณะของโครงสร้างของผ้าเช่นเดียวกับรูปแบบ “ผ้าสมปัก” ของขุนนางในราชสำนักสยามในอดีต ซึ่งเป็นผ้าที่มีกรอบ มีเชิง เพื่อเป็นการอนุรักษ์ลายผ้าโบราณให้คงไว้ด้วยวิธีการทำเป็นผ้ามัดหมี่หรือที่ชาวอีสานใต้เรียกว่า “ผ้าโฮล” ซึ่งเมื่อได้ลายผ้าต้นแบบแล้วก็นำมาเขียนลายลงบนตารางกราฟเพื่อนำไปเป็นแบบใช้ในขั้นตอนของการมัดหมี่
  2. การย้อมไหมเส้นยืน
    “โฮล”ในภาษาเขมรสุรินทร์มีความหมายใช้เรียกเฉพาะเจาะจงถึงผ้านุ่งที่สร้างจากกระบวนการมัดย้อมเส้นพุ่งเท่านั้น ส่วนเส้นยืนทุกเส้นจะถูกย้อมเป็นสีเดียว ซึ่งผ้าโฮลสมปักปูมผืนนี้ครูสุรโชติย้อมไหมเส้นยืนทั้งหมดเป็นสีดำที่มาจากการย้อมด้วยเปลือกเงาะลงโคลน โดยมีขั้นตอนดังนี้
    - ใช้เปลือกเงาะสดประมาณ 8 กิโลกรัม (สำหรับเส้นไหม 1 กิโลกรัม)  สับเป็นชิ้นเล็ก ๆ ไปต้มกับน้ำเพื่อสกัดสี โดยใช้เปลือกเงาะสด 1 ส่วนน้ำ 2 ส่วน ต้มนานประมาณ 2 ชั่วโมง สีที่ได้นี้จะเป็นสีน้ำตาลเข้ม
    - นำเส้นไหมน้อยที่ผ่านการฟอกและล้างสะอาดแล้วไปลงไปย้อมร้อนกับน้ำสีจากเปลือกเงาะ นานประมาณ 2 ชั่วโมง
    - นำเส้นไหมล้างให้สะอาดผึ่งให้แห้ง
    - นำเส้นไหมมาหมักกับโคลนเป็นเวลา 7-8 ชั่วโมง เส้นไหมที่ได้จะกลายเป็นสีดำ ล้างเส้นไหมให้หมดน้ำโคลนนำไปกระตุกให้เรียงเส้นบนราวกระตุกไหมผึ่งแดดให้แห้งสนิท
    - เส้นไหมที่แห้งสนิทแล้วมาลงแป้งโดยใช้แป้งแป้งข้าวเจ้าและแป้งท้าวยายม่อมผสมกับน้ำใส่ภาชนะตั้งไฟคนให้พอเหนียว เติมน้ำมันพืชลงไปเล็กน้อยจะทำให้เส้นด้ายลื่นมีความมัน คนให้เข้ากันและยกลงมาวางไว้ให้เย็นเอาเส้นไหมใส่ลงไป พลิกเส้นไหมกลับไปกลับมาให้แป้งติดทั่วถึงกัน บิดพอหมาด กระตุกเส้นไหมแล้วนำไปตากจนแห้งสนิท
    - นำเส้นไหมที่แห้งสนิทแล้วปั่นใส่หลอดเตรียมไว้สำหรับการเดินเส้นยืน เส้นไหมน้อยจำนวน 1 กิโล สามารถนำไปใช้เป็นเส้นยืนทอผ้าโฮลหน้ากว้าง 1 เมตร ได้ความยาว 14 เมตร
  3. การเตรียมไหมเส้นพุ่ง
    การทอผ้าสมปักปูมนั้น เป็นการทอโดยใช้ไหมเส้นพุ่งที่มีสีต่างกันในแต่ละเส้น ด้วยกรรมวิธีการสร้างลวดลายบนผ้าด้วยเทคนิคแบบ “มัดหม่ี” โดยเส้นพุ่งที่มีสีต่างกันนั้นเกิดจากการมัดลำเส้นไหมแต่ละลำตามแบบกราฟที่เขียนไว้แล้วนำไปย้อมด้วยสีจากธรรมชาติให้เกิดสีที่แตกต่างกันก่อนจะนําไปทอเป็นผืนผ้าให้ได้ลวดลายตามที่ออกแบบไว้ โดยมีขั้นตอนดังนี้
    การค้นหมี่ : นำเส้นไหมที่ฟอกแล้วมาแบ่งกลุ่มเพื่อเตรียมมัดลายก่อนนำไปย้อมด้วยการ “ค้นหมี่” แบบโบราณ คือการใช้มือวนเส้นไหมรอบหลักค้นหมี่ไปทางซ้ายและทางขวา วนไปเรื่อยๆจนครบจำนวนเส้นไหมที่กำหนดแล้วจึงมัดรวมเส้นไหมให้เป็น 1 ลำ แล้วจึงพันเส้นไหมวนต่อไปในในลำที่ 2 ต่อเน่ืองกันไปจนครบจำนวนลำตามที่ออกแบบไว้ในตารางกราฟ ซึ่งลวดลายแต่ละชั้นก็จะใช้จำนวนลำไหมที่แตกต่างกันไปตามขนาดของลวดลายนั้นๆ โดยนับลำรวมกันทั้งหมดใน 1 ชั้นนั้น ว่า 1 หัว
    การมัดหมี่ : เป็นการมัดลำเส้นไหมตามการวางลายจากตารางกราฟที่ได้ออกแบบไว้ด้วยการใช้วัสดุที่ไม่ดูดซึมสี เช่น เชือกกล้วย หรือเชือกฟาง เพื่อปิดไม่ให้สีย้อมซึมเส้นไหมส่วนที่มัดเข้าไปได้ โดยมัดปิดเส้นไหมสีขาวไว้ในส่วนเฉพาะส่วนที่ต้องการให้เป็นสีไหมธรรมชาติและส่วนที่จะทำให้เกิดเป็นสีแดง สีเหลือง สีเขียว  สีฟ้า หรือสีดำ ในการย้อมในรอบต่อ ๆ ไป
  4. การย้อมไหมเส้นพุ่ง
    เป็นการย้อมไหมเส้นพุ่งด้วยสีจากธรรมชาติให้เกิดสีที่แตกต่างกันในเส้นไหมแต่ละลำ เมื่อทอแล้วจะทำให้เกิดลวดลายที่สวยงาม ซึ่งการย้อมผ้าโฮลจะทำการย้อม 3 รอบ ทำให้เกิดสีที่เป็นสีหลัก ๆ ได้แก่ สีแดง สีเหลือง สีเขียว สีน้ำเงิน และสีดำ โดยมีลำดับการย้อมดังนี้
    การย้อมสีแดง (ครั่ง) : เป็นการย้อมเส้นไหมรอบที่หนึ่ง เพื่อย้อมส่วนที่เปิดลำไหมสีขาวให้เป็นสีแดงด้วยครั่ง ตามขั้นตอนดังนี้
    - นำเส้นไหมมัดหมี่แช่น้ำสารส้ม 1 คืน ระหว่างนี้ให้เตรียมน้ำครั่ง
    - เตรียมน้ำครั่ง ซึ่งหากต้องการสีแดงที่เข้มสด มักใช้ครั่งน้ำหนัก 6 - 7 กิโลกรัม ต่อมัดหมี่สมปักปูม 1 หัว ( 105 ลำ) หากต้องการสีอ่อนลงก็ลดหลั่นน้ำหนักครั่งตามลำดับ
    - วิธีสกัดน้ำครั่ง นำครั่งมาล้างในน้ำเปล่าให้สะอาดทิ้งไว้ให้สะเด็ดน้ำ นำครั่งไปตำในครกโดยแบ่งตำที่ละน้อย นำครั่งที่ตำแล้วเทใส่โอ่งจนครับทั้ง 7 กิโลกรัม แบ่งน้ำครั่งใส่หม้อขึ้นตั้งไฟเติมน้ำ 20 ลิตร ใส่ใบเหมือดแอ, ใบชงโค และใบมะขาม (สารธรรมชาติที่ช่วยให้ติดสี) ต้มให้เดือดจนใบไม้มีสีอ่อน จะได้น้ำครั่งสีแดงเข้ม
    - ตักน้ำครั่งในหม้อใส่ภาชนะใส่ภาชนะ นำเส้นไหมมัดหมี่ที่แช่ด้วยน้ำสารส้มและตากจนแห้งหมาดแล้ว ใส่ลงภาชนะ ใช้สากตำและค่อยๆ นวดให้น้ำครั่งซึมเข้าไปในข้อ
    - นำมัดหมี่ไปต้มในหม้อน้ำครั่งต้ม สังเกตน้ำย้อมถ้าใสแล้วแสดงว่าเส้นไหมได้ดูดสีจนเกือบหมด ยกเส้นไหมไปผึ่งลม หากสีของเส้นไหมยังไม่แดงเข้มเท่าที่ต้องการ ให้ทำกระบวนการนี้ซ้ำอีกประมาณ 3 รอบ จนกระทั่งเส้นไหมมีสีแดงตามที่ต้องการ
    - นำเส้นไหมมัดหมี่มาล้างให้สะอาด แล้วแช่ในน้ำละลายสารส้ม แล้วจึงนำมาล้างในน้ำสะอาดอีกหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งจนสีแดงส่วนเกินหมดไป บิดน้ำออก นำขึ้นตาก ซึ่งสีที่ได้จากการย้อมครั้งที่ 1 นี้ จะได้สีแดง ส่วนที่มัดไว้จะเป็นสีขาวของไหมธรรมชาติ
    การย้อมสีเหลือง (เปลือกมะพูดและแก่นเข) : เป็นการย้อมเส้นไหมมัดหมี่รอบที่สอง ซึ่งก่อนจะย้อมต้องทำการ “โอบหมี่” (ในภาษาเขมรเรียกว่า “ลุม”) เพื่อเก็บสีจากการมัดครั้งที่หนึ่งไว้ด้วยการใช้เชือกฟางพันส่วนที่ต้องการเปิดหรือปิดลายไว้ก่อน หากต้องการสีเหลืองให้ตัดเชือกเพื่อเปิดไหมสีขาว, สีครามให้ปิดเชือกที่มัดไหมสีขาวไว้ และ สีแดงให้โอบเชือกปิดไว้   เมื่อโอบหมี่เสร็จเรียร้อยแล้วจึงนำไปย้อมสีเหลืองตามขั้นตอนดังนี้
    -  เตรียมน้ำมะพูด (ภาษาเขมรเรียก “ประโฮด”) โดยสับเปลือกมะพูดไว้ประมาณ 10 กิโลกรัม ทยอยนำไปต้มกับน้ำให้เดือดจนน้ำเป็นสีขาวน้ำนม เทใสาถังแล้วต้มอีกจนสีจางให้ได้น้ำตามปริมาณที่ต้องการ
    - เตรียมน้ำแก่นเข โดยสับแก่นเข ประมาณ 5 กิโลกรัม นำไปต้มกับน้ำให้เดือดจนน้ำเป็นสีเหลืองเข้ม เทใส่ภาชนะพักไว้
    - วิธีย้อมสีเหลือง นำน้ำมะพูด 20 ลิตร ต้มให้เดือด ใส่สารส้ม 2 ช้อนโต๊ะ นำมัดหมี่ลงต้มจนน้ำเริ่มใส ยกมัดหมี่ออกล้าง แล้วตากแดด เตรียมย้อมรอบที่สอง เทน้ำมะพูด 10 ลิตร และน้ำแก่นเข 5 ลิตร รวมกัน ใส่สารส้ม 2 ช้อนโต๊ะ พอเดือดนำมัดหมี่ลงต้มจนน้ำใส ยกขึ้นล้างจนหมดสีส่วนเกิน
    การย้อมคราม : เป็นการย้อมในรอบสุดท้าย ซึ่งก่อนการย้อม ให้ตัดเชือกออกทั้งหมด จะมองเห็นเป็นลวดลายตามแบบได้ชัดเจนขึ้น แล้วจึง “โอบหมี่” ในรอบสุดท้ายเพื่อเปิดปิดสี หากส่วนใดต้องการสีครามให้เปิดสีขาวไว้ ต้องการสีเขียวให้เปิดสีเหลืองไว้ ต้องการสีดำให้เปิดสีแดงไว้ ต้องการสีเหลืองให้โอบปิดสีเหลืองไว้  ใต้องการสีแดงให้โอบปิดสีแดงไว้ ต้องการสีขาวให้โอบปิดสีขาวไว้ เมื่อโอบหมี่เรียบร้อยแล้วจึงนำไปย้อมครามซึ่งเป็นการย้อมเย็นตามขั้นตอนดังนี้
    - เตรียมสีครามด้วยเทคนิค “การก่อหม้อคราม” ซึ่งเป็นวิธีการตามแบบโบราณที่ได้รับการสืบทอดมาจากจากบรรพบุรุษกว่า 100 ปี เริ่มด้วย นำเนื้อคราม 2 กิโลกรัมผสมน้ำด่าง (น้ำขี้เถ้า) 2 ลิตร ในโอ่งดินกวนให้เป็นเนื้อเดียวกัน  ทุกเช้าและเย็นต้อง “โจกคราม” ด้วยการตักน้ำย้อมยกขึ้นสูง 1 ฟุตโดยประมาณ แล้วเทน้ำกลับคืนลงหม้อดังเดิม 4- 5 ครั้ง  สังเกตสีกลิ่นและฟอง ถ้าฟองแตกเร็วให้เติน้ำด่างเล็กน้อย ถ้าฟองมัวและคงทนถาวร แสดงว่าสัดส่วนพอดี วันที่ 3 ให้ใช้มะขามเปียก 100 กรัม ต้มกับน้ำ 1 ลิตร พักให้เย็น ผสมลงไปในโอ่งน้ำย้อม เพื่อช่วยเร่งการเกิดสี โจกครามทุกวันและสังเกตต่อไป ซึ่งน้ำย้อมจะใสขึ้น เปลี่ยนเป็นสีเขียวปนน้ำเงิน กลิ่นหอมอ่อน ฟองสีน้ำเงิน โจกครามทุกวันจนกว่าน้ำย้อมจะเป็นสีเหลืองอมเขียวหรือเขียวยอดตอง ขุ่นข้น ฟองสีน้ำเงินเข้มวาว ไม่แตกยุบ แสดงว่าสีน้ำครามใช้ได้แล้ว ซึ่งจะใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 7 วัน ซึ่งหม้อคราม 1 หม้อจะสามารถย้อมไหมได้ 2 ครั้ง คือเช้ากับเย็น ดังนั้นจึงควรเตรียมหม้อครามไว้หหลายๆ หม้อเพื่อย้อมให้ได้หลายๆ ครั้งในหนึ่งวัน ซึ่งหม้อครามนั้นสามารถใช้ย้อมติดต่อกันได้เป็นเวลา 2-3 ปีโดยไม่ต้องก่อหม้อครามใหม่อีก
    -  ครูสุรโชติใช้เทคนิคพิเศษ คือ ให้นำหม้อครามไปตั้งรับแสงแดดในช่วงเช้าให้หม้อครามอุ่นๆ แล้วค่อยย้อมในช่วงเวลาสายๆ สีของครามจะติดเข้าข้อได้ดีกว่า
    -  นำเส้นไหมมัดหมี่จากการเสร็จการการย้อมรอบที่ 2 แล้วแช่ลงในหม้อคราม บีบนวดเส้นไหมเพื่อให้สีครามซึมเข้าจนทั่ว
    -  นำเส้นไหมไปตากผึ่งแดด โดยตากแผ่บนพื้นที่ปูด้วยใบมะพร้าว สีครามเมื่อถูกอากาศสีจะเข้มขึ้นใน 2-3 นาที หากสียังเข้มไม่พอให้ทำการย้อมซ้ำในหม้อใบใหม่ หลาย ๆ รอบ จนกระทั่งเส้นไหมมีสีตามที่ต้องการ
    - นำเส้นไหมมาล้างให้สะอาด ตัดเชือกทั้งหมดออก แล้วแช่ในน้ำละลายสารส้ม แล้วจึงนำมาล้างในน้ำสะอาดอีกหลายๆ ครั้ง จนกระทั่งจนสีครามส่วนเกินหมดไป บิดน้ำออก นำขึ้นตาก
  5. การบรรจุเส้นพุ่งเข้ากระสวย : เมื่อย้อมไหมเส้นพุ่งครบทั้ง 3 ครั้งแล้ว จะได้สีทั้งหมด 6 สี คือ สีขาวของไหมธรรมชาติ, สีแดงจากการย้อมครั่ง, สีเหลืองจากการย้อมมะพูดและแก่นเข, สีน้ำเงินจากการย้อมคราม, สีเขียวจากการย้อมแดงและเหลือง, สีดำ(เม็ดมะขาม) จากการย้อมแดงและคราม  ซึ่งสีที่ได้จากการย้อมจากวัสดุธรรมชาติในแต่ละครั้งนั้น สีที่ได้อาจมีความแตกต่างกันบ้างตามธรรมชาติ นับเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง นำเส้นไหมมัดหมี่ 1 หัว ที่ย้อมครบทั้ง 3 รอบแล้วกรอเข้าอัก แล้วปั่นเข้ากระสวย 1 กระสวยเพื่อนำขึ้นทอในลำดับต่อไป
  6. การเตรียมไหมเส้นยืนเข้าฟืม (ฟันหวี)
    นำเส้นไหมยืนที่ย้อมเป็นสีดำแล้ว ไปเดินเส้นยืนด้วยฟืมหรือฟันหวี ขนาด 42 หลบ ( เดินเส้นยืนหลบละ 40 เส้น ซึ่งจะต้องเดินเส้นยืนรวม 1,680 เส้น)  เก็บตะกอแบบ 3 ตะกอ (เมื่อเหยียบแล้วจะขึ้นเป็นลายก้นหอย)  ดึงปลายไหมเส้นยืนทั้งหมดม้วนเข้ากับแกนม้วนอีกด้านหนึ่ง ปรับความตึงหย่อนให้พอเหมาะ นำเข้ากี่ทอผ้า
  7. การทอผ้า
    วิธีการทอ คือการกดเครื่องแยกหมู่ตะกอเพื่อให้ไหมเส้นยืนถูกแยกออกและเกิดช่องว่างเพื่อสอดกระสวยไหมเส้นพุ่งผ่าน แล้วกระทบด้วยฟืม (ฟันหวี) เพื่อให้ไหมเส้นพุ่งแนบติดกัน ได้เนื้อผ้าที่แน่นหนา สลับตะกอสอดกระสวยไหมเส้นพุ่งกลับ ทำสลับกันไปเรื่อย ๆ เมื่อทอผ้าได้พอประมาณแล้วให้ม้วนเก็บในแกนม้วนผ้า โดยผ่อนแกนด้ายยืนให้คลายออกและปรับความตึงหย่อนใหม่ให้พอเหมาะ
    การทอผ้าโฮลเปราะฮ์สมปักปูม เริ่มทอจากส่วนของชายผ้า โดยสอดกระสวยไหมเส้นพุ่งลำที่บรรจุไหมมัดหมี่ของลายกรวยเชิงชั้นที่ 1 จนครบ ตามด้วยลำที่บรรจุไหมมัดหมี่ของลายกรวยเชิงชั้นที่ 2 และ 3 (ตามจำนวนชั้นที่ออกแบบไว้)  ต่อด้วยการทอส่วนของลายท้องผ้าด้วยลำไหมมัดหมี่ที่บรรจุลายท้องผ้าซึ่งเมื่อทอจนครบลายแล้ว ทอปิดท้ายด้วยลายเชิงกรวยอีกข้าง โดยเรียงลำดับจากลำไหมของลายกรวยจากชั้นที่ 3, ชั้นที่ 2 และชั้นที่ 1 ย้อนกลับมา ก็จะได้ผ้าโฮลสมปักปูมหนึ่งผืน
    เทคนิคพิเศษของการทอผ้าสมปักปูมคือ การเผื่อปลายเส้นไหมด้านซ้ายและขวาตั้งแต่กระบวนการมัดย้อม ทำให้ระหว่างการทอผู้ทอสามารถดึงปรับตำแหน่งของสีและลายได้ ช่วยให้ลวดลายเป็นระเบียบไม่ผิดเพี้ยน อีกทั้งยังมีการดึงเส้นไหมที่อยู่ปลายผ้าตลบย้อนกลับเข้ามาในผืนผ้าเป็นการเก็บชายผ้า ทำให้ชายผ้าไม่ขาด มีความหนา ปลายไม่ม้วน และแข็งแรง ง่ายต่อการดูแลรักษา
ข้อมูลแหล่งที่มา
แหล่งเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มมัดหมี่โฮลโบราณย้อมสีธรรมชาติ ตำบลเขวาสินรินทร์ อำเภอเขวาสินรินทร์ จังหวัดสุรินทร์
ดูรายละเอียด