หนังใหญ่ รูปฤาษีเสี่ยงลูก

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

หนังใหญ่ รูปฤาษีเสี่ยงลูก ให้แสดงตอนกำเนิดพาลี - สุครีพ พญาวานรแห่งนครขีดขิน ในเรื่องรามเกียรติ์  ทำจากหนังควาย  ลงสีด้วยสีดำสีเดียว เป็นรูปฤาษี ภาพหน้าข้าง ถือไม้เท้า เปลือยบาท มีรูปเด็กสองคนภาพหน้าเสี้ยว ขี่คอ และขี่หลัง ล้อมประกอบตัวด้วยลายกนกเครือวัลย์ ซึ่งหนังแต่ละตัวช่างจะเขียนลายกนกล้อมต่างกันออกไปตามท่าทางของตัวหนัง เพื่อเสริมประคองให้ตัวหนังคงรูปตรงไม่โค้งงอด้านล่างรองรับด้วยลายนาค ลงสีด้วยสีดำสีเดียว ซึ่งเป็นการลงสีรูปแบบเฉพาะของหนังใหญ่ที่จะใช้เล่นในงานอวมงคลหรืองานพิธีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการตาย

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องหนัง
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
สูง 180 เซนติเมตร กว้าง 92 เซนติเมตร หนา 1.8 มิลลิเมตร
แหล่งที่มา :
พิพิธภัณฑ์กุฎีไศเลนทร อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง
วัสดุ :
หนังควาย
อายุ/ปีที่ผลิต :
2535
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้: การฟอก ตอก และลงสีหนังสัตว์
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :
การทำหนังใหญ่ คือการใช้หนังสัตว์ขนาดใหญ่ เช่น หนังวัว หรือหนังควาย รวมถึงหนังสัตว์ที่เชื่อว่ามีอานุภาพพิเศษอย่างหนังเสือมาใช้เป็นวัสดุหลักในการทำ เพื่อให้ตัวหนังมีคุณสมบัติโปร่งแสง เหมาะกับการเชิดหนังที่มีลักษณะคล้ายหุ่นเงาบนจอผ้า โดยมีขั้นตอนการทำดังนี้

  1. การเตรียมหนัง
    · การเตรียมหนังสัตว์แบบโบราณ : คัดเลือกหนังเสือหรือหนังหมีสำหรับทำหนังเจ้า คือ “ฤาษี” สำหรับลงอักขระเลขยันต์
    ซึ่งหนังเสือมีคุณสมบัติ คือ น้ำหนักเบา และขนาดบางกว่าหนังวัวและหนังควาย โดยการเตรียมหนังเสือจะมีกระบวนการที่แตกต่างจากการฟอกหนังทั่วไป อย่างไรก็ตามในปัจจุบันไม่สามารถนำหนังเสือมาทำหนังใหญ่ได้ เนื่องจากผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 จึงใช้หนังเทียมทดแทน
    สำหรับการเตรียมหนังวัวและหนังควาย สมัยก่อนการฟอกหนังจะนำน้ำปูนขาวผสมเกลือและสารส้มซึ่งมีรสชาติเฝื่อน เปรี้ยว เค็ม ในโอ่งน้ำขนาดใหญ่เพื่อแช่หนังให้นิ่มขึ้น เป็นระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ โดยอัตราส่วนของน้ำยาแช่หนังขึ้นอยู่ความเชี่ยวชาญ กระบวนการทำ และภูมิปัญญาของช่างแกะหนังแต่ละคน เมื่อหนังนิ่มลงแล้วจึงนำมาขูดขนและกำจัดหนังกำพร้าทำความสะอาด ก่อนนำไปขึ้นสะดึงตากหนังในพื้นที่ที่มีแสงแดดอ่อน ๆ (ไม่ควรตากหนังในที่แสงแดดจัด) ประมาณ 3 วัน จากนั้นนำมาผึ่งลมอีกประมาณ 1-3 เดือน ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศและความชื้น หลังจากตากลมจนกระทั่งได้ “หนังแก้ว” ที่มีพื้นผิวสีเหลืองโปร่งแสงแล้ว นำมีดเจียนหนังส่วนขาออกเพื่อให้ได้หนังตามรูปทรงที่ต้องการ
    · การเตรียมหนังสัตว์ในปัจจุบัน : การฟอกหนังสำหรับการทำหนังใหญ่ในปัจจุบัน เริ่มใช้หนังวัวสำเร็จจากโรงงานอุตสาหกรรมฟอกหนังจากจังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเรียกว่า “หนังกาวตากแห้ง” เพื่อลดระยะเวลาในกระบวนการเตรียมหนัง และหนังที่เหมาะกับการแกะหนังใหญ่ควรมีความหนาประมาณ 1.5 มิลลิเมตร โดยนำมาฟอกหนังกับน้ำสายชู หรือใช้ใบสมอกับข่ามาตำละเอียดผสมน้ำ แล้วนำผืนหนังที่ผ่านการขูดเอาขนกับไขมันออกแล้วมาแช่น้ำแล้วนำไปหมักในอ่างหรือโอ่งที่ผสมน้ำแช่หนังทิ้งไว้ประมาณ 3 ชั่วโมง นำหนังไปล้าง และตากลมไว้จนแห้ง
  2. การเขียนลาย : ในสมัยก่อน การสร้างสรรค์ลายหนังใหญ่แต่ละตัว ช่างเขียนลายจะผูกลายหนังใหญ่โดย “เหล็กจาร” ซึ่งเป็นเหล็กปลายแหลม เขียนร่างลายบนผืนแผ่นหนังให้เกิดรอยเส้นลาย สามารถใช้น้ำเช็ดออกได้หากต้องการแก้ไขเส้นลาย แต่ในปัจจุบันนิยมร่างลายหนังใหญ่บนกระดาษไขก่อนนำไปขึงเพื่อตอกฉลุลายลงบนแผ่นหนัง โดยลอกลายมาจากแบบที่ออกแบบล่วงหน้าบนกระดาษ ลายที่ใช้ออกแบบหนังใหญ่ของครูวีระ มีเหมือน เป็นลายต้นแบบที่เขียนตามบทพากย์ของครูบาอาจารย์ไม่ได้มีการเขียนขึ้นใหม่ ซึ่งได้มาจากครูบาอาจารย์ คือ ครูแข พยัฆคิน ผู้เป็นครูช่างหนังใหญ่ บ้านหน้าวัดพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยในการเขียนลายหหนังแต่ละตัว ครูวีระจะส่งไปเขียนลวดลายที่ช่างเขียนลายเมืองเพชรบุรี โดยนำลายที่ได้ในกระดาษ ไปขยายให้มีความใหญ่พอดีกับขนาดของตัวหนัง เป็นแบบทาบติดบนหนังที่ต้องการตอกทั้งแผ่น จากนั้นจึงเริ่มตอกลายลงไป
  3. การตอกลายและฉลุลาย : ขั้นตอนการตอกหนังและฉลุลาย เริ่มจากลายที่มีขนาดใหญ่ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของตัวลายก่อน เพื่อสร้างเค้าโครงชุดลาย แล้วจึงตอกหนังไปตามลายที่ทาบกระดาษไว้ โดยยึดแผ่นหนังบนเขียงไม้ลูกหยีด้วยตะปูขนาดประมาณ 1 นิ้ว จากนั้นเริ่มตอกเฉพาะจุดที่ต้องการให้ทะลุด้วยสิ่วต่าง ๆ ได้แก่ สิ่วเล็บมือและสิ่วหน้าตัดหลากหลายขนาดมากถึง 25 ตัว และตุ๊ดตู่ ซึ่งอีกชื่อหนึ่งเรียกว่า “มุก” ที่มีลวดลายต่าง ๆ มากถึง 17 ตัว อาทิ วงกลม วงรี สี่เหลี่ยม สามเหลี่ยม ดอกไม้ ใบโพธิ์ เพื่อสร้างลายไทยบนเครื่องแต่งกายของตัวละครหนังใหญ่ ได้แก่ ลายกระจัง ลายประจำยาม และลายกาบ เป็นต้น
  4. การลงสี : สำหรับลงสีหนังใหญ่ ช่างแกะหนังจะลงสีตามลวดลายที่ตอกไว้ ซึ่งหนังใหญ่สำหรับงานมงคล ใช้ชุดสี “หนังเบญจรงค์” ได้แก่ สีเขียว สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน และสีดำ
    · การลงสีแบบโบราณ : ในสมัยก่อนนิยมใช้สีที่ได้จากธรรมชาติ ซึ่งมีคุณสมบัติในการควบคุมน้ำหนักสีได้ดี ได้แก่
    สีเขียวตังแช : ได้จาก “ชินสี”หรือสนิมของทองแดงผสมกับมะนาวใช้ลงสีหนังใหญ่ หรือการนำทองเหลือง ทองแดง และสำริด แช่น้ำผสมกรดเกลือให้เกิดปฏิกิริยาเคมีอย่างน้อย 1 ปีขึ้นไป เกิดเป็นสนิมเขียวเกาะโลหะ แล้วจึงขูดเอาสนิมออกและร่อนด้วย “แร่ง” จากนั้นล้างน้ำเปล่าล้างกรดเกลือออก จึงนำไปผสมกับยางมะขวิดหรือยางกระถินอินเดียอีกครั้ง
    สีแดง : ได้จากผลคำแสด หรือน้ำยางแดงจากการต้มไม้ฝางผสมสารส้ม
    สีทอง : ได้จากทองคำเปลว
    สีดำ : ได้จากยางรักและสมุกจากถ่านใบตองแห้ง
    ·การลงสีแบบปัจจุบัน : เนื่องจากในปัจจุบัน “ชินสี” และสีที่ได้จากวัตถุดิบธรรมชาติไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากหายากและสีซีดจางง่าย จึงเปลี่ยนมาเป็นหมึกเติมปากกาหมึกซึม (PILOT Super Color nk) เพราะสีจะติดทนนาน แต่มีข้อจำกัดคือควบคุมน้ำหนักสียาก จึงได้สีโทนเดียวในการลงสีบนหนังใหญ่
  5. การคาบตับ : คือขั้นตอนสุดท้ายของการแกะสลักหนังใหญ่ โดยการนำไม้มาผูกติดกับตัวหนังเสือเพื่อใช้สำหรับเชิด เรียกว่า “ไม้ตับหนัง” หรือ “ไม้คาบหนัง” นิยมใช้ไม้รวก ไม้หลาวชะโอน หรือไม้ไผ่สีสุกนำไปรมควันไฟก่อนใช้งาน เพื่อป้องกันมอดแมลงกินเนื้อไม้ แล้วนำเข็มใหญ่ร้อยกับด้ายเส้นใหญ่หลาย ๆ เส้นแล้วค่อย ๆ ใช้เข็มร้อยด้ายผูกเป็นระยะด้วยเงื่อนตะกรุดเบ็ด เพื่อให้ตับติดกับตัวหนัง
ข้อมูลแหล่งที่มา
แหล่งเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมที่เกี่ยวข้อง
พิพิธภัณฑ์กุฎีไศเลนทร อำเภอสามโก้ จังหวัดอ่างทอง
ดูรายละเอียด