กล่องใส่มีดลายรดน้ำลายหนุมาน

กลุ่มงานศิลปหัตถกรรม ประเภทงานหัตถศิลป์ไทย

กล่องใส่มีดขนาดเล็กลายรดน้ำ “ลายหนุมาน” เป็นเครื่องเขินที่ปรับประยุกต์สำหรับการจัดเก็บรักษาของมีคม ซึ่งมีดถือเป็นเครื่องมือชนิดแรกๆที่มนุษย์ประดิษฐ์ขึ้น เป็นเครื่องมือตัดเฉือนชนิดมีคม ขนาดเหมาะสมสำหรับจับถือด้วยมือเดียว นิยมใส่กล่องเพื่อความปลอดภัย โครงกล่องทำจากไม้มะม่วง วาดโดยใช้เทคนิคการเขียนหรดาลและลายรดน้ำ ตกแต่งลวดลายหนุมานในเรื่องรามเกียรติ์ของอินเดีย เนื่องจาก หนุมานมีความเป็นอมตะ และเพิ่มขอบลายกนก ที่เป็นลายไทยโบราณเพื่อความวิจิตรตระการตา ใช้เป็นกล่องใส่มีดพกพาขนาดเล็ก

ประเภทงานหัตถกรรม :
เครื่องรัก
ผู้สร้างสรรค์ :
ขนาด :
8x15 เซนติเมตร
วัสดุ :
ไม้มะม่วง ยางรัก
อายุ/ปีที่ผลิต :
2559
รายละเอียดชิ้นงาน

เทคนิคที่ใช้ : ลายรดน้ำ
กระบวนการสร้างสรรค์ชิ้นงาน (โดยละเอียด) :
การขึ้นโครงภาชนะ :  นำไม้มะม่วงมาทำเป็นชิ้นงานเพื่อสร้างลวดลาย
การเตรียมผิว :  ทารองพื้นวัสดุรองรับการเขียนลายฮายดอกให้เรียบด้วยรักน้ำเกลี้ยงให้เป็นมัน เงางาม การทารักน้ำเกลี้ยงจะต้องทาซ้ำๆ หลายครั้ง การทาแต่ละครั้งจะต้องบ่มด้วยความชื้น และป้องกันฝุ่นละอองไม่ให้ปลิวเข้ามาเกาะผิวหน้า
การสร้างลวดลาย : การเขียนลายรดน้ำ

  1. ล้างทำความสะอาดพื้นรักที่เตรียมไว้สำหรับการเขียนลายรดน้ำด้วยดินสอพองแช่น้ำให้ละลาย ใช้นิ้วมือถูวนไปให้ทั่วพื้นที่จนดินสอพองหลุดติดมือออกมาหมด
  2. นำแบบปรุที่เตรียมไว้วางทาบและใช้ลูกประคบฝุ่นดินสอพองลูบตามแบบ ระวังอย่าให้แบบเคลื่อน ยกแบบปรุออกจะได้แบบร่างที่จะเขียนต่อไป
  3. เขียนเส้นรอบนอกด้วยน้ำยาหรดาลตามแบบร่างที่ปรุไว้ให้มีขนาดเส้นโตกว่า แล้วเขียนรายละเอียดของลวดลายให้มีขนาดเส้นเล็กกว่า การกำหนดขนาดของเส้นเป็นทักษะความสามารถของช่างแต่ละคนที่จะใช้พู่กันขนาดเล็ก ขนยาวพิเศษ เขียนเส้นในมีขนาดแตกต่างกันได้หลายขนาด จะเพิ่มความวิจิตรของผลงานได้มากขึ้น
  4. เมื่อเขียนตัดเส้นใส่รายละเอียดครบถ้วนแล้ว ใช้พู่กันขนาดโตกว่า ระบายพื้นหลัง และช่องไฟระหว่างตัวลาย ในพื้นที่ส่วนที่ไม่ต้องการให้ทองคำเปลวติด
  5. เมื่อน้ำยาหรดาลแห้งสนิท นำไปลงยางรักเช็ด ถอนยางรักออกด้วยลูกประคบผ้านุ่ม ๆ ให้เหลือความเหนียวตามความเหมาะสม ขั้นตอนการถอนรักนี้จะต้องใช้ทักษะความชำนาญของช่าง สังเกตความเหมาะสมที่จะปิดทองคำเปลวได้พอดี
  6. ปิดทองคำเปลวโดยวิธีการปูทองคำเปลวให้เต็มพื้นที่ที่กำหนดปิดทองคำเปลวแต่ละครั้ง ใช้นิ้วมือกระทุ้งกวดทองคำเปลวให้ติดแน่นเป็นเนื้อเดียวกันทั่วทั้งชิ้นงาน ใช้ลูกประคบ สำลีกวดทองคำเปลวครั้งสุดท้ายให้ทั่ว ปล่อยทิ้งไว้ให้ยางรักแห้ง แล้วจึงรดน้ำเพื่อล้างน้ำยาหรดาลที่เขียนระบายไว้ออก
  7. วิธีการรดน้ำ ใช้กระดาษหุ้มทองคำเปลว เปิดแผ่ออกแล้วจุ่มน้ำวางเรียงบนชิ้นงานให้ทั่ว ขยับกระดาษเบา ๆ รวบกระดาษเข้าเป็นก้อนแล้วถูวน ๆ ไปจนทั่ว ให้น้ำยาหรดาลหลุดออกจนหมด
  8. ล้างทำความสะอาดให้คราบน้ำยาหรดาลหลุดออกจนหมด จะได้ผลงานลายรดน้ำที่งดงาม
ข้อมูลแหล่งที่มา