ผ้าโฮลสะไรย์ (ผ้าโฮลสตรี)

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

ผ้าโฮลสะไรย์ เป็นการดัดแปลงมาจากการทอผ้าโฮลเปราะห์หรือผ้าโฮลบุรุษ ที่มีความงดงามและได้รับความนิยม แต่ใช้สำหรับผู้ชายเท่านั้น สตรีจึงได้มีการดัดแปลงนำการทอของโฮลเปราะห์
โดยใช้วิธีการดึงลายจนเกิดเป็นอีกลวดลายหนึ่งขึ้นมา และเพิ่มองค์ประกอบของลวดลาย คือ ลายสายฝน ลายหางกระรอก และคั่นด้วยเส้นพื้นสีแดง บริเวณริมผ้าจะมีเส้นสันนูนขนานไปทั้งสองด้านในแนวเส้นพุ่ง

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องทอ
กลุ่มวัฒนธรรม :
ไทยเขมร
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
ขนาด: 100x 200 เซนติเมตร
วัสดุ :
เส้นไหม ,ครั่ง , แก่นเข ,คราม
อายุ/ปีที่ผลิต :
2564
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : เทคนิคมัดหมี่
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :

  • การเตรียมเส้นไหม : วิธีการเตรียมเส้นไหมแบ่งการสาวไหมเป็น 3 รอบ ได้แก่
  1. การสาวไหมรอบที่ 1  เป็นการสาวเอาไหมเปลือกรัง ซึ่งมีสิ่งสกปรกค่อนข้างมาก เส้นไหมที่ได้จะมีเส้นที่หยาบ เรียกว่า “ไหมหัว” จากนั้นจึงตักรังไหมออกเพื่อรอสาวรอบถัดไป
  2. การสาวไหมรอบที่ 2  จะได้เส้นไหมที่มีขนาดเส้นที่เล็กกว่าไหมการสาวรอบแรก มีสิ่งสกปรกน้อยมาก บางครั้งอาจไม่มี เรียกไหมชนิดนี้ว่า “ไหมน้อย” นิยมนำมาทอผ้าไหมมัดหมี่ เนื่องจากเป็นเส้นไหมที่มีความเหนียวและเงางาม ถือเป็นสุดยอดของเส้นไหม "
  3. การสาวรอบที่ 3 จะได้เส้นไหมขนาดเส้นเล็กมาก เรียกว่า “ไหมน้อยพิเศษ” เหมาะแก่การทำผ้าไหมที่มีเนื้อบางเบา เช่นผ้าไหมแก้ว เส้นไหมประเภทนี้ ไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากสาวเส้นได้ยากและสาวได้ปริมาณน้อยมากและเมื่อทอจะได้ผ้าเนื้อบางไม่ทนทานต่อการใช้งาน
  • การฟอกไหม
  1. เตรียมวัตถุดิบสำหรับทำน้ำด่าง ได้แก่ เหง้ากล้วยฝานตากแห้ง ผักโขมหนามตากแห้ง เปลือกผลนุ่นตากแห้ง งวงตาลตากแห้ง เปลือกฝักสำโรงตากแห้ง โดยใช้วัตถุดิบทั้งหมด หรือเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งให้ได้น้ำหนักประมาณ 5-6 กิโลกรัม นำไปเผาไฟให้ได้ขี้เถ้าประมาณ 1 กิโลกรัม นำขี้เถ้ามาเคล้ากับน้ำสะอาดประมาณ 15 ลิตร แล้วนำไปกรองให้ได้น้ำด่างที่ใสสะอาด แล้วนำมาเทใส่กะละมังเคลือบ
  2. นำไหมดิบ 1 กิโลกรัม มาแช่ในน้ำด่างประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง แล้วจึงยกน้ำด่างพร้อมเส้นไหมในกะละมัง ตั้งไฟต้มให้เดือดประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง ให้สังเกตว่าพอน้ำเดือดในระยะแรก เส้นไหมจะลื่นเป็นเมือก ๆ แบบนี้จะยังใช้ไม่ได้ ให้ต้มต่อไปอีกจนเมือกนั้นเปื่อยละลาย เมื่อจับจะรู้สึกหนืดมือ เหมือนแป้งเปียกถือว่าใช้ได้ จึงยกลงจากเตา
  3. นำเส้นไหมไปล้างน้ำสะอาด (น้ำอุณหภูมิปกติ) หลาย ๆ ครั้งจนเมือกหลุดหมด จากนั้นนำเส้นไหมที่สะอาดดีแล้ว มากระตุกตากให้แห้ง เส้นไหมจะเปลี่ยนจากสีเหลืองเป็นสีขาวนวล
  • การย้อมสีและการมัดหมี่
  1. นำเส้นไหมที่ฟอกแล้วมาขึ้นหลักค้นหมี่ โดยนำเส้นไหมมาพันที่หลักค้นหมี่ ทั้งซ้ายและขวาจนครบ 21 ลำหรือมากกว่า
  2. ใช้เชือกกล้วยหรือเชือกฟาง มัดปิดเส้นไหมในส่วนที่เป็นสีขาว หรือส่วนที่จะย้อมเป็นสีเหลือง สีเขียว และสีคราม ตามรูปแบบและลวดลายที่กำหนดไว้
  3. เมื่อมัดเส้นไหมส่วนที่ไม่ต้องการให้ติดสีเรียบร้อยแล้ว นำไปแช่ในน้ำสะอาดประมาณ 1 คืน  (ไม่ใช้น้ำประปา หรือน้ำเค็ม)
  4. การย้อมสีผ้าโฮล จะเริ่มต้นจากการย้อมสีแดงจากครั่ง โดยตักน้ำครั่งที่เตรียมไว้ลงในหม้อย้อม ปริมาณ 20 ลิตร ตั้งบนเตาไฟต้มให้เดือด แล้วนำใบไม้ที่เป็นสารจับสี ใส่ลงไปในหม้อต้มน้ำครั่ง ได้แก่ ใบมะขาม 1 กำมือหรือประมาณ 60 กรัม ใบชงโค 1 กำมือหรือประมาณ 100 กรัม ใบเหมือดแอ 1 กำมือหรือประมาณ 50 กรัม และสารส้มตำให้ละเอียด 50 กรัม (1ช้อนชา)
  5. ตักน้ำครั่งที่เตรียมไว้ ใส่หม้อที่ไม่ได้ต้ม พอท่วมเส้นไหมเติมสารส้มป่นประมาณครึ่งช้อนชา ( 20-25 กรัม ) แล้วใช้ขันตักน้ำครั่งที่ต้มเดือดแล้วประมาณ 1 ลิตร เทผสมกับน้ำครั่งเย็นในกาละมังพออุ่น ๆ
  6. นำเส้นไหมที่เตรียมไว้ ชุบน้ำให้เปียกพอหมาด ๆ ลงไปแช่น้ำอุ่นในกะละมัง ใช้มือนวดเส้นไหมเบา ๆ ให้น้ำสีซึมเข้าไปในเส้นไหมให้ทั่ว ประมาณ 10 นาที จากนั้นยกเส้นไหมขึ้น แล้วบิดเส้นไหมให้น้ำออกพอหมาด ๆ แล้วนำน้ำครั่งที่ใช้นวดเส้นไหม เทใส่หม้อต้มรวมกัน ปล่อยให้น้ำต้มเดือดจัด จึงเอาเส้นไหมลงต้มในหม้อย้อม
  7. ต้มน้ำครั่งไปเรื่อย ๆ และกลับเส้นไหมไปเรื่อย ๆ จนสังเกตเห็นสีของน้ำครั่งจางและใส (โดยตักน้ำต้มแล้วเทลงลักษณะสีน้ำครั่งจะใส) แล้วยกห่วงเอาเส้นไหมขึ้นจากหม้อต้มย้อม
  8. นำเส้นไหมไปตากกับราวตากที่เตรียมไว้ บิดเส้นไหมให้น้ำย้อมออกให้หมด และกระตุกเส้นไหมให้น้ำและเศษใบไม้หลุดออกให้หมดแล้วตากเส้นไหมให้แห้งสังเกตดูสีของเส้นไหมให้มีสีเข้มตามที่ต้องการ หากสียังอ่อนอยู่จะนำไปต้มย้อมใหม่ โดยเปลี่ยนน้ำครั่งและส่วนผสมตามปริมาณที่กำหนด แล้วทำการย้อมตามขั้นตอน ใหม่ จนได้เส้นไหมที่มีสีตามต้องการแล้วนำเส้นไหมตากให้แห้ง
  9. เมื่อได้สีตามต้องการแล้ว ให้นำไปล้างน้ำฝนหรือน้ำประปาหรือน้ำบ่อที่สะอาด จนสีน้ำล้างใสหรือแดงปนนิดหน่อยจึงนำเส้นไหมไปตากแดดให้แห้ง
  10. นำเชือกมามัดปิดเส้นไหม ส่วนสีแดงที่ย้อมแล้ว และปิดเส้นไหมส่วนที่ต้องการย้อมเป็นสีม่วง แล้วใช้มีดตัดปมเชือกส่วนที่ต้องการย้อมสีเหลืองออก
  11. นำเส้นไหมไปย้อมสีเหลืองด้วยเข หรือ แกแล แล้วนำเส้นไหมไปตากแดดให้แห้ง
  12. นำเชือกมามัดส่วนที่ต้องการให้เป็นสีเหลือง และใช้มีดตัดปมเชือก หรือเว้นเส้นในส่วนที่จะนำไปย้อมเป็นสีเขียว แล้วนำไปย้อมด้วยไม้ประโหด เรียบร้อยแล้วนำเส้นไหมไปตากแดดให้แห้ง
  13. นำเชือกมามัดเส้นไหมส่วนที่ต้องการให้เห็นสีเหลือง แล้วแกะปมเชือกส่วนที่ต้องการย้อมเป็นสีม่วง และส่วนของสีขาวที่จะไปย้อมเป็นสีครามออก แล้วจึงนำเส้นไหมไปย้อมด้วยครามอีกครั้ง จากนั้นจึงนำเส้นไหมไปตากแดดให้แห้งแล้วนำมาปั่นเก็บไว้สำหรับทอต่อไป
ข้อมูลแหล่งที่มา