หน้าพรานแดง

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

หน้าพรานแดง เป็นส่วนหน้าพรานที่ยังไม่ได้ประดับส่วนผมเพื่อแสดงให้เห็นลักษณะของการสร้างสรรค์งานศิลปหัตถกรรมพื้นบ้านที่รังสรรค์ด้วยมือในทุกขั้นตอน ทั้งนี้หน้าพรานมีการสร้างสรรค์ขึ้นในหลายรูปแบบโดยยึดถือตามรูปหน้าของผู้สวมใส่ และความต้องการของผู้สั่งทำเป็นหลัก มีลักษณะเป็นหน้ากากที่มีรูปหน้าเพียงครึ่งเดียวของใบหน้า คือมีเฉพาะส่วนหน้าผากจนถึงริมฝีปากส่วนบน และเปิดส่วนล่างตั้งแต่ริมฝีปากจนถึงแก้ม และมีการเจาะรูจมูกเนื่องจากมีการสวมใส่เพื่อการแสดงจริง ปัจจุบันนอกจากใช้ในการแสดงมโนห์ราแล้วยังได้รับความนิยมในฐานะสินค้าทางวัฒนธรรมผ่านความเชื่อเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ และได้รับการเคารพนับถือจากผู้คนในท้องถิ่น และคนทั่วไปในฐานะสัญลักษณ์ของความโชคดี และคุณด้านเมตตามหานิยมอีกด้วย ระยะเวลาในการสร้างสรรค์ประมาณ 3 – 5 วัน ราคาประมาณ 1,500 – 2,500 บาท (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565)

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องไม้
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 5.5 นิ้ว (14 เซนติเมตร) สูง 7 นิ้ว (18 เซนติเมตร)
วัสดุ :
ไม้ขนุนที่มีอายุประมาน 10 – 12 ปี จากต้นที่ปลูกภายในบ้านของครูปรีชา เพชรสุข สีน้ำมันสีแดงและสีดำ และสแตนเลส
อายุ/ปีที่ผลิต :
2565
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้: เทคนิคการกลึงไม้ และการกำหนดสัดส่วน

กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน  :

  1. คัดเลือกไม้ขนุนที่ได้สัดส่วนแล้วตัดไม้ขนุนเป็นท่อนและผ่าครึ่งตามขนาดที่ใกล้เคียงกับหน้าพราน หรือมีขนาดกว้างประมาณ 7 – 8 นิ้ว สูงประมาณ 8 – 10 นิ้ว แล้วนำไปแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 3 คืน เพื่อให้เนื้อไม้อ่อนตัว สามารถนำมาตกแต่งทรงได้ง่าย ทั้งนี้ไม้ที่นำมาแกะสลักหน้าพรานช่างจะนิยมใช้ไม้ที่มีชื่อและความหมายที่เป็นสิริมงคล เช่น
    - ไม้ขนุน  ส่งเสริมบารมีเมตตามหานิชมให้คนรักคนสนับสนุน
    - ไม้ยอ  ส่งเสริมให้คนชื่นชม ยกยอ ยกย่องนับถือ
    - ไม้รัก  ส่งเสริมให้คนรักใคร่เอ็นดู

  2. ใช้ขวานขนาดเล็กค่อยๆ ปาดเนื้อไม้และโกลนให้ได้สัดส่วนโครงหน้าพราน และสร้างสัดส่วนใบหน้าพรานเป็นส่วนหน้าผาก คิ้ว ดวงตา จมูก ปาก และส่วนฟัน ทั้งนี้อุปกรณ์ในการสร้างสรรค์ช่างส่วนใหญ่จะประดิษฐ์ขึ้นเองเพื่อความสะดวกและความถนัดในการทำ ซึ่งอุปกรณ์สำคัญอย่างขวานเล็ก รวมถึงมีดปาด และมีดขูด ช่างจะสร้างสรรค์ด้ามมีดอย่างงดงามตามเอกลักษณ์ของตนเอง

  3. เกลาหน้าพรานให้ได้สัดส่วนโดยใช้อุปกรณ์ต่างๆ อย่างมีดปาด และมีดขูด จากนั้นใช้กระดาษทรายเบอร์ 150 ขัดแต่งพื้นผิวหน้าพรานทั้งด้านหน้าและด้านหลังให้เรียบเนียน

  4. วาดสัดส่วนบนใบหน้าด้วยดินสอ เพื่อกำหนดส่วนที่จะเป็นหน้าผาก รอยหน้าผาก หนวด ฟัน คิ้ว และดวงตา

  5. เจาะรูที่ดวงตา และจมูก ทั้งนี้หากเป็นหน้าพรานสำหรับแสดงจะต้องมีการวัดสัดส่วนกับโครงใบหน้าจริงของผู้สวมใส่ เพื่อให้สัดส่วนของดวงตาและจมูกเป็นไปตามส่วนโค้งเว้าของใบหน้าก่อนดำเนินการเจาะรูและร้อยเชือกเชื่อมกับส่วนผ้าโพก

  6. หากโครงไม้ยังมีความชื้นให้นำไปตากให้แห้งก่อนนำมาทาสีผิวหน้าพรานทั้งด้านหน้าและด้านหลังด้วยสีน้ำมันสีแดง และรอให้แห้ง

  7. นำแผ่นโลหะกันสนิมตามตัดเป็นรูปทรงดวงตาที่เจาะรูไว้เรียบร้อยแล้ว และนำไปติดบริเวณช่องดวงตาที่กำหนดไว้

  8. วาดแต่งส่วนคิ้ว รอยหน้าผาก ตา หนวด และฟัน (บางซี่) ด้วยสีน้ำมันสีดำ ทั้งนี้ส่วนของฟันสำหรับหน้าพรานในสมัยก่อนมีการใช้เปลือกหอยสีขาวมาทำเป็นซี่ฟัน ในปัจจุบันมีการใช้สแตนเลส มาตัดประดับแทนเนื่องจากมีคุณสมบัติที่ไม่เป็นสนิมและมีความเงาวาวมาติดบริเวณฟันสองซี่หน้า จากนั้นตกแต่งรายละเอียดของหน้าพรานให้เรียบร้อยสวยงาม

ข้อมูลแหล่งที่มา