ผ้าไหมมัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ผ้าไหมมัดหมี่ลายขอเจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตน์ราชกัญญา เป็นลายพระราชทาน ที่ท่านมอบให้ช่างทอผ้าเป็นของขวัญปีใหม่ โดยออกแบบลาย ให้มีความหมายถึงการส่งมอบความรัก ความสุข
โดยจะนำผ้ามาย้อมด้วยดอกอัญชัน ซึ่งเป็นสีม่วงจากธรรมชาติที่มีสีสันสวยงาม ใช้วิธีการมัดหมี่ และทอผ้า 2 ตะกอ เป็นลวดลายขอสีขาวด้วยมือ ได้เป็นผืนผ้าที่มีลายงดงาม ร่วมสมัย
ใช้ได้จริงในหลากหลายโอกาส และคงเอกลักษณ์ผ้าไหมของไทย

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องทอ
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
200x100 เซนติเมตร
วัสดุ :
ผ้าไหมย้อมสีธรรมชาติ
อายุ/ปีที่ผลิต :
2564
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ :  การมัดหมี่
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :

  • การเตรียมเส้นไหมแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่
  1. การเตรียมไหมเส้นพุ่ง คือ การเลือกลาย แล้วทำการวัดความยาวของฟันหมีฟืม เช่น ถ้าใช้ขนาดของฟันหวี 42 นิ้ว ให้ใช้โฮงหมี่ขนาดน้อยกว่าฟันหวี 1เซนติเมตร เพื่อให้หัวหมี่มีขนาดสั้นกว่าความยาวของฟันหวี เพราะในขณะที่ทอผ้านั้น จะเกิดแรงตึงของเส้นพุ่ง ทำให้หน้ากว้างของฟันหวี 42 นิ้ว มีขนาดเท่ากับความยาวของหัวหมี่พอดี ส่งผลให้ผ้าเรียบเสมอกันทั้งผืน
  2. การเตรียมไหม (ฝ้ายเส้นยืน) คือ การค้นหูกหรือค้นเครือ เป็นกรรมวิธีนำเอาเส้นไหมที่เตรียมไว้สำหรับเป็นไหมเครือไปค้น (กรอ) ให้ได้ความยาวตามจำนวนผืนของผู้ทอผ้าไหมตามที่ต้องการ
  • การค้นหมี่
  1. เอาฝ้ายที่เตรียมมาแล้ว มัดหลักหมี่ด้านล่างก่อน แล้วพันรอบหลักหมี่ไปเรื่อย ๆ เรียกว่า การก่อหมี่
  2. การค้นหมี่จะต้องค้นจากล่างขึ้นบน หรือบนลงล่าง จนกว่าจะครบจำนวนรอบที่ต้องการ ภาษาท้องถิ่นเรียกแต่ละจำนวนว่าลูกหรือลำ ถ้าก่อหมี่ผูก ฝ้ายด้านขวา ก็ต้องวนซ้ายมาขวาทุกครั้ง
  3. ควรผูกฝ้ายไว้ทุกลูกด้วยสายแนม เพื่อไม่ให้หมี่พันกัน หรือหลุดออกจากกัน
  • การมัดหมี่
  1. มัดกลุ่มฝ้ายแต่ละลูกหมี่ด้วยเชือกฟาง จนครบหลักหมี่ ทำเป็นเชิงผ้า
  2. การเริ่มต้นลายมัดหมี่ อาจมัดจากด้านบนไล่เรียงลงข้างล่าง หรือมัดข้างล่างก่อนจึงไล่เรียงขึ้นข้างบน บางคนอาจเริ่มมัดจากตรงกลางก่อน จึงขยายออกไปเต็มหลักหมี่
  3. เริ่มมัดปลายเชือกด้านหนึ่งกับลูกหมี่ก่อน จึงพันอีกปลายหนึ่งซ้อนทับกันให้แน่น เพื่อไม่ให้สีย้อมซึมเข้าข้อหมี่ เมื่อพันทับกันไปจนได้ความยาวตามลายหมี่แล้ว มัดปลายเชือกกับลูกหมี่ให้แน่นเช่นกัน โดยเหลือปลายเชือกไว้ เมื่อเวลาแก้ปอมัดจะทำได้ง่าย
  4. เอาเชือกเส้นหนึ่งสอดเข้าไปในช่องหลักหมี่ข้างใดข้างหนึ่ง ผูกกลุ่มฝ้ายไว้เป็นวง ไม่ให้หมี่ที่มัดลวดลายแล้วหลุดออกจากกัน และใช้เป็นหูหิ้วสำหรับจับเวลาย้อม ถอดฝ้ายมัดหมี่ออกจากหลักหมี่หลังจากนั้น เราก็จะนำไป ย้อมคราม เมื่อย้อมครามเสร็จก็จะนำมาแก้ปอมัดหมี่
  • การแก้ปอมัดหมี่
    หมี่ที่มัดเสร็จเรียบร้อยและถอดออกจากหลักหมี่แล้วนำไปแช่น้ำให้เปียก บิดให้หมาด นำไปล้างสีให้สะอาด จึงนำมาแก้ปอมัดหมี่ พาดราวกระตุกให้เรียงเส้น ผึ่งให้แห้ง ได้ฝ้ายมัดหมี่ ตัดปมฟางที่มัดไว้ออกจากเส้นไหมเพื่อให้เกิดลวดลายตรงที่แก้ปอออก
  • การปั่นหลอด
    นำฝ้ายมัดหมี่คล้องใส่กงซึ่งวางอยู่ระหว่างตีนกง 1 คู่ หมุนกงคลายฝ้ายออกจากกง พันเข้าหลอดไม้ไผ่เล็ก ๆ ที่เสียบแน่นอยู่กับเหล็กไนของหลา ความยาวของหลอดไม้ไผ่สัมพันธ์กันกับกระสวยทอผ้า เมื่อหมุนกงล้อไม้ไผ่ของหลา เหล็กไนและหลอดจะหมุนเอาเส้นฝ้ายจากกงพันรอบแกนหลอดไม้ไผ่ ให้ได้จำนวนเส้นฝ้ายพอเหมาะกับขนาดของร่องกระสวยทอผ้า
  • การทอผ้ามัดหมี่
    นำเส้นฝ้ายที่มัดหมี่แล้วมาทำการทอ โดยแบ่งเส้นฝ้ายออกเป็น 2 ชุด เส้นฝ้ายยืน จะถูกขึงไปตามความยาวผ้าเป็นส่วนที่อยู่ติดกับกี่ทอ หรือแกนม้วนด้านยืน ส่วนเส้นฝ้ายพุ่งจะถูกกรอเข้ากระสวย เพื่อให้กระสวยเป็นตัวนำเส้นด้ายพุ่งสอดขัดเส้นด้ายยืนเป็นมุมฉาก ทอสลับกันไปตลอดความยาวของผืนผ้า ทั้งนี้การสอดด้ายพุ่งแต่ละเส้น ต้องสอดให้สุดถึงริมผ้าแต่ละด้าน แล้วจึงวกกลับมา จะทำให้เกิดริมผ้าเป็นเส้นตรงทั้งสองด้าน ส่วนลวดลายของผ้านั้น ขึ้นอยู่กับการวางลายผ้าตามแบบของผู้ทอที่ได้ทำการมัดหมี่ไว้ ถือเป็นอันเสร็จสมบูรณ์
ข้อมูลแหล่งที่มา