ผ้าบาติกเขียนทองสายสัมพันธ์สยาม-มลายูผืนนี้ เหมือนเป็นการรื้อฟื้นผ้าที่ใช้เทคนิคการเขียนทองแบบราชสำนักที่สูญหายไปแล้ว โดยนำเทคนิคการเขียนทองแบบเบญจรงค์ของไทยมาเขียนลงบนผ้าบาติก
ถอดแบบลวดลายมาจากวัดชลธาราสิงเห หรือวัดพิทักษ์แผ่นดินไทย ซึ่งเป็นลวดลายมาจากปีกครุฑและแสงสว่างความเจริญรุ่งเรืองดุจแสงอาทิตย์ ซึ่งถอดรหัสสีมาเป็น
สีแดง หมายถึง ความหลากหลายเชื้อชาติของมลายู
สีทอง หมายถึง ความเจริญรุ่งเรืองของสยาม
สีน้ำตาล หมายถึง แผ่นดินเดียวกัน
เทคนิคที่ใช้: เป็นการทำบาติกโดยใช้แม่พิมพ์ทองแดงพิมพ์มือผสมเขียน นำมาลงสีเขียนเทียนทับ 5 ครั้ง จากนั้นนำมาเขียนเส้นทอง โดยใช้เทคนิคการทำเบญจรงค์ มาเขียนทับลงบนลายเส้นบาติกอีกครั้ง
กรรมวิธีและขั้นตอนการทำงาน
1. ขั้นตอนการเตรียมผ้า : ในการทำผ้าบาติกสามารถเลือกใช้ได้ทั้งผ้าฝ้ายและผ้าไหม เมื่อเตรียมผ้าตามขนาดที่ต้องการแล้วนำไปซักด้วยผงซักฟอกหรือต้มด้วยน้ำโซดาอ่อน เพื่อให้แป้งที่เกาะผ้าอยู่หลุดออก จากนั้นนำไปตากแดดหรือผึ่งลมให้แห้ง และนำผ้ามาขึงบนแฟรมให้แน่น (ไม่ให้มีรอยย่น)
อุปกรณ์ : ผ้าฝ้าย ผ้าไหม ผงซักฟอก โซดาไฟ สบู่เทียม น้ำ หม้อต้ม
2. ขั้นตอนการพิมพ์ผ้า : ต้มเทียนให้ละลาย โดยน้ำเทียนที่ใช้กั้นผ้าเพื่อทำลวดลาย สูตรน้ำเทียนของดาหลาบาติกเป็นสูตรน้ำเทียนเฉพาะที่ส่งต่อจากบรรพบุรุษมามากกว่า 80 ปี ประกอบด้วย “ยางสน” เพื่อความคงทน และเพื่อให้น้ำเทียนเกาะติดผ้าเวลาแช่ผ้าในน้ำ “พาราฟิน” เนื้อเทียนหลักสำหรับกั้นลายผ้า และ “ขี้ผึ้ง” เพื่อให้น้ำเทียนมีความเหนียวและอยู่ตัว จากนั้นใช้แม่พิมพ์โลหะ (ทองแดงหรือทองเหลือง) จุ่มน้ำเทียนให้รอบกรอบแม่พิมพ์ สะบัดแม่พิมพ์อย่าให้น้ำเทียนชุ่มหรือเยอะเกินไป และนำแม่พิมพ์ที่จุ่มน้ำเทียนแล้วมาปั๊มหรือประทับลงบนผืนผ้าที่ขึงไว้ โดยการปั๊มแม่พิมพ์บนผืนผ้าแต่ละครั้งต้องให้ลายเสมอกันและต่อกันพอดีตลอดทั้งผืนผ้า
3. ขั้นตอนการลงสี : ก่อนการลงสีผ้าช่างต้องพิจารณาและเก็บรายละเอียดต่าง ๆ ก่อน เช่น รอยเทียนหยดส่วนเกิน รอยเทียนขาดหายตามลายพิมพ์ หากบนผ้ามีรอยเทียนหยดเกินต้องแก้ไขด้วยการนำน้ำอุ่นไปหยดและถูบริเวณนั้น หากบนผืนผ้ามีรอยพิมพ์ที่ขาดช่วงหรือมีรอยไม่ชัด ให้แก้ด้วยการใช้เทียนเหลวระบายซ่อมแซมรอย หลังจากนั้นใช้น้ำเปล่าระบายหมาดๆ ลงบนผืนผ้าเพื่อช่วยให้เนื้อสีที่ลงไปทีหลังสามารถกลิ้งไปมาได้และดูเนียนตา จากนั้นระบายสีที่ต้องการลงบนผ้าและรอให้สีแห้งสนิท แล้วนำไปตากให้แห้งทั้งหมด จากนั้นนำผ้าที่ตากแห่งสนิทแล้วมาจุ่มโซเดียมซิลิเกต (น้ำยาเคลือบสี มีคุณสมบัติใช้ทาเคลือบผ้าบาติกและมัดย้อม ทำให้สีติดผ้าคงทน ไม่หลุดออก) ให้ทั่วสีที่ลงบนผ้า แล้วพักไว้ประมาณ 3- 6 ชั่วโมง
อุปกรณ์ : โครงไม้สำหรับขึงผ้า น้ำอุ่น โซเดียมซิลิเกต เทียนเหลว พู่กัน สี
4. ขั้นตอนการลอกเทียน : หลังจากทิ้งผ้าไว้ 3- 6 ชั่วโมง หลังจุ่มโซเดียมซิลิเกต นำผ้ามาล้างด้วยน้ำเปล่า จากนั้นต้มน้ำและผงซักฟอกให้เดือด แช่ผ้าลงไปและใช้ไม้คนให้ทั่วเพื่อให้เทียนหลุดออกจากผ้า จากนั้นนำผ้าที่ผ่านการต้มแล้วมาจุ่มน้ำเย็นพร้อมใช้มือขยี้เพื่อให้แน่ใจว่าเทียนลอกออกจากผ้าจนหมด หากเทียนยังหลุดออกจากผ้าไม่หมดให้นำมาต้มและล้างด้วยน้ำเน็นอีกครั้ง จากนั้นนำผ้าไปตากให้แห้งและนำไปตัดเย็บขอบผ้าให้เรียบร้อย