ดอกบัวบานหินทรายแดง

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

งานแกะสลักหินดอกบัวบานหินทรายแดง เป็นงานแกะสลักหินแบบนูนต่ำ ผลิตขึ้นตามต้นแบบของงานแกะสลักหินโบราณศิลปะขอม พบได้บริเวณศูนย์กลางของแท่นบูชาในงานสถาปัตยกรรมแบบขอมโบราณ โดยใช้หินทรายแดงเป็นวัสดุหลักในการแกะสลัก เนื่องจากเป็นหินที่สีสวยเหมาะกับชิ้นงานชนิดดอกไม้ และมีความคงทนสูง และนิยมใช้ครีมเคลือบสีขาวเคลือบเพื่อเพิ่มความมันวาว ความเข้มของสีหิน และเป็นการป้องกันไม่ให้น้ำเข้าถึงชั้นเนื้อหิน

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องหิน
กลุ่มวัฒนธรรม :
ผลิตจากต้นแบบชิ้นงานศิลปะขอม
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
เส้นผ่าศูนย์กลาง 30 เซนติเมตร สูง 4 เซนติเมตร
แหล่งที่มา :
บ้านช่างสลักหิน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) อ.เมืองพระนครศรีอยุธยาจ.พระนครศรีอยุธยา
วัสดุ :
หินทรายแดง
อายุ/ปีที่ผลิต :
2565
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : การแกะสลักหินนูนต่ำด้วยมือ
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด)  :

  1. การเตรียมภาพแกะสลักหิน
    นำภาพดอกบัวบานจากภาพต้นแบบ ถ่ายสำเนาขยายให้เท่ากับขนาดชิ้นงานที่ต้องการ เพื่อกำหนดขนาดและสัดส่วนชิ้นงาน และวาดภาพร่างลงบนกระดาษตามขนาดที่ต้องการ
  2. การเตรียมหินสำหรับแกะสลัก
    คัดเลือกหินทรายแดงก้อนที่มีขนาดเหมาะสมกับชิ้นงาน สำหรับชิ้นงานนี้เลือกใช้หินทรายแดง เนื่องจากเป็นหินที่มีสีสวยงามเหมาะกับชิ้นงานชนิดดอกไม้ และมีคงทนสูง
  3. การขึ้นรูปและสลักหิน
    นำกระดาษภาพร่างตามขนาดที่ต้องการวางบนหินแล้วร่างแบบลงบนหินด้วยดินสอ ทั้งนี้ในการทำต้องมีการวางแผนการแกะ ไม่สามารถเริ่มจากส่วนใดก็ได้ เนื่องจากหินทรายก้อนเป็นหินหน้าเรียบ วิธีการแกะสลักหินต้องแกะลดหลั่นกันลงมา ชิ้นงานจึงจะมีมิติที่สวยงาม แล้วจึงสกัดหินลงลายบนเส้นร่างให้ลึกคมชัดขึ้น จากนั้นสกัดหินส่วนที่ไม่ต้องการออกจากชิ้นงาน และสกัดเข้าหุ่นตามแบบไว้ ให้พอดีกับขนาดและสัดส่วน เซาะลงลายบนเส้นร่างให้ลึกคมชัดขึ้นด้วยสิ่วหรือเหล็กสกัดแบบและขนาดต่าง ๆ เพื่อแต่งเส้นลวดลายให้ลึกรูปทรงนูนมีมิติ โดยเริ่มจากส่วนเส้นเกสรชั้นใน ชั้นกลาง ไล่ออกมาจนถึงเส้นกลีบดอก
  4. การขัดพื้นผิวทำความสะอาดชิ้นงาน
    เมื่อได้ผลงานที่สำเร็จตามที่ต้องการแล้ว ขัดผิวชิ้นงานให้เรียบเนียนด้วยหินขัดและกระดาษทราย (บริเวณพื้นผิวกว้างใช้กระดาษทรายหยาบ บริเวณพื้นผิวส่วนแคบและลึกใช้กระดาษทรายละเอียด) จากนั้นปัดและล้างทำความสะอาดชิ้นงานเพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของชิ้นงาน จากนั้นจึงเคลือบชิ้นงานด้วยครีมเคลือบสีขาวเพื่อเพิ่มความมันวาว และความเข้มของสีหิน


ข้อมูลแหล่งที่มา
แหล่งเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมที่เกี่ยวข้อง
บ้านช่างสลักหิน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) อ.เมืองพระนครศรีอยุธยาจ.พระนครศรีอยุธยา
ดูรายละเอียด