ชาวบ้านทุ่งโฮ้ง หรือชื่อเดิมคือ “บ้านทั่งโฮ้ง” เป็นชุมชนที่บรรพบุรุษอพยพชาวไทพวนย้ายถิ่นฐานมาจากเมืองพวน แขวงเมืองเชียงขวาง สปป.ลาว มากว่า 200 ปี มีภูมิปัญญาและวัฒนธรรมการทำ “ผ้าหม้อห้อม” หรือ “การย้อมผ้าหม้อนิล” เป็นการย้อมสีเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ได้จากต้นห้อมจนได้สีกรมท่า หรือสีคราม เป็นเอกลักษณ์ผ้าพื้นเมืองของดีที่เลื่องชื่อของจังหวัดแพร่ สืบทอดกระบวนการงานหัตถกรรมทำผ้าหม้อห้อมมากว่า 4 รุ่น โดยรุ่นที่ 4 คือ ครูประภาพรรณ ศรีตรีย หรือ “ป้าเหงี่ยม” ที่ยังคงกรรมวิธีการย้อมห้อมแบบดั้งเดิมไว้ และส่งต่อภูมิปัญญาให้รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป โดยการย้อมห้อมของที่นี่จะมีทั้งการย้อมเส้นใยฝ้ายแล้วนำมาขึ้นกี่ทอผ้าและการย้อมเสื้อผ้าที่แปรรูปแล้ว มีกระบวนการการทำ “ห้อมเปียก” ที่มีเอกลักษณ์สำหรับย้อมผ้าหรือเส้นใย ที่ให้สีครามเข้มหรือสีกรมท่าที่สดสวย โดยมีเทคนิคการตกแต่งผืนผ้าแพรพรรณ เป็นลวดลายต่าง ๆ ทั้งการมัดย้อม การเพ้นท์ และการทำผ้าบาติก สร้างสรรค์เป็นรูปแบบใหม่ เพื่อให้เกิดผลิตภัณฑ์ย้อมห้อมที่ทันสมัยสวยสะดุดตา
“คราม” นับเป็นสีธรรมชาติที่มีการย้อมผ้ากันมาอย่างยาวนานทั่วโลก โดยในแต่ละประเทศจะมีกรรมวิธีการสกัดสีจากต้นครามที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับชนิดของต้นครามและความเข้มข้นของการให้สี ในขณะที่ประเทศไทยและประเทศลาวนิยมสกัดสีจากต้นครามและต้นห้อมที่แม้ว่าภูมิปัญญาการย้อมครามจะมีมาอย่างยาวนาน แต่ช่วงเวลาหนึ่งภูมิปัญญาดังกล่าวได้เลือนหายไปจนกระทั่งเริ่มฟื้นฟูกลับมาอีกครั้งและเป็นที่นิยมมากขึ้น เนื่องจากสีครามจะย้อมบนผ้าฝ้ายได้ดีและสามารถตอบสนองต่อความต้องการของผู้ที่สนใจงานหัตถกรรมได้มากขึ้น