กระเป๋ากระจูดย้อมสีธรรมชาติปักลายไมโกะ หรือหญิงสาวชาวญี่ปุ่นที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมฝึกฝนศาสตร์และศิลป์ต่างๆ ก่อนก้าวสู่การเป็นเกอิชา ซึ่งเป็นการออกแบบลวดลายที่ได้รับแรงบันดาลใจจากความสวยงามของสตรีชาวญี่ปุ่นที่มีการแต่งกายและทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นลวดลายที่เป็นที่ชื่นชอบของทั้งในกลุ่มลูกค้าชาวๆไทยและชาวญี่ปุ่น โดยความสวยงามและความแตกต่างของลายปักแต่ละลายบนกระเป๋าแต่ละใบเกิดการเลือกใช้สีเส้นด้ายตามจินตนาการของผู้ปัก ซึ่งลายไมโกที่ปรากฎบนตัวกระเป๋าเป็นงานปักแบบเสมือนจริง ผู้ปักต้องใช้ทักษะในการเลือกสีเส้นด้ายและการปักซอยแบบละเอียดเพื่อให้ชิ้นงานมีความงดงามสมบูรณ์ตามความตั้งใจ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบนี้นอกจากเพิ่มความโดดเด่นแก่ผลิตภัณฑ์จักสานกระจูดแล้วยังสามารถเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ทั้งเพื่อการใช้งานและเพื่อการสะสมอีกด้วย
เทคนิคที่ใช้: การเตรียมเส้นกระจูด การย้อมสีกระจูด การสานขึ้นรูปกระจูด และการปักลวดลายบนกระเป๋ากระจูด
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน :
กระจูดสำหรับงานจักสาน : กระจูดที่ใช้สำหรับงานจักสานในชุมชนเรียนรู้หัตถกรรมกระจูดวรรณีคือ กระจูดพันธุ์กระจูดใหญ่ขึ้นตามธรรมชาติในพื้นที่ทะเลน้อย และป่าพรุใน อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง และกระจูดจากอำเภอชะอวด จังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงกระจูดที่ชาวบ้านปลูกสำหรับนำมาจักสานโดยเฉพาะ เนื่องจากเส้นใยมีความเหนียว และมีความยาวเหมาะสม โดยกระจูดที่เหมาะกับงานจักสานคือกระจูดที่มีอายุประมาณ 2-3 ปี หรือมีความยาวเส้นกระจูดประมาณ 1 เมตรขึ้นไป โดยราคากระจูดที่จำหน่ายปัจจุบัน (เดือนกุมภาพันธ์ 2565) มีราคามัดละ 25 – 70 บาท สัดส่วนราคาขึ้นอยู่กับความยาวและความความสมบูรณ์ของเส้นกระจูด
การเตรียมเส้นกระจูด :
1. การเก็บต้นกระจูด : ให้เลือกต้นกระจูดที่ไม่แก่หรืออ่อนเกินไป ขนาดลำต้นยาวสม่ำเสมอ (ประมาณ 1 เมตรขึ้นไป) การเก็บกระจูดผู้เก็บจะใช้มือทั้งสองข้างโอยต้นกระจูดเข้าหาตัวแล้วค่อยๆ ดึงเพื่อถอนต้นกระจูดขึ้นจากกอกระจูด
2. การคัดขนาดกระจูด : ในการคัดขนาดต้นกระจูดจะทำการคัดแยกตามความยาว โดยนำกระจูดมามัดทีละกำวางในแนวตั้ง (ขนาดเส้นผ่านสูงกลางของแต่ละมัดประมาณ 20 – 30 เซนติเมตร) แล้วดึงต้นกระจูดที่ยาวกว่าออกไปรวมไว้อีกกองหนึ่ง เรียกการคัดกระจูดโดยวิธีนี้ว่า “โซ๊ะกระจูด” จากนั้นใช้มีดตัดส่วนที่ไม่ต้องการออก และตัดให้ได้ขนาดความยาวที่ใกล้เคียงกันประมาณ 3 - 4 ขนาด และเพื่อให้สูญเสียเนื้อกระจูดน้อยที่สุด
3. การคลุกโคลน : นำกระจูดที่คัดขนาดแล้วแล้วคลุกน้ำโคลนขาวที่มีขาวถึงสีน้ำตาลอ่อน ซึ่งเป็นโคลนที่พบได้ทั่วไปในแถบทะเลน้อย โดยนำโคลนขาวมาผสมน้ำให้ไม่ข้นหรือเหลวจนเกินไป โดยทดสอบความเหลวโดยการใช้มือจุ่มลงไปในน้ำโคลน หากโคลนข้นพอเกาะนิ้วมือถือว่าเป็นอันใช้ได้ เมื่อได้น้ำโคลนแล้วจึงนำมาใส่ในรางน้ำที่เตรียมไว้สำหรับคลุกต้นกระจูด กรรมวิธีการดังกล่าวถือเป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านในการเตรียมเส้นกระจูดเพื่อให้เส้นใยกระจูดมีความเหนียวและนุ่ม ไม่แห้งกรอบ เมื่อคลุกได้ที่แล้วนำมาตากแห้งประมาณ 2-3 วัน ทั้งนี้วิธีการสังเกตว่ากระจูดแห้งดีแล้วหรือไม่ ให้สังเกตจากกาบต้นกระจูดบริเวณโคนต้น หากกาบแยกออกจากต้นกระจูดแสดงว่าแห้งดีแล้ว ให้ถึงกาบบริเวณโคนออนก่อนนำไปเก็บเข้าที่ร่มทิ้งไว้อีก 4-5 วัน เพื่อให้ต้นกระจูดคลายตัว เมื่อจะใช้ก็เอากระจูดไปตากน้ำค้าง 1 คืน เพื่อให้ต้นกระจูดมีความเหนียว -ลื่น สะดวกในการทำ
4. การคัดต้นกระจูดสำหรับเตรียมจักสาน : นำกระจูดมาคัดขนาดลำต้น โดยแบ่งเป็นลำต้นขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เพื่อให้เหมาะกับงานจักสานที่ต้องใช้ความละเอียดแต่ละชิ้นงานที่แตกต่างกัน แล้วนำไปมัดแยกตามขนาด โดยแต่ละมัดมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 15 – 20 เซนติเมตร
5. การรีดเส้นกระจูด : นำกระจูดไปเตรียมเส้นใยให้มีความเหนียว นุ่ม เหมาะสำหรับการนำไปทำงานจักสาน ซึ่งในพื้นที่ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง มีการรีดเส้นกระจูด 3 วิธีด้วยกันคือ
วิธีที่ 1 : การใช้สากตำ โดยนำกระจูดที่คัดขนาดแต่ละมัด นำไปวางบนแท่นไม้สี่เหลี่ยม ตำหรือทุบให้แบนด้วยสากตำข้าวหัวตัด การตำจะทำคนเดียวหรือสองคนก็ได้แล้วแต่สะดวก วิธีการนี้จะทำให้ได้เส้นที่เหนียว นุ่ม มีความยืดหยุ่น นำไปจักสานได้ง่าย
วิธีที่ 2 : การใช้ลูกกลิ้งรีด คือการใช้วัสดุทรงกลมที่มีน้ำหนักพอเหมาะอย่าง ท่อซีเมนต์ ท่อเหล็กกลม มากลิ้งทับต้นกระจูดไปมาด้วยใช้คนเหยียบหรือการวิธีการกลิ้งด้วยมอเตอร์ วิธีการนี้ถือเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากเป็นวิธีการที่ประหยัดเวลา สามารถเตรียมเส้นกระจูดได้มากกว่าการใช้สากตำ และยังได้เนื้อสัมผัสที่มีความคล้ายกับเส้นกระจูดที่ใช้สากตำอีกด้วย
วิธีที่ 3 : การใช้เครื่องรีดกระจูด ถือเป็นวิธีการที่ยังไม่ได้รับความนิยมมากนักแม้จะช่วยให้สามารถเตรียมเส้นกระจูดได้คราวละมากๆ เพราะแม้ว่าเครื่องรีดกระจูดจะทำให้ได้เส้นกระจูดที่เรียบแบนเสมอกัน แต่เส้นใยไม่นิ่ม มีความยืดหยุ่นน้อย ทำให้ยากต่อการนำไปจักสาน
การย้อมสีกระจูด :
1. การย้อมด้วยสีเคมี : นำสีใส่ในน้ำคนให้สีละลาย แล้วนำกระจูดมัดเป็นกำ กำละประมาณ 20 – 30 เส้น แล้วนำไปจุ่มลงไปในน้ำข้าวสาลี แช่ไว้ประมาณ 5 นาที จากนั้นนำไปย้อมสีโดยการต้มในสีที่ต้มเดือดบนเตาไฟประมาณ 10 – 15 นาที แล้วจึงนำเส้นกระจูดไปล้างสีส่วนเกินล้างน้ำสะอาดแล้วนำขึ้นไปผึ่งแดดประมาณ 2-3 ชั่วโมง แล้วนำไปเก็บไว้ในที่ร่ม
2. การย้อมด้วยสีธรรมชาติ : เตรียมสีธรรมชาติที่ได้จากพีชพรรณชนิดต่างๆ ในพื้นที่ อาทิ ใบมังคุด ให้สีน้ำตาลเทา ใบหูกวาง ให้สีเขียว แล้วนำมาต้มกับเส้นใยกระจูดจนสามารถดูดซับสีได้เต็มที่ โดยใช้น้ำสนิม หรือ สารส้มเป็นสารช่วยย้อมธรรมชาติ (มอร์แดนท์ธรรมชาติ) จากนั้นล้างด้วยน้ำสะอาดแล้วนำไปตากให้แห้งในที่ร่มรำไรอย่างใต้ต้นไม้ หรือใต้ถุนบ้าน หลีกเลี่ยงการตากในที่แดดจัด เนื่องจากอาจทำให้สีซีดจางได้
สำหรับกระจูดที่ผ่านการย้อมด้วยสีเคมีและสีธรรมชาติ ก่อนนำไปใช้ในการจักสานต้องนำกระจูดไปรีดอีกครั้ง โดยวิธีตำ หรือใช้
ลูกกลิ้ง เพื่อให้เส้นเหนียวและแบนเหมาะสำหรับการจักสาน
การสานขึ้นรูปกระจูด :
การตกแต่งชิ้นงานด้วยวิธีการปัก :
การประกอบชิ้นงาน : นำชิ้นงานไปตกแต่งและเย็บด้วยหูหนังเทียม และบุผ้าเพื่อให้ชิ้นงานมีความคงทนและเพื่อการใช้งานที่สะดวกมากยิ่งขึ้น