งานลงรักประดับกระจก จัดอยู่ในกลุ่มงานช่างรักประเภทหนึ่งของงานช่างสิบหมู่ เรียกกันว่า “ลงรักประดับกระจก” และเป็นงานประณีตศิลป์ที่ใช้ตกแต่งเครื่องอุปโภคและสถาปัตยกรรม ด้วยการตัดกระจกเป็นรูปทรงเรขาคณิตชิ้นเล็ก ๆ เช่น สี่เหลี่ยมขนมเปียกปูน สี่เหลี่ยมผืนผ้า สามเหลี่ยม หกเหลี่ยม เป็นต้น ด้วยคุณสมบัติของผิวกระจกที่มีความเลื่อมพรายแสง ทำให้เกิดความแวววาวคล้ายอัญมณียามแสงอาทิตย์ตกกระทบ และเป็นวัสดุที่มีความคงทนต่อสภาพภูมิอากาศทั้งแสงแดดและความชื้น อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้วัตถุที่ได้รับการประดับตกแต่งเสื่อมสภาพได้ง่าย
งานประดับกระจก สันนิษฐานว่ามีมานับตั้งแต่สมัยสุโขทัย อีกทั้งยังมีการกล่าวถึงงานประดับกระจกในสมัยอยุธยาผ่านจดหมายเหตุลาลูแบร์ และปรากฏหลักฐานเด่นชัดในสมัยรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ที่ถือเป็นยุครุ่งเรืองของงานลงรักประดับกระจกที่ประดับประดาตามวัดวาอารามต่าง ๆ ซึ่งเปลี่ยนการตกแต่งช่อฟ้า ใบระกา หน้าบัน จากลงงานลงรักปิดทองเป็นงานลงรักประดับกระจก จนกระทั่งในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ทรงสานต่อการหุงกระจกด้วยการจัดตั้ง “กรมช่างหุงกระจก” ขึ้น ซึ่งแยกส่วนงานออกจากกรมช่างสิบหมู่ โดยมีพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ หรือพระองค์เจ้าปราโมช เป็นผู้ดูแลควบคุมและคิดค้นวิธีหุงกระจกสีจนสำเร็จ อีกทั้งยังมีโรงเรียนสอนวิชาช่างประดับกระจก ณ ท้องพระโรงวังท่าพระ เพื่อให้ช่างประดับกระจกแพร่หลายมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามกรมช่างหุงกระจกได้ถูกยุบลงในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5
นอกจากในประเทศไทยแล้ว งานประดับกระจกยังปรากฏอยู่ในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ทางภาคเหนือและประเทศเมียนมาอย่าง “แก้วอังวะ” ด้วยเหตุนี้ภูมิปัญญาการผลิตกระจกจึงพบในพื้นที่ใกล้เคียงประเทศไทย ซึ่งนายรัชพล เป็นทายาทชาวไทเขินสายสกุล “เต๋จ๊ะยา” รุ่นที่ 4 ที่รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ตำรากระจกเกรียบและกระจกจืนจากบรรพบุรุษร่วมกับการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ โดยใช้แร่ธาตุจากธรรมชาติ ซึ่งกระจกทั้งสองประเภทนี้มีกระบวนการผลิตที่เหมือนกัน แต่มีความแตกต่างกันคือ
· กระจกเกรียบ : มีคุณสมบัติเฉพาะคือ ขนาดแผ่นกระจกบางคล้ายข้าวเกรียบ แตกเปราะสามารถหักได้ง่าย นิยมใช้ประดับตกแต่งบนวัสดุที่มีพื้นเรียบ และงานที่ต้องการความละเอียด เช่น การติดลายยกดอก สร้างเหลี่ยมมุม ในมิตินูนต่ำ พบมากในงานศิลปกรรมต่างๆ ของภาคกลาง
· กระจกจืน: คำว่า “จืน” แปลว่าตะกั่วในภาษาล้านนา มีคุณสมบัติเฉพาะคือ ขนาดแผ่นกระจกหนากว่ากระจกเกรียบ สามารถโค้งงอและยืดหยุ่นได้ เนื้อผิวกระจกมีรอบแตกลายงา นิยมใช้ในงานตกแต่งในชิ้นงานไม้ พบมากในงานศิลปะแบบล้านนา ซึ่งกระจกทั้งสองแบบนี้ มีคุณสมบัติที่เหมือนกันก็คือ วัสดุทั้งสองชั้นไม่สามารถแยกให้ขาดจากกันได้ แตกต่างจากงานกระจกสีศิลปะจากยุโรป ที่สามารถแยกชั้นประกอบของแต่ละชั้นได้หากใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์โดยใช้สารละลายบางชนิดลอกเอาสีออกจากเนื้อกระจกได้ แต่กระจกที่หุงขึ้นไม่สามารถแยกสารทั้งสองชั้นออกจากกันได้
นอกจากความรู้ที่ได้รับการสืบทอดมาจากสายสกุลแล้ว การได้ไปปฏิบัติหน้าที่เป็นช่างหลวงบูรณะกระจกเกรียบบริเวณฐานสิงห์ พุทธบัลลังก์พระศรีศากยมุนี ในวิหารหลวงวัดสุทัศน์เทพวราราม ซึ่งเป็นการบูรณะในพระบรมราชูปถัมภ์ ทำให้นายรัชพลได้มีโอกาสใช้ความรู้ด้านเคมีจากการศึกษาและเป็นอาจารย์ในปัจจุบัน ถอดองค์ประกอบแร่ธาตุจากศิลปกรรมงานช่างกระจกเกรียบที่บริสุทธิ์ที่สุด ในสมัยรัชกาลที่ 3 อันเป็นจุดเริ่มต้นขององค์ประกอบกระจกเกรียบโบราณ และองค์ความรู้เรื่องธาตุที่ให้สีในสมัยนั้นอย่างแท้จริงว่าสีของกระจกเกรียบในยุคต้นรัตนโกสินทร์นั้นมีเพียง 5 สี คือ เขียว เหลือง ขาว แดง และสีขาบ (สีน้ำเงินหรือสีกรมท่า) ส่วนสีอื่นๆ นั้นเป็นการใช้และเติมสีธาตุในยุคหลัง