โต๊ะหมู่บูชาประดับมุกลายบัวบางเลน เป็นหนึ่งในชุดโต๊ะหมู่บูชาที่ครูจักรกริศษ์บรรจงสร้างสรรค์ลวดลายประดับมุกโดยนำความโดดเด่นของลายบัวบางเลย ซึ่งครูจักรกริศษ์พัฒนาลวดลายขึ้นในปี พ.ศ. 2558 โดยมีแรงบันดาลใจจากความศรัทธาในพระพุทธศาสนา หลอมรวมกับความโดดเด่นของดอกบัวซึ่งเป็นพรรณไม้สัญลักษณ์ของตำบลบัวปากท่า อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม และพื้นที่บริเวณบ้านของครูจักรกริศษ์ที่ล้อมรอบไปด้วยดอกบัวบานสะพรั่ง โดยลักษณะลายบัวบางเลนอันเป็นเอกลักษณ์ของครูจักรกริศษ์คือมีอุณาโลมอยู่บริเวณส่วนยอดของดอกบัว เพื่อสื่อความหมายของการหลุดพ้น ประกอบลวดลายอื่นๆ เพื่อเสริมความงดงามของโต๊ะหมู่บูชา อาทิ ลายเครือเถา ลายกรวยเชิง และลายประจำยาม เป็นต้น
เทคนิคที่ใช้: การเจียรและตัดแต่งเปลือกหอย และการประดับมุก
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน :
• การออกแบบลาย
- สำเนาลายชุดที่ 1 สำหรับใช้ติดบนเปลือกหอยเพื่อฉลุในลักษณะลายตัวขาด
- สำเนาลายชุดที่ 2 สำหรับใช้ติดเปลือกหอยที่ฉลุลายแล้วตามแบบ ก่อนนำไปประดับลายบนพื้นผิวชิ้นงาน
- สำเนาลายชุดที่ 3 สำหรับเก็บไว้เป็นต้นแบบลายประกอบการซ่อมแซมลวดลายประดับมุกของชิ้นงานที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
• การเตรียมเปลือกหอยสำหรับงานประดับมุก ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
• การประดับลายลงบนผิวชิ้นงาน
• การถมลาย ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
1) การถมลาย ครั้งที่ 1 ผสมรักสมุก (ยางรักดิบที่ผ่านการกรองเรียบร้อยแล้วผสมผงถ่านจากการเผาใบตองแห้ง กะลามะพร้าว เศษใบไม้ใบหญ้าในท้องถิ่น แล้วนำมาตำให้ละเอียดจนเป็นผงสีดำสนิท และนำไปกรองด้วยผ้าขาวบางจนได้เนื้อผงถ่านที่มีเนื้อเนียนละเอียด ผสมให้เข้ากันจนได้เนื้อสมุกที่ข้นและเหนียว) แล้วจึงนำไปทาหรือปาดให้เต็มช่องว่างทั่วทั้งชิ้นงาน ระหว่างทาให้กดเกลี่ยให้รักสมุกติดและถมเนียนเรียบไปกับผิวของเปลือกหอย และทิ้งไว้ให้รักแห้ง เนื่องจากยางรักธรรมชาติใช้เวลาในการแห้งติดชิ้นงานแต่ละครั้งนานถึง 7 วัน ช่างจึงมีเวลาในการเก็บรายละเอียดชิ้นงานได้ อย่างไรก็ตามในการลงยางรัก มักทำในช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนมีนาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศแห้ง และไม่ร้อนจัด ทำให้ยางรักไม่เยิ้มและแห้งไวกว่าการทายางรักในช่วงฤดูกาลอื่น หลังจากยางรักแห้งสนิทแล้วจึงขัดเปิดหน้าชิ้นงานด้วยกระดาษทรายน้ำเบอร์ 60
2) การถมลาย ครั้งที่ 2 นำรักสมุกมาทาให้ทั่วทั้งชิ้นงานอีกครั้ง เพื่อถมพื้นผิวให้เรียบ เมื่อยางรักแห้งสนิทดีแล้วจึงขัดผิวชิ้นงานด้วยกระดาษทรายน้ำเบอร์ 150 กับกระดาษทรายน้ำเบอร์ 500
3) การถมลาย ครั้งที่ 3 หรือการปิดตามด คือการเก็บรายละเอียดชิ้นงานส่วนที่เป็นหลุม ฟองอากาศหรือรอยของพื้นรักที่เกลี่ยไว้เดิมให้เรียบเสมอกัน โดยใช้รักสมุก จากนั้นรอให้แห้ง เมื่อแห้งสนิทดีแล้วจึงขัดด้วยกระดาษทรายน้ำเบอร์ 1,000 ขัดจนเห็นเนื้อลวดลายของเปลือกหอยมุกที่สดใสแวววาวทั้งชิ้นงาน
4) การขัดมัน คือการเพิ่มลักษณะพื้นผิวที่มันวาวบนชิ้นงานลงรักประดับมุกด้วยการใช้ใบตองแห้งหรือกาบมะพร้าวแห้งขัดผิวชิ้นงานลงรักประดับมุก ปัจจุบันช่างสามารถประยุกต์ใช้น้ำมันพืชหรือไขปลาวาฬที่ใช้ในงานจิวเวลรีชุบกับผ้าที่มีผิวสัมผัสอ่อนนุ่มขัดบนตัวชิ้นงานเพื่อเพิ่มความมันวาว เกิดมิติแสงที่งดงามอันเป็นเอกลักษณ์ของงานลงรักษ์ประดับมุก