แผ่นมงคลหงส์คู่บารมี 18 เหลี่ยม

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม

แผ่นมงคลหงส์คู่บารมี 18 เหลี่ยม มีลวดลายหัตถศิลป์ไทยผสมผสานศาสตร์แห่งศรัทธา ใช้ศิลปะอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวด้วยการวาดเส้นเขียนสีในโทนสีน้ำเงินขาว (Blue and white) ลงบนแผ่นเซรามิกทรงกลม ประกอบกรอบภาพทรง 18 เหลี่ยม สร้างสรรค์จากความเชื่อในเรื่องตัวเลขและภาพสัตว์มงคลของจีนที่ผู้ประกอบกิจการหรือนักธุรกิจนิยมให้ความศรัทธาด้านความเป็นมงคล โดยนำไปตั้งตกแต่งภายในบ้านหรือที่ทำงานตามหลักความเชื่อในความหมายของภาพมงคลที่ผู้สร้างสรรค์วาดขึ้น ให้ความรู้สึกดีงามเสริมพลังด้านบวกแก่ผู้ที่เป็นเจ้าของชิ้นงาน มีองค์ประกอบของชิ้นงานตามหลักแห่งความเป็นมงคลตามความเชื่อของชาวจีน ได้แก่
ลักษณะกรอบเป็นทรง 18 เหลี่ยม สร้างสรรค์จากความเชื่อในเลข 18 ซึ่งมาจากตัวเลข 1 ที่หมายถึงความทะเยอะทะยาน ความเป็นผู้นำ และความมั่นใจ ส่วนเลข 8 หมายถึง ความร่ำรวย รุ่งเรือง และโชคลาภ ดังนั้นเลข 18 จึงรวมความหมายถึง ความรุ่งเรืองร่ำรวยของผู้นำ
ภาพหงส์คู่ เป็นภาพหงส์สองตัวในแบบไทยที่เปรียบเหมือนสัตว์ที่สูงส่งในจักรวาล จินตนาการจากความหมายของ “เฟิ่งหวง” นกในตำนานของจีน ที่แต่เดิม ‘เฟิ่ง’คือนกตัวผู้ และ ‘หวง’ คือนกตัวเมีย รวมกันเป็นหนึ่งเดียว อันเป็นสัญลักษณ์ของความสัมพันธ์อันงดงามระหว่างสุภาพบุรุษและสุภาพสตรี หรือการรวมกันเป็นหนึ่งเดียวเช่นหยินหยาง  เป็นนกที่มีความหมายถึงคุณธรรมและความดีงาม
              ภาพพระอาทิตย์ หมายถึงความมั่นคงสงบสุข ชีวิตที่เต็มไปด้วยพลังแห่งความหวัง

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องดิน
กลุ่มวัฒนธรรม :
-
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
เส้นผ่าศูนย์กลาง 73 เซนติเมตร หนา 6 เซนติเมตร
แหล่งที่มา :
บ้านเบญจรงค์แกลลอรี่, ฮูปแต้มดินเผา อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150
วัสดุ :
แผ่นเซรามิกวงกลมเผาเคลือบ,สีบนเคลือบ,น้ำมัน Medium oil
อายุ/ปีที่ผลิต :
2566
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : การวาดเส้นวาดลายบนเซรามิกเคลือบ
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :
1.ออกแบบชิ้นงาน
กำหนดชิ้นงานที่ต้องการวาดลวยลาย เช่น โถ ถ้วย จาน แล้วจึงออกแบบภาพหรือร่างลวดลายที่เหมาะสม หรือกำหนดภาพหรือลวดลายที่ต้องการก่อนแล้วจึงหารูปทรงเซรามิกที่เหมาะสม เช่น เซรามิคทรงสี่หลี่ยม หกเหลี่ยม หรือ วงกลม เป็นต้น โดยผู้สร้างสรรค์มีแนวทางการออกแบบที่เป็นเอกลักษณ์ ภาพและลวดลายล้วนเป็นศิลปะเชิงพลังด้านบวก เสริมศรัทธา มีความเป็นมงคล ให้ความรู้สึกดีงามแก่ผู้รับ ซึ่งชิ้นงานทำจะนำมาวาดเขียนลายนั้นจะเป็นภาชนะหรือแผ่นเซรามิกเผาเคลือบที่สั่งทำขึ้นเป็นพิเศษ สำหรับชิ้นงานนี้เป็นการวาดเส้นเขียนลายลงบนแผ่นเซรามิกรูปทรงกลมแล้วนำประกอบกรอบไม้ทรง 18 เหลี่ยม

2.เขียนลาย
ผู้สร้างสรรค์จะร่างลายด้วยดินสอลงบนชิ้นงานเซรามิกเผาเคลือบ เช่นเดียวกับจิตรกรร่างภาพวาด

3. วาดเส้น
ใช้พู่กันหรือเข็มเขียนสีลงสีวาดเส้นด้วยสีบนเคลือบ ด้วยเทคนิคที่ผู้สร้างสรรค์พัฒนาขึ้นให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือการใช้น้ำมัน  Medium oil ผสมกับผงสีบนเคลือบในอัตราส่วนที่เหมาะสม ซึ่งเทคนิคนี้จะช่วยลดข้อจำกัดของการใช้น้ำทองในการลงเส้นบนเคลือบ เนื่องจากน้ำทองมีราคาแพงขึ้น อีกทั้งการลงลายน้ำทองนั้นหลังจากลงเสร็จจะต้องลงสีชิ้นงานจนจบไม่สามารถพัก หรือทิ้งชิ้นงานแล้วกลับมาลงใหม่ได้ หรือหากผู้ลงสีน้ำทองขาดความชำนาญ ลงสีเลื่อมกับสีอื่นๆ เมื่อนำเข้าเตาเผาแล้วสีที่ได้จะหมองไม่ออกสีทองเปล่งปลั่ง

4. เผารอบที่ 1
นำชิ้นงานที่วาดเส้นสีแล้วเข้าเตาเผา เผารอบที่ 1 ที่อุณหภูมิ 750 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 3 ชั่วโมง ทิ้งไว้ให้เย็นเองในเตา โดยไม่นำออกจากเตาทันทีอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เนื่องจากอุณหภูมิในเตาและนอกเตาที่แตกต่างกันสามารถทำให้ชิ้นงานเกิดรอยร้าวได้ ซึ่งการเผาในรอบนี้เพื่อรักษาลวดลายเส้นของสีบนเคลือบให้ไม่หลุดร่อน เส้นลายสีจะสดใส คมชัด มันวาวและคงทน แม้ว่าจะทิ้งไว้นานก็สามารถกลับมาลงสีชิ้นงานอีกครั้งเมื่อใดก็ได้

5. ลงสีเติมลวดลาย
นำชิ้นงานที่ผ่านการเผาในรอบที่ 1 แล้วมาลงสีและลวดลาย โดยใช้เทคนิคเดียวกันคือการใช้ผงสีบนเคลือบเติมด้วยน้ำมัน Medium oil ในปริมาณพอเหมาะ คนผสมด้วยเกรียงผสมบนแผ่นเซรามิกทีละสี คล้ายกับวิธีการผสมสีน้ำมันวาดภาพ ซึี่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่ผู้สร้างสรรค์ต้องใช้ทักษะฝีมือด้านศิลปะแต่งเติมสีสันเพิ่มรายละเอียดให้กับภาพเช่นเดียวกับงานจิตรกรรม จนกกระทั่งลวดลายบนชิ้นงานสวยงามสมบูรณ์แบบ

6.  เผารอบที่ 2
นำชิ้นงานที่ลงสีวาดลวดลายสมบูรณ์แล้วเข้าเตาเผา เผารอบที่ 2 ที่อุณหภูมิ 800-830 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 4 ชั่วโมง ทิ้งไว้ให้เย็นลงภายในเตาอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เนื่องจากอุณหภูมิในเตาและนอกเตาที่แตกต่างกันสามารถทำให้ชิ้นงานเกิดรอยร้าวได้ จากนั้นจึงได้ผลงานเซรามิควาดเส้นที่สวยงาม เช่นเดียวกับผลงานจิตกรรมชิ้นเอก

ในกรณีที่เป็นชิ้นงานมีลักษะเป็นแผ่นขนาดใหญ่ ผู้สร้างสรรค์จะนำแผ่นเซรามิกมาวางต่อกันให้ได้ขนาดตามต้องการ แล้ววาดภาพเขียนลายลงบนแผ่นเซรามิก
อย่างต่อเนื่องเป็นภาพเดียวกัน เมื่อนำเผาในแต่ละรอบ จะแยกเผาชิ้นเซรามิกโดยควบคุมอุณภูมิและเวลาการเผาให้เท่ากัน แล้วจึงนำมาและยึดติดด้วยกาวตะปูบนแผ่นไม้อัดขนาดเท่าชิ้นงาน ผลงานที่ได้ก็จะมีลวดลายต่อเนื่องสีสดสวยงามเหมือนกันทั้งชิ้นงาน

7. ประกอบชิ้นงาน
   นำชิ้นงานประกอบด้วยกรอบไม้ทรง 18 เหลี่ยม

ข้อมูลแหล่งที่มา
แหล่งเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมที่เกี่ยวข้อง
บ้านเบญจรงค์แกลลอรี่, ฮูปแต้มดินเผา อ.กันทรวิชัย จ.มหาสารคาม 44150
ดูรายละเอียด