สลักดุนรูปโขลงช้าง

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

สลักดุนรูปช้างใช้เทคนิคการสลักดูนแบบนูนต่ำ ไม่มีการลงทองคำเปลว เนื่องจากเป็นช้างป่า ไม่ใช่ช้างต้นที่มีการทรงคชาภรณ์ (เครื่องประดับช้าง) มีทั้งช้างพลาย (ตัวผู้) ช้างพัง (ตัวเมีย) ใช้เทคนิคการดุนโลหะด้วยค้อนและแท่งเหล็ก  โขลงช้างภาพนี้ เป็นการสื่อถึงการอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่มก้อน สื่อถีงความสามัคคีในหมู่คณะ  เนื่องจากในป่าใหญ่ ช้างที่อยู่ตัวเดียวโดดๆ อาจไม่ปลอดภัย จึงต้องรวมกลุ่มคอยคุ้มครองกันและกัน

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องโลหะ
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
กว้าง 8 ยาว 12 นิ้ว
วัสดุ :
อลูมิเนียม และชัน
อายุ/ปีที่ผลิต :
2562
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : เทคนิคการดุนโลหะ
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :

  1. เตรียมแผ่นโลหะ ตามขนาดที่ต้องการ และนำโลหะไปเผาเพื่อให้อ่อนตัวและมีความยืดหยุ่น
  2. ร่างแบบบนแผ่นกระดาษ แล้วจึงนำมาติดลงบนชิ้นงาน หรือ ช่างบางท่านอาจร่างแบบลงบนเนื้อโลหะโดยตรง ตามความถนัดและรูปแบบการสร้างลายบนชิ้นงาน
  3. สลักเส้น หรือ การสร้างเส้นประบนแผ่นโลหะฯ เป็นการกำหนดตำแหน่งรูปทรงหรือลวดลายเพื่อให้มีความแม่นยำในการดุน
  4. ดุนโลหะฯ คือ การดันแผ่นโลหะฯ ยืดตัวจากอีกด้านของแผ่นที่สลักเส้นกำหนดตำแหน่งไว้ด้วยชันหรือดินน้ำมัน
  5. ใส่ชัน หรือ เข้าชัน (ชัน เป็นยางไม้ป่าชนิดหนึ่ง พบในป่าเบญจพรรณบริเวณภาคเหนือของไทย) หลังจากที่ดุนได้ความนูนของรูปทรงหรือลวดลายบนเนื้อโลหะแล้ว  จึงเคี่ยวชันดิบที่มีลักษณะเป็นก้อนยางแข็ง
    สีน้ำตาลอ่อนถึงเข้ม ช่างสลักดุนทางเหนือนิยมเคี่ยวชันด้วยเตาถ่าน ผสมกับดินเหนียว เพื่อเพิ่มความหนาแน่นของเนื้อชัน และเพิ่มความหนืดของชันด้วยน้ำมันหมูที่ผ่านการใช้งานแล้ว เนื่องจากต้องใช้เวลาในการเคี่ยวและการเตรียมชันค่อนข้างนาน เมื่อชันเหนียวได้ที่จะมีสีน้ำตาลเข้มเกือบดำ จึงนำไปเทใส่หรือติดแผ่นโลหะฯ เข้ากับชัน เพื่อสลักรูปหรือลวดลายในกระบวนการสลักดุนต่อไป โดยชันจะทำหน้าที่เป็นตัวรองแผ่นโลหะฯ ให้อยู่ตัวจนสามารถสลักแผ่นโลหะด้วยอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้เกิดมิติ หรือเส้นที่มีความคมชัดได้รูปทรงลวดลายที่ต้องการ โดยที่แผ่นโลหะฯ จะไม่ยุบบิดเบียวหรือเสียรูปทรง
  6. สลักเก็บรูปทรงชิ้นงาน โดยใช้สิ่วที่มีลักษณะหัวมน สลักบนลวดลายรูปทรงเพื่อแบ่งมิติชั้นตามรอยของรูปแบบ และความลึก- ตื้น ของจังหวะลาย
  7. ลูบลาย หรือ การเติมพื้นผิวบนชิ้นงาน การลูบลาย คือ การเก็บรายละเอียดพื้นผิวให้มีความเรียวหรือเกิดความเหลี่ยมคม ในลักษณะของลวดลาย และลักษณะของการทำพื้นผิวของรูปทรงต่างๆ เพื่อให้เกิดผิวสัมผัส
  8. เผาชันออก หรือ ออกชัน โดยใช้ความร้อนจากไฟเผาให้ชันละลายออกจากชิ้นงาน โดยชันที่เผาออกมาแล้ว สามารถนำมาต้มใหม่เพื่อใช้ในการสลักดุนชิ้นงานอื่น ๆ ต่อไป แล้วจึงนำไปทำความสะอาดและขัดทำความสะอาดคาบเขม่าชันออกให้หมด
  9. ทำสี การทำสีด้วยสีน้ำมันรวมน้ำมันสน ทำสีที่ผสมไว้ให้ทั่วและเช็ดออกด้วยผ้าชุบน้ำมันสนให้เกิดมิติสูงต่ำ หรือมิติแสงเงาเพิ่มขึ้น เมื่อสีแห้งดีแล้ว ให้ใช้น้ำยาล้างจาน ล้างทำความสะอาดอีกครั้ง ขัดด้วยฟอยขัดหม้อจะทำให้แผ่นอลูมิเนียมมีความเงางามมากขึ้น การทำสีบนชิ้นงานสลักดุนมีหลายวิธีได้แก่ การปิดทอง การปัดทอง การลงยาสี
ข้อมูลแหล่งที่มา