ตะกร้าหูหิ้วสานใบลานผสมกระจูดลายสองไล่เฉดสีขาวเขียว

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ตะกร้าหูหิ้วสานใบลานผสมกระจูดลายสองไล่เฉดสีขาวเขียว เป็นผลงานการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่คุณมนัทพงศ์ เซ่งฮวด ที่ไม่เพียงต้องการสร้างความแตกต่างให้กับงานจักสานกระจูดของชุมชนกระจูดวรรณี ด้วยการเล็งเห็นจุดเด่นของใบลานที่มีเส้นใยสีขาว สามารถย้อมสีติดได้ง่าย และมีความเหนียวและยืดหยุ่นเช่นเดียวกับกระจูด เมื่อนำมาสานร่วมกันสามารถเพิ่มมิติด้านลวดลาย และสีสันให้งานจักสานกระจูด นอกจากนั้นการสานในรูปแบบตะกร้าหูหิ้วทรงสูงยังเพิ่มรูปแบบการใช้งานให้งานจักสานกระจูดสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตของผู้ชื่นชอบงานศิลปหัตถกรรม ทั้งสามารถประยุกต์เป็น ตะกร้าใส่เสื้อผ้า ตะกร้าใส่ต้นไม้ หรือการตกแต่งบ้านและพื้นที่ใช้สอยต่างๆ ได้อย่างหลากหลายอีกด้วย

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องจักสาน
ผู้สร้างสรรค์ :
วัสดุ :
กระจูด และใบลานย้อมสีเคมี
อายุ/ปีที่ผลิต :
2565
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้:    การเตรียมเส้นกระจูด การย้อมสีใบลาน และการสานขึ้นรูปกระจูด
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน  :
กระจูดสำหรับงานจักสาน : กระจูดที่ใช้สำหรับงานจักสานในชุมชนเรียนรู้หัตถกรรมกระจูดวรรณีคือ กระจูดพันธุ์กระจูดใหญ่ขึ้นตามธรรมชาติในพื้นที่ทะเลน้อย และป่าพรุใน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และกระจูดจากอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงกระจูดที่ชาวบ้านปลูกสำหรับนำมาจักสานโดยเฉพาะ เนื่องจากเส้นใยมีความเหนียว และมีความยาวเหมาะสม โดยกระจูดที่เหมาะกับงานจักสานคือกระจูดที่มีอายุประมาณ 2-3 ปี หรือมีความยาวเส้นกระจูดประมาณ 1 เมตรขึ้นไป  โดยราคากระจูดที่จำหน่ายปัจจุบัน (เดือนกุมภาพันธ์ 2565) มีราคามัดละ 25 – 70 บาท สัดส่วนราคาขึ้นอยู่กับความยาวและความความสมบูรณ์ของเส้นกระจูด

ใบลานสำหรับงานจักสาน : ใบลานจากกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในจังหวัดปราจีนบุรี ถูกนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับงานจักสานกระจูด เนื่องจากสามารถย้อมสีติดได้ง่าย เพิ่มมิติด้านสีสันให้กับงานพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานกระจูดได้อย่างร่วมสมัย และยังสามารถคงคุณสมบัติความยืดหยุ่นเช่นเดียวกับเส้นกระจูดไว้ได้อย่างครบถ้วน


**การเตรียมเส้นกระจูด** : **1. การเก็บต้นกระจูด** : ให้เลือกต้นกระจูดที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ขนาดลำต้นยาวสม่ำเสมอ (ประมาณ 1 เมตรขึ้นไป) การเก็บกระจูดผู้เก็บจะใช้มือทั้งสองข้างโอยต้นกระจูดเข้าหาตัวแล้วค่อยๆ ดึงเพื่อถอนต้นกระจูดขึ้นจากกอกระจูด

2. การคัดขนาดกระจูด : ในการคัดขนาดต้นกระจูดจะทำการคัดแยกตามความยาว โดยนำกระจูดมามัดทีละกำวางในแนวตั้ง (ขนาดเส้นผ่านสูงกลางของแต่ละมัดประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร) แล้วดึงต้นกระจูดที่ยาวกว่าออกไปรวมไว้อีกกองหนึ่ง เรียกการคัดกระจูดโดยวิธีนี้ว่า “โซ๊ะกระจูด” จากนั้นใช้มีดตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก และตัดให้ได้ขนาดความยาวที่ใกล้เคียงกันประมาณ 3 - 4 ขนาด และเพื่อให้สูญเสียเนื้อกระจูดน้อยที่สุด

3. การคลุกโคลน : นำกระจูดที่คัดขนาดแล้วแล้วคลุกน้ำโคลนขาวที่มีขาวถึงสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งเป็นโคลนที่พบได้ทั่วไปในแถบทะเลน้อย โดยนำโคลนขาวมาผสมน้ำให้ไม่ข้นหรือเหลวจนเกินไป โดยทดสอบความเหลวโดยการใช้มือจุ่มลงไปในน้ำโคลน หากโคลนข้นพอเกาะนิ้วมือถือว่าเป็นอันใช้ได้ เมื่อได้น้ำโคลนแล้วจึงนำมาใส่ในรางน้ำที่เตรียมไว้สำหรับคลุกต้นกระจูด กรรมวิธีการดังกล่าวถือเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในการเตรียมเส้นกระจูดเพื่อให้เส้นใยกระจูดมีความเหนียวและนุ่ม ไม่แห้งกรอบ เมื่อคลุกได้ที่แล้วนำมาตากแห้งประมาณ 2-3 วัน ทั้งนี้วิธีการสังเกตว่ากระจูดแห้งดีแล้วหรือไม่ ให้สังเกตจากกาบต้นกระจูดบริเวณโคนต้น หากกาบแยกออกจากต้นกระจูดแสดงว่าแห้งดีแล้ว ให้ถึงกาบบริเวณโคนออนก่อนนำไปเก็บเข้าที่ร่มทิ้งไว้อีก 4-5 วัน เพื่อให้ต้นกระจูดคลายตัว เมื่อจะใช้ก็เอากระจูดไปตากน้ำค้าง 1 คืน เพื่อให้ต้นกระจูดมีความเหนียว -ลื่น สะดวกในการทำ

4. การคัดต้นกระจูดสำหรับเตรียมจักสาน : นำกระจูดมาคัดขนาดลำต้น โดยแบ่งเป็นลำต้นขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อให้เหมาะกับงานจักสานที่ต้องใช้ความละเอียดแต่ละชิ้นงานที่แตกต่างกัน แล้วนำไปมัดแยกตามขนาด โดยแต่ละมัดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 – 20 เซนติเมตร

5. การรีดเส้นกระจูด : นำกระจูดไปเตรียมเส้นใยให้มีความเหนียว นุ่ม เหมาะสำหรับการนำไปทำงานจักสาน ซึ่งในพื้นที่ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง มีการรีดเส้นกระจูด 3 วิธีด้วยกันคือ
วิธีที่ 1 : การใช้สากตำ โดยนำกระจูดที่คัดขนาดแต่ละมัด นำไปวางบนแท่นไม้สี่เหลี่ยม ตำหรือทุบให้แบนด้วยสากตำข้าวหัวตัด การตำจะทำคนเดียวหรือสองคนก็ได้แล้วแต่สะดวก วิธีการนี้จะทำให้ได้เส้นที่เหนียว นุ่ม มีความยืดหยุ่น นำไปจักสานได้ง่าย
วิธีที่ 2 : การใช้ลูกกลิ้งรีด คือการใช้วัสดุทรงกลมที่มีน้ำหนักพอเหมาะอย่าง ท่อซีเมนต์ ท่อเหล็กกลม มากลิ้งทับต้นกระจูดไปมาด้วยใช้คนเหยียบหรือการวิธีการกลิ้งด้วยมอเตอร์ วิธีการนี้ถือเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นวิธีการที่ประหยัดเวลา สามารถเตรียมเส้นกระจูดได้มากกว่าการใช้สากตำ และยังได้เนื้อสัมผัสที่มีความคล้ายกับเส้นกระจูดที่ใช้สากตำอีกด้วย
วิธีที่ 3 : การใช้เครื่องรีดกระจูด ถือเป็นวิธีการที่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนักแม้จะช่วยให้สามารถเตรียมเส้นกระจูดได้คราวละมากๆ เพราะแม้ว่าเครื่องรีดกระจูดจะทำให้ได้เส้นกระจูดที่เรียบแบนเสมอกัน แต่เส้นใยไม่นิ่ม มีความยืดหยุ่นน้อย ทำให้ยากต่อการนำไปจักสาน

การย้อมสีใบลาน :  นำผงสีย้อมต้มในน้ำให้เดือด จากนั้นยกหม้อสีลงจากเตา เมื่ออุณหภูมิอุ่นถึงค่อนข้างร้อนให้นำใบลานที่ฉีกเป็นเส้นได้ขนาดแล้วมัดเป็นกำๆ ละประมาณ 20 – 30 เส้น ไปแช่ในน้ำสีจนสีซึมทั่วทั้งเส้น จากนั้นนำใบลานไปล้างสีส่วนเกินล้างน้ำสะอาดแล้วนำขึ้นไปผึ่งแดดประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วนำไปเก็บไว้ในที่ร่ม ก่อนนำไปรีดเพื่อนำไปผสมผสานร่วมกับงานจักสานกระจูดต่อไป ทั้งนี้ใบลานที่จะนำไปย้อมสีต้องยังไม่ผ่านการรีด เนื่องจากหากเป็นใบลานที่รีดแล้วจะทำให้สีย้อมติดไไม่สม่ำเสมอ

การสานขึ้นรูปกระจูดและใบลาน :

  1. วัดความยาวเส้นกระจูดและใบลานที่เหมาะสมกับโครงชิ้นงาน หากเห็นชิ้นงานที่มีขนาดใหญ่ใช้กระจูดเส้นยาว หากเป็นชิ้นงานขนาดเล็กใช้กระจูดเส้นสั้น เป็นต้น
  2. นำเส้นกระจูดและใบลานที่เตรียมไว้ สานขัดด้วยลายพื้นฐานอย่างลายสอง ถ้าสานเป็นเสื่อจะเริ่มต้นจากริม คือ ตั้งต้นสานจากปลายด้านใดด้านหนึ่งไปจนสุดปลายอีกด้านหนึ่ง แต่ถ้าเป็นภาชนะ เช่น กระสอบนั่ง จะเริ่มต้นจากกึ่งกลางของตอก เทคนิควิธีสานจะแตกต่างกันตามรูปแบบและชนิดของผลิตภัณฑ์ และตามความถนัดของผู้สาน โดยเฉพาะ ทั้งนี้ผู้จักสานต้องว่างเรียงกระจูดสีพื้น และใบลานสีต่างๆ ตามที่ได้ออกแบบจังหวะสีหรือลวดลายไว้ ลายที่ใช้ในงานจักสานกระจูดได้แก่ ลายสอง ลายสาม ลายสี่ ลายลูกแก้ว ลายก้างปลา ลายไยแมงมุม ลายกระดานหมากรุก โดยผู้จักสานสามารถปรับเปลี่ยนจังหวะลวดลายได้จากการเปลี่ยนสีเส้นกระจูดและใบลานเพื่อเพิ่มมิติและความสายงามที่หลากหลายให้แก่ชิ้นงานได้อีกด้วย
  3. เก็บริมชิ้นงานตามลักษณะหรือรูปแบบการใช้งาน  หรือที่ชาวทะเลน้อยเรียกว่า “เม้น”  โดยการเก็บริมหรือพับริมงานจักสานกระจูดมี 2 แบบ คือ
    1) การเก็บริมแบบพับกลับ หรือแบบแซม เป็นการพับปลายกระจูดและใบลานเข้าไปตามแนวลายเดิมประมาณ 1 – 3 นิ้ว แล้วตัดเส้นกระจูดส่วนที่เหลือออก
    2) แบบช่อริม คือการพับปลายกระจูดและใบลานที่เหลือให้คุ้มกันเองมีลักษณะคล้ายการถัก แล้วตัดเส้นกระจูดส่วนที่เหลือออก แบบนี้จะได้ส่วนปากภาชนะหรือปากกระเป๋าที่มีความคงทนมากกว่าแบบเก็บริม

การประกอบชิ้นงาน : เย็บประกอบชิ้นงานกับฐานรองที่สานด้วยกระจูดให้มีความหนาพิเศษ และนำชิ้นงานไปตกแต่งและเย็บด้วยหูหนังเทียมเพื่อความสะดวกในการใช้งาน

ข้อมูลแหล่งที่มา