กริช หรือมีดสั้นในภาษามลายู มีส่วนประกอบที่สำคัญ 3 ส่วน คือ หัวกริช ใบกริช และฝักกริช โดยใบกริชมีการสร้างสรรค์ใน 2 รูปแบบคือ ใบกริชแบบตรง และใบกริชแบบคด ซึ่งจำนวน “คด” ของกริช จะบ่งบอกถึงศักดินาของผู้ครอบครองหรือเจ้าของกริช คือ
- กริชของสามัญชน มีจำนวนคดประมาณ 3 - 5 คด
- กริชของทหารหรือข้าราชบริพาล มีจำนวน 7 คด
- กริชของเจ้าเมืองเล็กและคหบดีชั้นสูง มีจำนวน 9 คด
การทำกริช ช่างตีกริชจะใช้โลหะมากกว่า 2 ชนิด นำมาหลอมแล้วตีขึ้นรูปเป็นใบกริช ส่วนการทำหัวกริชและฝักกริช นิยมใช้ไม้มงคลมาแกะสลักเป็นหัวกริช เช่น ไม้แก้ว รวมถึงการนำงาช้างหรือเขาสัตว์มาแกะสลักเพราะเป็นของหายาก
กริชมีความสำคัญเป็นอย่างมากในอดีต เพราะนอกจากใช้เป็นอาวุธแล้ว กริชยังถือเป็นเครื่องรางและเครื่องประดับที่แสดงถึงศักดินาของผู้ครอบครอง กริชจึงถือเป็นหนึ่งในตัวแทนของมรดกทางศิลปหัตถกรรมที่เป็นเอกลักษณ์และอยู่ในวิถีชีวิตของชาวไทยมุสลิม