องค์พระนาคปรก

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

องค์พระนาคปรก เป็นงานแกะสลักหินแบบลอยตัวตามแบบ “หลวงพ่อศิลา” วัดทุ่งเสลี่ยม อําเภอทุ่งเสลี่ยม จังหวัดสุโขทัย ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางนาคปรก ต้นแบบสกัดจากหินทรายสีเทาทรงกรองศอพาหุรัดกุณฑล สวมศิราภรณ์ สวมมงกุฎเทริด พระพักตร์ทรงสี่เหลี่ยม ประทับนั่งขัดสมาธิราบบนฐานขนาดนาค 3 ชั้น มีเศียรนาค 7 เศียรแผ่พังพานอยู่เบื้องหลังพระพุทธรูปด้านหลังหางนาคพาดขึ้นมาถึงลําตัว มีลวดลายแบบศิลปะลพบุรี ซึ่งนายกุณฑฬ โสวาปี ตั้งใจสร้างสรรค์ขึ้นหลังจากทราบประวัติความเป็นมาของหลวงพ่อศิลา และเกิดความเลื่อมใสศรัทธาอย่างแรงกล้า จนเป็นชิ้นงานที่นายกุณฑฬสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องหิน
กลุ่มวัฒนธรรม :
ผลิตจากต้นแบบชิ้นงานศิลปะขอม ลพบุรี
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
ตัวองค์รวมฐาน สูง 70 เซนติเมตร กว้าง 30 เซนติเมตร ลึก 17 เซนติเมตร
แหล่งที่มา :
บ้านช่างสลักหิน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) อ.เมืองพระนครศรีอยุธยาจ.พระนครศรีอยุธยา
วัสดุ :
หินทรายเขียว
อายุ/ปีที่ผลิต :
2565
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : การแกะสลักหินลอยตัวด้วยมือ
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :

  1. การเตรียมภาพแกะสลักหิน
    นำภาพพระนาคปรก จากภาพต้นแบบถ่ายสำเนาขยายให้เท่ากับขนาด ชิ้นงานที่ต้องการ เพื่อกำหนดขนาดและสัดส่วนชิ้นงาน และวาดภาพร่างลงบนกระดาษตามขนาดที่ต้องการ
  2. การเตรียมหินสำหรับแกะสลัก
    คัดเลือกหินทรายเขียวก้อนที่มีขนาดเหมาะสมกับชิ้นงาน ทั้งประเภทของหินทราย สีของหินทราย และมีขนาดที่เหมาะสมกับแบบที่กำหนดไว้  โดยหินทรายที่ใช้ต้องเป็นหินทรายที่มาจากแหล่งหินทรายโบราณในอำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา
  3. การขึ้นรูปและสลักหิน
    นํากระดาษภาพร่างตามขนาดที่ต้องการวางบนหิน แล้วร่างแบบลงบนหินด้วยดินสอ ทั้งนี้ในการทําต้องมีการวางแผนการแกะ ไม่สามารถเริ่มจากส่วนใดก็ได้เนื่องจากหินทรายก้อนเป็นหินหน้าเรียบ วิธีการแกะสลักหินต้องแกะลดหลั่นกันลงมา ชิ้นงานจึงจะมีมิติที่สวยงาม แล้วจึงสกัดหินลงลายบนเส้นร่างให้ลึกคมชัดขึ้น จากนั้นสกัดหิน ส่วนที่ไม่ต้องการออกจากชิ้นงาน และสกัดเข้าหุ่นตามแบบไว้ให้พอดีกับขนาดและสัดส่วน เมื่อสลักขึ้นรูปชิ้นงานเรียบร้อยแล้ว สกัดแต่งส่วนรายละเอียดด้วยสิ่วหรือเหล็กสกัดแบบและขนาดต่าง ๆ เพี่อเพิ่มความปราณีตให้ชิ้นงาน  จากนั้นสกัดแต่งใบหน้าให้ตรงตามต้นแบบ
  4. การย้อมสีเนื้อหินทราย

เมื่อได้ผลงานที่สำเร็จตามที่ต้องการแล้ว ขัดผิวชิ้นงานให้เรียบเนียนด้วยหินขัดและกระดาษทราย (บริเวณพื้นผิวกว้างใช้กระดาษทรายหยาบ บริเวณพื้นผิวส่วนแคบและลึกใช้กระดาษทรายละเอียด)  ใช้ด่างทับทิมผสมน้ำ ทาย้อมสีหินเพื่อให้เนื้อหินมีสีใกล้เคียงกับของโบราณ ปัดและล้างทําความสะอาดชิ้นงานเพื่อตรวจสอบความสมบูรณ์ของชิ้นงาน



ข้อมูลแหล่งที่มา
แหล่งเรียนรู้งานศิลปหัตถกรรมที่เกี่ยวข้อง
บ้านช่างสลักหิน ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) อ.เมืองพระนครศรีอยุธยาจ.พระนครศรีอยุธยา
ดูรายละเอียด