กระบะประดับมุกลายเกล็ดเต่า

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

กระบะลายเกล็ดเต่าเป็นงานลงรักประดับมุกที่ครูจักรกริศษ์ตั้งใจนำเสนอลายตัวขาดที่เป็นลายมาตรฐานที่ใช้ในงานลงรักประดับมุก โดดเด่นด้วยลายหลักคือลายเกล็ดเต่าเรียงต่อกันเป็นแนวยาวบริเวณตัวกระบะ และมีลายประกอบในส่วนอื่นๆ คือลายกรวยเชิง ลายประจำยาม ลายตาไก่ และลายประดิษฐ์ ซึ่งเป็นลายมาตรฐานที่จำเป็นต้องใช้ความชำนาญของช่างเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นการกำหนดสัดส่วนและจังหวะลายระหว่างการเจียรกับมอเตอร์โดยตรง

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องรัก
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
เส้นผ่านศูนย์กลางปากกระบะกว้าง 10 นิ้ว เส้นผ่านศูนย์กลางก้นกระบะกว้าง 9 นิ้ว สูง 3.5 นิ้ว
วัสดุ :
หวาย ไม้รวก เปลือกหอยมุกไฟ และยางรักธรรมชาติ
อายุ/ปีที่ผลิต :
2564
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้:    การจักหวาย การขึ้นรูปหวายด้วยมือ การทายางรัก การเจียรและตัดแต่งเปลือกหอย และการประดับมุก

กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน  :
• การเตรียมหุ่นกระบะ

  1. เตรียมลำหวายแห้ง ที่จัดหามาจากจังหวัดอ่างทอง หรือโรงไม้ที่รับซื้อหวายจากประเทศเพื่อนบ้าน ราคากิโลกรัมละประมาณ 130 บาท

  2. จักหวายโดยใช้มีดผ่าหวายให้เป็นเส้นที่มีความหนาเท่าๆ กันประมาณ 0.1 – 0.2 เซนติเมตร และมีความกว้างประมาณ 0.5 – 1 เซนติเมตร ตลอดทั้งเส้น

  3. นำเส้นหวายที่จักเรียบร้อยแล้วมาขดขึ้นรูปด้วยมือ โดยมีรายละเอียดขั้นตอนดังนี้
    1)  นำส่วนผิวเส้นหวายที่มีความหนาและผิวที่มันเป็นพิเศษซึ่งมีความแข็งแรงมากกว่าหวายส่วนอื่น มาขดเป็นโครง เพื่อเป็นส่วนกำหนดขนาดของหุ่นหวาย ในส่วนที่เป็นรอยต่อของเส้นหวาย ให้ใช้สว่านเล็กหรือเหล็กปลายแหลมแทงบริเวณรอยต่อ ก่อนใช้หมุดจากไม้รวก (ไม้ไผ่ชนิดหนึ่ง) ทำหน้าที่คล้ายตะปูยึดปลายเส้นหวายเข้าด้วยกัน

  1. นำผิวหวายที่เหลาและจักเรียบร้อยแล้วมาขดขึ้นรูปตามต้องการ

  • การเตรียมยางรักรองหุ่นหวาย ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
  1. นำยางรักไทย (ยางรัก 100% ผลิตโดยวิสาหกิจชุมชนจัดการยางรักอมก๋อยอย่างยั่งยืน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่  เป็นยางรักดิบราคากิโลกรัมละ 1,500 บาท (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565)  มากรองด้วยผ้าขาวบางตามสัดส่วนและจำนวนที่ต้องการใช้
  2. ทำผงถ่านจากการเผาใบตองแห้ง กะลามะพร้าว เศษใบไม้ใบหญ้าในท้องถิ่น แล้วนำมาตำให้ละเอียดจนเป็นผงสีดำสนิท และนำไปกรองด้วยผ้าขาวบางจนได้เนื้อผงถ่านที่มีเนื้อเนียนละเอียด
  3. ผสมยางรักในข้อ (1) และผงถ่านในข้อ (2) โดยใช้เกรียงโป๊วคนผสมให้เข้ากันจนได้เนื้อสัมผัสที่ค่อนข้างหนืดและเนียนละเอียด จะได้รักสมุกสำหรับใช้รองหุ่นหวาย
  4. นำรักสมุกทารองหุ่นหวายและรอให้แห้งประมาณ 7 วัน (ขึ้นอยู่กับความชื้นในอากาศ) ทั้งนี้การเตรียมพื้นด้วยรักสมุกในการทำงานลงรักประดับมุก จะมีการลงรักสมุกประมาณ 2 รอบ โดยครั้งที่ 1 เมื่อรักแห้งแล้วนำมาขัดด้วยกระดาษทรายเบน้ำเบอร์ 60 และครั้งที่ 2 เมื่อรักแห้งแล้วนำมาขัดด้วยกระดาษทรายน้ำเบอร์ 150 จึงจะถือเป็นการเตรียมพื้นหุ่นหวายโดยสมบูรณ์

• การเตรียมเปลือกหอยสำหรับงานประดับมุก ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
   1)  นำหอยโข่งทะเล (เดิมเรียกว่าหอยอูด) หรือหอยมุกไฟ ซึงหาได้ในทะเลและมหาสมุทรในแถบจังหวัดภูเก็ต ประเทศพม่า อินโดนีเซีย และแถบมหาสมุทรอินเดีย  ซึ่งครูจักรกริศษ์ซื้อมาจากผู้แทนจำหน่ายในจังหวัดสมุทรสาคร และจังหวัดระนอง ราคากิโลกรัมละ 1,500 – 1,700 บาท (ข้อมูล ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565)

2)  นำหอยโช่งทะเลมาขัดลอกหินปูนที่หุ้มเปลือกหอยออก โดยใช้หินเจียรขนาด ¼ หรือ ½ โดยขัดแต่งเปลือกหอยจนถึงชั้นเปลือกหอยสีขาว ซึ่งเป็นส่วนที่นำไปใช้ในการประดับมุก สำหรับการขัดในขั้นตอนนี้จะได้เปลือกหอยมุกที่มีความหนาประมาณ 0.1 – 0.2 มิลลิเมตร หรือมีขนาดความหนาเท่ากับเหรียญ 1 บาทไทย

3)  ตัดเปลือกหอยเฉพาะส่วนที่สามารถนำไปใช้งานได้ คือส่วนเปลือกโค้งรอบเปลือกหอย โดยมอเตอร์ตัดไปตามส่วนโค้ง คงเหลือส่วนแกนหอยที่ช่างทำหัวโขนจะนำไปทำเป็นเขี้ยวยักษ์หรือเขี้ยวลิงต่อไป ทั้งนี้หอยโข่งทะเล 1 ตัวน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรรม มีพื้นที่ส่วนเปลือกหอยที่สามารถนำมาทำเป็นลวดลายประดับมุกได้ประมาณ 15 – 20 ตารางเซนติเมตร เท่านั้น เนื่องจากเนื้อเปลือกหอยส่วนที่เหลือมีรูปทรงที่ไม่เหมาะสม และไม่มีแสง ไม่มีสี ปราศจากคุณสมบัติสะท้อนไฟซึ่งเป็นความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ของงานลงรักประดับมุก

4) นำเปลือกหอยมุกที่ได้มาขัดเจียรให้เรียบเสมอกันด้วยเครื่องเจียร และขัดด้วยกระดาษทรายเบอร์ 60 ขัดแต่งให้ผิวเปลือกหอยเรียบเสมอกัน

5) ตัดเปลือกหอยเป็นเส้นยาว โดยพิจารณารูปทรงเปลือกหอยที่มีส่วนโค้งน้อยเพื่อให้ผิวของเปลือกหอยเรียบเสมอกันไนขั้นตอนการประดับมุก โดยใช้ใบตัดขนาด 0.30 มิลลิเมตร

6) นำแผ่นเปลือกหอยขนาดต่างๆ มาเจียรเป็นลายมาตรฐานต่างๆ ประกอบด้วย ลายเกล็ดเต่า ลายกรวยเชิง ลายประจำยาม ลายตาไก่ และลายประดิษฐ์ ซึ่งขั้นตอนนี้จำเป็นต้องใช้ความชำนาญของช่างเป็นอย่างมาก เนื่องจากลายมาตรฐานต่างๆ เป็นการกำหนดสัดส่วนและจังหวะลายระหว่างการเจียรกับมอเตอร์โดยใช้ใบตัดขนาด 0.30 มิลลิเมตร

7) นำเปลือกหอยที่ตัดเป็นเส้นยาว และเจียรเป็นรูปทรงต่างๆ เรียบร้อยแล้วประดับบนผิวชิ้นงานที่ลงรักรองหุ่นหวายเรียบร้อยแล้ว โดยใช้รักเทือก (ยางรักดิบ ผสมผงถ่านเล็กน้อย มีคุณสมบัติเหมือนกาวธรรมชาติ) ในการประดับมุก โดยจัดเรียงชิ้นงานตามสัดส่วน และช่องไฟของลวดลายและจินตนาการของผู้สร้างสรรค์

• การถมลาย ประกอบด้วยขั้นตอนต่างๆ ดังนี้
1) การถมลาย ครั้งที่ 1 ผสมรักสมุกที่มีเนื้อสัมผัสข้นและเหนียว แล้วจึงนำไปทาหรือปาดให้เต็มช่องว่างทั่วทั้งชิ้นงาน ระหว่างทาให้กดเกลี่ยให้รักสมุกติดและถมเนียนเรียบไปกับผิวของเปลือกหอย  และทิ้งไว้ให้รักแห้ง  เนื่องจากยางรักธรรมชาติใช้เวลาในการแห้งติดชิ้นงานแต่ละครั้งนานถึง 7 วัน ช่างจึงมีเวลาในการเก็บรายละเอียดชิ้นงานได้ อย่างไรก็ตามในการลงยางรัก มักทำในช่วงเดือนพฤศจิกายน - เดือนมีนาคม เนื่องจากเป็นช่วงที่อากาศแห้ง และไม่ร้อนจัด ทำให้ยางรักไม่เยิ้มและแห้งไวกว่าการทายางรักในช่วงฤดูกาลอื่น หลังจากยางรักแห้งสนิทแล้วจึงขัดเปิดหน้าชิ้นงานด้วยกระดาษทรายน้ำเบอร์ 60

2) การถมลาย ครั้งที่ 2 นำรักสมุกมาทาให้ทั่วทั้งชิ้นงานอีกครั้ง เพื่อถมพื้นผิวให้เรียบ เมื่อยางรักแห้งสนิทดีแล้วจึงขัดผิวชิ้นงานด้วยกระดาษทรายน้ำเบอร์ 150 กับกระดาษทรายน้ำเบอร์ 500

3) การถมลาย ครั้งที่ 3 หรือการปิดตามด คือการเก็บรายละเอียดชิ้นงานส่วนที่เป็นหลุม ฟองอากาศหรือรอยของพื้นรักที่เกลี่ยไว้เดิมให้เรียบเสมอกัน โดยใช้รักสมุก จากนั้นรอให้แห้ง เมื่อแห้งสนิทดีแล้วจึงขัดด้วยกระดาษทรายน้ำเบอร์ 1,000 ขัดจนเห็นเนื้อลวดลายของเปลือกหอยมุกที่สดใสแวววาวทั้งชิ้นงาน

4) การขัดมัน คือการเพิ่มลักษณะพื้นผิวที่มันวาวบนชิ้นงานลงรักประดับมุกด้วยการใช้ใบตองแห้งหรือกาบมะพร้าวแห้งขัดผิวชิ้นงานลงรักประดับมุก ปัจจุบันช่างสามารถประยุกต์ใช้น้ำมันพืชหรือไขปลาวาฬที่ใช้ในงานจิวเวลรีชุบกับผ้าที่มีผิวสัมผัสอ่อนนุ่มขัดบนตัวชิ้นงานเพื่อเพิ่มความมันวาว เกิดมิติแสงที่งดงามอันเป็นเอกลักษณ์ของงานลงรักษ์ประดับมุก

ข้อมูลแหล่งที่มา