เทริดมโนหราห์

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

เทริดมโนห์ราชิ้นนี้เป็นสมบัติส่วนตัวของครูปรีชา เพชรสุข ที่ใช้ในการแสดงมโนห์รามาอย่างยาวนาน ซึ่งเป็นเทริดมโนห์ราที่ครูปรีชาสร้างสรรค์ด้วยตนเองทุกขั้นตอน เทริดมโนห์รามีความเชื่อว่าต้องสร้างสรรค์ขึ้นจากไม้ที่ถือว่าเป็นไม้มงคลเท่านั้น เช่น ส่วนเพดานเทริด หรือที่ช่างทำเทริดเรียกว่า ส่วนกะโหลกหรือส่วนกะลาหัว ซึ่งเป็นส่วนที่วางอยู่บนศีรษะต้องทำด้วยไม้ทองหลางใบมน ขอบกะลาหัวต้องใช้หนังวัวเพราะเชื่อว่าวัวเป็นสัตว์ที่มีบุญคุณกับมนุษย์ในการเป็นเครื่องทุ่นแรงทำมาหากินเลี้ยงชีพมาแต่โบราณ ส่วนยอดเทริดต้องทำจากไม้ต้นยางรัก ส่วนกรอบหูทำจากไม้ยอ โครงเทริดหรือกรอบเทริดซึ่งเป็นส่วนที่ใช้ครอบศีรษะต้องใช้ไม้ไผ่สานจากไม้ไผ่สีสุกเท่านั้น เหตุที่ใช้ไม้และองค์ประกอบที่มีชื่อหรือความเชื่อมงคลเหล่านี้มีที่มาจากความเชื่อของบรรพบุรุษที่ให้ความสำคัญกับความเป็นสิริมงคล มีเสน่ห์ในทางเมตตามหานิยม ส่งเสริมให้ผู้คนนิยมชมชอบ เป็นต้น

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องไม้
กลุ่มวัฒนธรรม :
ภาคใต้
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 10 นิ้ว สูง 19.5 นิ้ว
วัสดุ :
ไม้ทองหลาง ไม้รัก ยางรัก กาว สีน้ำมัน หนังวัว ไหมพรม และกระจกแก้วสีต่างๆ
อายุ/ปีที่ผลิต :
2023
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้: เทคนิคการกลึงไม้ การกำหนดสัดส่วน และการลวรักปิดทอง - ประดับกระจก

กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน  :
1. ขั้นตอนการทำกะโหลก (เพดานเทริด) :

  1. เตรียมไม้ทองหลางโดยเลือกใช้เนื้อไม้จากส่วนกิ่งหรือลำต้นที่ได้ขนาด  จากนั้นนำมาเลื่อยเป็นท่อนๆ ให้มีรูปทรงกลมคล้ายกับเขียง แล้วนำมากลึงให้มีผิวเรียบทั้งสองด้าน

  2. ใช้สิ่วหรือสว่านขูดเนื้อไม้ด้านนอกทิ้ง โดยให้เหลือเฉพาะส่วนวงกลมที่ต้องการนำมาทำเป็นส่วนเพดานเทริด แล้วจึงนำมากลึงได้ได้รูปทรงตามต้องการโดยกลึงให้ได้ลักษณะรูปทรงกลมเรียงซ้อนกัน 4 ชั้น ไล่ขนาดวงกลมใหญ่ไปเล็ก

  3. ใช้สิ่วแต่งขอบและเก็บเนื้อไม้ก่อนนำไปตกแต่งผิวให้เรียบด้วยกระดาษทราย แล้วนำไปตากแดดให้แห้งประมาณ 1 – 2 วัน

2. ขั้นตอนการทำยอดเทริด

  1. เตรียมไม้รักจากต้นยางรักโดยเลือกใช้ส่วนกิ่งที่มีขนาดใกล้เคียงกับยอดเทริด หากไม่มีต้นยางรัก ปัจจุบันช่างประยุกต์ใช้ไม้กระท้อน เนื่องจากหาได้ง่ายในท้องถิ่น และยังเป็นไม้เนื้ออ่อนที่มีคุณสมบัติเหลาง่าย กลึงง่าย และไม่โดนมอดกิน

  2. นำท่อนไม้มากลึงตามรูปแบบที่ช่างได้ออกแบบไว้ แล้วจึงใช้สิ่วตกแต่งให้มีผิวที่เรียบ ก่อนนำมาเซาะร่องให้มีขนาดชั้นและจังหวะลายตามที่ช่างต้องการ

  3. ทำเดือยไม้ไว้บริเวณด้านล่างสุดของยอดเทริด เพื่อใช้เสียบยึดระหว่างเทริดและกรอบเทริด

3. ขั้นตอนการทำส่วนหู : นำไม้รักหรือไม้กระท้อนมาทำขนาบหูทั้งสองข้าง โดยตัดแต่งให้มีลักษณะโค้งเรียวคล้ายกับใบหู หรือตามขนาดที่ต้องการ
4. ขั้นตอนการทำกรอบเทริดหรือโครงเทริด : เตรียมไม้ไผ่สีสุกที่นำไปต้ม ตาก และจักตอกเป็นเส้นเรียบร้อยแล้วมาสานด้วยลายขัดหรือลายสองให้เป็นรูปวงกลม เมื่อสานจนเสร็จแล้วจึงนำมาแปะกับส่วนล่างสุดของส่วนกะโหลกหรือเพดานเทริดโดยใช้กาวยึด เมื่อกาวแห้งดีแล้วจึงนำมาตัดตามโครงส่วนโค้งส่วนเว้าของใบหน้า ท้ายทอย หู หน้าผาก ตามขนาดของผู้สวมใส่หรือผู้สั่งทำ โดยตัดแต่งด้านหน้าให้กว้างเพื่อทำส่วนหน้าผาก แล้วจึงนำส่วนหูที่เตรียมไว้แล้วมาติดเข้าด้วยกัน

ทั้งนี้ เทริดสำหรับผู้ชายและผู้หญิงมีความแตกต่างกันกันที่รูปทรงของเทริดคือ เทริดทรงสูงจะเป็นเทริดสำหรับผู้ชาย และเทริดทรงต่ำหรือมีความสูงย่อมลงมาจะเป็นเทริดสำหรับผู้หญิง

5. ขั้นตอนการลงรักและทาสีเทริด

  1. นำยางรักที่กรองละเอียดแล้วมากวนกับกาวลาเท็กซ์แล้วพักให้เนื้อกาวเข้ากันไว้สักครู่

  2. เมื่อส่วนผสมเข้ากันดีแล้ว นำมาทาลงบนกรอบเทริด และส่วนยอดเทริดที่ประกอบกับส่วนกะโหลกเทริดแล้วประมาณ 2- 3 รอบ จากนั้นรอให้แห้งเพื่อให้ผิวของกรอบเทริดมีความลื่น

  3. ทารองพื้นตัวเทริดด้วยสีแดงรอจนกว่าสีจะแห้งแล้วจึงทาทับด้วยสีทอง (สีชนิดเดียวกับที่ใช้ทาพระพุทธรูป) ประมาณ 3 รอบ เพื่อให้สีเสมอกันและช่วยกลบรอยไม้ไผ่ที่สานเป็นกรอบเทริด

  4. บริเวณขอบไม้ไผ่ใช้ผ้าสีแดงมาปิดประกบตามวงรอบขอบไม้ไผ่ด้วยการทากาว เมื่อแห้งดีแล้วจึงใช้ด้ายไนล่อนหรือลวดมาติดเป็นแนว ช่องละ 2 เส้น เว้นช่องว่างระหว่างกันเพื่อใช้ประดับลายกนกที่ทำขึ้นจากแม่พิมพ์ และกระจกแก้ว ทับลงไปในช่องว่างนั้น ทั้งส่วนหน้าผาก ใบหน้า และส่วนหลังของเทริด

6. ขั้นตอนการตกแต่งกะโหลกเทริด (เพดานเทริด)

  1. นำหนังวัวตากแห้งที่ขูดขนวัวออกจนเป็นหนังที่มีลักษณะบางและใสมาตัดเป็นลวดลาย

  2. ใช้ตะปูตัวเล็กตอกลายลงบนเพดานเทริดโดยจัดจังหวะลายให้เท่าๆ กัน ลดหลั่นเป็นชั้นๆ จำนวน 3 ชั้น

  3. ตกแต่งประดับลายในส่วนต่างๆ โดยด้วยการลงรักปิดทองหรือทาน้ำทอง ร่วมกับการปิดทองคำเปลวในจุดที่ต้องการ

  4. นำด้ายไหมพรมสีขาว สีน้ำเงิน และสีแดง ประดับในวงรอบไปกับลายกนกแต่ละชั้น

  5. เก็บรายละเอียดสีชิ้นงานทั้งภายนอกและภายในให้เรียบร้อย



ข้อมูลแหล่งที่มา