จุดเริ่มต้นจากความตั้งใจกลับมาอยู่ที่บ้านเกิดในอำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี และความต้องการรื้อฟื้นมรดกภูมิปัญญาการทอผ้าแบบดั้งเดิมของชาวไทยวนที่ใกล้สูญหายไปตามกาลเวลา การเริ่มฝึกฝนกับครูทอผ้าหลายท่าน รวมถึงครูจงจรูญ มะโนคำ ครูช่างศิลปหัตถกรรม ผู้เชี่ยวชาญชาญด้านการทอจก ประกอบกับการค้นคว้าศึกษาข้อมูล เกี่ยวกับลวดลายผ้าทอโบราณ จนได้มีโอกาสได้เห็นผ้าซิ่นตีนจกโบราณ อายุกว่า 250 ปี จำนวน 9 ผืน ที่อาจารย์ทรงชัย วรรณกุล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องผ้าไทยวน สระบุรี เก็บรักษาไว้ จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการทุ่มเทศึกษา และมุ่งมั่นสืบทอดการทอผ้าซิ่นตีนจกไทยวน เสาไห้ เรื่อยมา
ครูสุพัตราเชื่อว่า ลวดลายของผ้าจกไทยยวนทุกลายล้วนมีคุณค่า สะท้อนเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ไทยวน ได้อย่างชัดเจน และแสดงถึงสติปัญญาและความมานะอดทนของผู้หญิงล้านนาในอดีต ที่ต้องจดจำลวดลายซึ่งเป็นมรดกทางภูมิปัญญาของบรรพชน และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น พร้อมกระบวนการสร้างสรรค์ที่ใช้ความละเอียดและอดทนด้วยการใช้ขนเม่น เกี่ยวเส้นไหมหรือเส้นฝ้ายทีละเส้น สร้างเป็นลวดลายจกอันตระการตาจนได้ผ้าซิ่น 1 ผืน โดยสตรีชาวไทยวนแต่ละคน ต้องทอผ้าผืนสำคัญในชีวิตไว้อย่างน้อย 3 ผืน คือ ผืนแรกที่ฝึกทอจนสำเร็จสำหรับใช้ในพิธีแต่งงานของตนเอง ผืนที่สองเพื่อใช้นุ่งในงานบวชของลูกชาย และผืนสุดท้ายสำหรับนุ่ง เมื่อตนเองเสียชีวิตและเผาไปพร้อมกับร่างของตนเอง ซึ่งเป็นการทำตามความเชื่อที่ว่า ในยามเสียชีวิตหากมีผ้าซิ่นติดตัวไปด้วย ในภพข้างหน้าจะได้กลับมาเกิดในกลุ่มชาติพันธุ์ไทยวนอีกครั้ง
เอกลักษณ์ที่โดดเด่นของผ้าซิ่นตีนจกไทยวนฝีมือ ครูสุพัตรา คือ การให้ความสำคัญกับเอกลักษณ์ที่สะท้อนถึงภูมิปัญญาดั้งเดิม เนื่องจากลายจกต่าง ๆ ล้วนสื่อถึงคติความเชื่อ ประเพณี วัฒนธรรมของชาวไทยวน อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี อาทิ “ลายหลัก” หรือลายจกหลักบนส่วนผ้าซิ่นตีนจก คือ ส่วนที่ใช้แทนเขาพระสุเมรุ ที่ประดิษฐานพระเกตุแก้วจุฬามณี สิ่งเคารพสูงสุดของชาวไทยวน “ลายประกอบ” ในส่วนถัดมา สามารถสื่อถึงได้หลากหลายความหมาย เช่น ลายสะเปา หรือ สำเภา ต่อด้วยหางสะเปาเพื่อสื่อถึงชีวิตหลังความตาย เป็นสำเภาที่พาผู้เสียชีวิตไปสักการะพระเกตุแก้วจุฬามณี และนำพาให้ดวงวิญญาณไปจุติบนสรวงสวรรค์ในที่สุด นอกจากนั้นลายที่นิยมในผ้าซิ่นตีนจกไทยวน สระบุรีคือ “ลายนกคู่กินน้ำร่วมต้น” ซึ่งเป็นลายสัญลักษณ์สื่อถึงพี่น้องชาวไทยวน ที่อพยพแยกย้ายกันไปตั้งถิ่นฐานในที่ต่าง ๆ ถึง 8 เมืองด้วยกันคือ เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ราชบุรี นครราชสีมา และสระบุรี มีลายประกอบคือ ลายดอกแก้ว ส่วนตัวซิ่นจะเป็นลายที่มีในจังหวัดสระบุรีเท่านั้น เช่น ลายบัวคว่ำบัวหงาย ลายเครือวัลย์ ลายปูนปั้น
สำหรับ “ถง” หมายถึง “ถุง” หรือ “ย่าม” ที่ชาวไทยวนใช้สำหรับใส่ของพกพาไปในที่ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวันและในโอกาสพิเศษต่าง ๆ ซึ่ง “ถง” นี้เป็นหนึ่งในของใช้ข้างกายสำคัญ จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของขาวไทยวน ผ้าที่นำมาใช้ทอและทำเป็นถงนั้น นิยมใช้ผ้าที่ทอด้วยเทคนิคที่มีการสืบทอดในกลุ่มชาวไทยวน อาทิ ผ้าพื้น ผ้าทอยกมุก ผ้าจกหรือผ้าเก็บ จึงทำให้ถงแต่ละใบมีรายละเอียดและความงดงามที่แตกต่างกัน โดยอัตลักษณ์ที่สำคัญที่ปรากฎบนถงย่ามชาวไทยวน คือ ลวดลายที่เกิดจากการผสมผสานการทอด้วยเทคนิคต่าง ๆ เช่น ลายขอประแจ ลายก้างปลา ลายดอกซ้อน เป็นต้น นอกจากนี้อีกหนึ่งความโดดเด่นของถงย่ามไทยวน คือ การเย็บด้วยเส้นด้าน เป็นลายที่สืบทอดกันมา อย่างการเย็บแบบสนกระดูกงูที่ปากย่าม เย็บจ่องแอวเขียดต่อระหว่างตัวย่ามกับสายสะพาย และมีพู่ย่ามที่ทำด้วยเส้นฝ้ายห้อยบริเวณก้นถงย่าม